‘ปธ.สภา’ ชี้ ยึดอำนาจ ทำลายศักดิ์ศรี ‘รัฐธรรมนูญ’ อำนาจ ปชช. ไม่มีอยู่จริง
“ประธานสภาฯ” ชี้ การฉีกรธน. สะท้อนการแย่งชิงอำนาจ-สลายอำนาจ-สืบทอดอำนาจ ระบุ การยึดอำนาจ ทำลายศักดิ์ศรี ละเมิดจริยธรรมต่อ กม.สูงสุดประเทศ ทำระบบรัฐสภา เสื่อมถอย เผย กม.มักเพิ่มอำนาจรัฐ มากกว่าอำนาจ ปชช. จนเกิดปัญหาตีความ-เหลื่อมล้ำ หวัง แก้รธน. ช่วยลดขัดแย้ง
ที่อาคารรัฐสภา เนื่องใน วันรัฐธรรมนูญ มีการจัดเสวนาวิชาการ วันฉลองรัฐธรรมนูญ ประจำปี 2566 โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ทุกวันที่ 10ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันที่ทางราชการกำหนด ให้เป็นวันที่ระลึกถึงวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 เป็นกฎหมายสูงสุด เป็นหลักการปกครองประเทศ เป็นฉบับถาวรเมื่อวันที่10ธ.ค.2475 เราจึงเรียกวันนี้ว่าวันรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่เพียงแต่ระลึกถึงการเปลี่ยนแปลงประวัติศาตร์การปกครองราชอาณาจักรสยามเท่านั้น แต่จุดประสงค์ยังเพื่อให้คนในชาติตระหนักถึงความเป็นเอกราชของรัฐ ภายใต้การปกครองอิสระที่มีกฎเกณฑ์ เคารพสิทธิหน้าที่ และเสรีภาพของบุคคล ความเป็นธรรมของมนุษยชาติ การใช้อำนาจในการดำเนินกิจการต่างๆ อย่างสมดุล เป็นเจตนารมย์หลักของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย
ประธานสภาฯ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงตั้งแต่พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบันประเทศเราไม่ได้มีรัฐธรรมนูญฉบับเดียว แต่ประเทศไทยมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ แล้วร่างขึ้นมาประกาศใช้ใหม่หลายครั้ง จนเรามีการพูดหยาบๆว่ามีการฉีกทิ้ง จนไม่อยากจะนับครั้ง สะท้อนถึงการแย่งชิงอำนาจ การสลายอำนาจ และการสืบทอดอำนาจ นัยยะสำคัญของการยกเลิกรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น จากการกระทำของการปฏิวัติรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองแล้วยกเลิกสภา และร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ใน นามคณะของตน เพื่อดำรงใช้อำนาจบริหารประเทศ
"เหตุการณ์ยกเลิกหรือฉีกรัฐธรรมนูญ ยึดอำนาจการปกครองบ่อยครั้ง ทำให้ศักดิ์ศรี ความเชื่อมั่น ความศรัทธาต่อรัฐธรรมนูญ และระบบรัฐสภาได้เสื่อมถอยลงอย่างน่าเสียดาย ศักดิ์และอำนาจ ของหัวหน้าคณะปฏิวัติรัฐประหาร บางครั้งสูงกว่ารัฐธรรมนูญ ผมจึงเขียนว่าวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม ยังเป็นวันที่เราต้องอะไรถึงการสูญเสียศักดิ์ศรี ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอีกด้วย" ประธานสภาฯ กล่าว
ประธานสภาฯ กล่าวอีกว่า มาตรา3 อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา บริหารทางคณะรัฐมนตรี ตุลาการทางศาล ทั้งนี้ กฎหมายที่ผ่านมามักเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐ มากกว่าพิทักษ์อำนาจของประชาชน จึงเชื่อว่านี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และปัญหาอื่นๆตามมา รวมถึงการตีความ ให้ความเห็นข้อกฎหมายเพื่อใช้ประกอบการอ้างอิง ก็ยังต้องใช้คณะกรรมการกฤษฎีกา ที่รัฐบาลตั้งขึ้น ไม่ใช้องค์กรของรัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายผลิตกฎหมายมาใช้ วันนี้จึงเป็นวันที่ควรรำลึกถึงความสำคัญของรัฐสภาอีกด้วย เพราะรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตย ย่อมคู่กับศักดิ์และเกียรติของรัฐสภาเสมอ สถานการณ์การเมืองรัฐสภาปัจจุบันก็ยังดำรงอยู่ประหนึ่งว่า เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล ต้องใช้งบประมาณตามที่รัฐบาลกำหนด รัฐสภาอยู่ในสภาพของส่วนราชการ มากกว่าองค์กรของ สมาชิก หรือของประชาชน
ประธานสภาฯ กล่าวว่า วันนี้น่าจะเป็นวันที่เราต้องช่วยกันคบคิด ถึงเวลาหรือยังที่จะทำให้รัฐสภาเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนชาวไทยอย่างมีศักดิ์ศรี มีภารกิจสร้างความสมดุลระหว่างองค์กรอำนาจ พิทักษ์รับรองสิทธิเสรีภาพบุคคล องค์กรทางการเมืองของประชน และดำรงความยุติธรรมภายใต้หลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถึงเวลาที่เราต้องแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างการบริหารของรัฐสภา และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้คุ้มครองความเสมอภาคแห่งสังคมพหุวัฒนธรรม โดยปราศจากความขัดแย้ง แบ่งแยก
"อีกกรณีที่ควรรำลึกถึงคือ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศบทบัญญัติหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ จะใช้บังคับไม่ได้ ใช้กำลังอำนาจ อาวุธปืนปฏิวัติรัฐประหาร กำหนดกฎเกณฑ์บังคับใช้กับประชาชน ใช้อำนาจตัดสินคดี โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมของศาล เป็นสิ่งที่ละเมิดวัฒนธรรม จริยธรรม ของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย แต่การกระทำเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งจนเคยชิน จนกลายเป็นวัฒนธรรมการปกครองของไทย โดยไม่มีความผิดใดๆ นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่ทำให้รัฐธรรมนูญไร้ศักดิ์ศรี อำนาจประชาชนทดถอย วัฒนธรรม แห่งระบอบประชาธิปไตยถูกละเลย รัฐธรรมนูญเป็นเพียงแค่กระดาษ เท่ากับว่าอำนาจประชาธิปไตยของประชาชนไม่ได้มีอยู่จริง หวังว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้น จะช่วยลดบรรยากาศของความขัดแย้ง ระหว่างรัฐกับประชาชน และประชาชนกับประชาชน"