“314 เสียง” เสียเหลี่ยมพรรคส้ม “เกมล่มสภา”
อย่าดูถูก "พรรคก้าวไกล" ในเกมสภา แม้เสียงน้อยกว่า แต่คมคิด "มีเหลี่ยม" สูงกว่าฝ่ายค้านยุคไหนๆ อย่างเหตุสภาล่ม สัปดาห์ที่ผ่านมา ชี้ชัดพวกเขาเป็นต่อ "314สส.รัฐบาล" หลายช่วงตัว
แม้ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ และ รมว.คลัง จะแสดงความมั่นอกมั่นใจต่อสถานการณ์การเมือง การันตีเสียงสนับสนุนในสภาฯ ที่มี “314 เสียง”
และพรรคร่วมรัฐบาลประคองการทำงานของรัฐบาล ในด้าน นิติบัญญัติ ให้ไปรอดฝั่ง
ทว่าปรากฎการณ์ “สภาล่ม” เมื่อ 13 ธ.ค.2566 ที่นับเป็นครั้งที่ 2 ของสภาสมัยปัจจุบัน ที่ทำงานยังไม่ถึงปี ชี้ให้เห็นว่า เกมสภาฯ ไม่ได้ง่าย อย่างที่ปากของ “คนนอกสภา” พูด
เมื่อมีการชิงจังหวะ สร้างความได้เปรียบ และดิสเครดิตฝั่งตรงข้าม เพื่อเพิ่มคะแนนทางการเมือง
จะเห็นได้ว่าในการประชุมสภาฯ เมื่อ 13 ธ.ค.นั้น ก่อนเกิดเหตุสภาล่ม ด้วยเหตุที่จำนวน สส.ที่มาลงมติในวาระรับหลักการร่างข้อบังคับการประชุมสภาฯ (ฉบับที่...) พ.ศ.... หรือ “สภาก้าวหน้า” ที่เสนอโดย “พริษฐ์ วัชรสินธุ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล มีเพียง 228 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของ สส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 499 คน คือ 250 คน
เกิดวาระที่ทำให้ “ฝ่ายค้าน”ผิดใจ จนยอม “เกียร์ว่าง” ไม่ลงมติสู้ ในเรื่องที่พรรคของตนเองเสนอ เพื่อหวังสร้าง “เกมสภาล่ม” ดิสเครดิตฝ่ายรัฐบาล
กรณีที่ 1 คือ สส.ฝั่งรัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการขอเลื่อนระเบียบวาระการประชุมร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... หรือ "สมรสเท่าเทียม" เสนอโดย “ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์" สส.ก้าวไกล ที่อยู่ในลำดับ 21 ขึ้นมาพิจารณาเป็นลำดับที่ 3
โดยอ้างเหตุผลว่า “ให้รอร่างกฎหมายรัฐบาลที่จะเสนอเข้าสู่สภาฯ เร็วๆ นี้” ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกฎหมายของรัฐบาลยึดถือเป็นหลักพิจารณา แทนร่างสมรสเท่าเทียมของ พรรคก้าวไกล
กรณีที่ 2 คือ การตั้งธง ตีตกร่างข้อบังคับ สภาฯ ก้าวหน้า ของ สส.รัฐบาล แม้ “ก้าวไกล” จะพยายามประนีประนอม เสนอญัตติให้เป็นข้อเสนอ โดยส่งให้กรรมาธิการ กิจการสภา ที่มี “ประเสริฐ บุญเรือง” สส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน พิจารณาก่อนรับหลักการ เพื่อหวังโน้มน้าว และเปลี่ยนใจ สส.ที่เห็นต่างในสภาฯ
ทว่า ด้วย “ธงนำของฝ่ายรัฐบาล” ที่ต้องการคว่ำ จึงใช้เสียงข้างมากตัดสิน แม้ฝั่งรัฐบาลจะเอาชนะในเกมนี้ไปได้
แต่ผลการลงมติที่ออกมาว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอ 223 เสียง และเห็นด้วย 153 เสียง ชี้ช่องให้ก้าวไกลเห็นว่ามีจังหวะ “เอาคืน” สส.รัฐบาล เพราะหากตัดเสียง สส.ก้าวไกลออกไป จะเท่ากับว่า “องค์ประชุมไม่ครบ” ผลที่เกิดขึ้นคือ ก้าวไกลตีแสกหน้ารัฐบาลได้แต้มทางการเมือง
ทำให้การลงมติในครั้งถัดมา จึงเป็นผลดังที่ “ก้าวไกล”คาด และเกิดกรณีสภาล่ม ที่คนพรรคเพื่อไทยเอ่ยปากยอมรับว่า “เพลี่ยงพล้ำ” ที่ไม่สามารถรักษาองค์ประชุมให้ตลอดรอดฝั่งได้
ก่อน “เกมล่มสภา” ของก้าวไกลจะเกิดขึ้น “กุนซือสีส้ม” ได้ขุดบ่อล่อเหยื่อไว้ในชั้นการแสดงตนเป็นองค์ประชุม ที่ สส.ก้าวไกล 92 คนยอมแสดงตนเพื่อให้ครบองค์ประชุม ก่อนที่จะตลบหลัง “ใส่เกียร์ว่าง” ในชั้นชี้ชะตา เพื่อทำให้ “ฝั่งรัฐบาล” เสียรังวัดทางการเมือง
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า “เกมการเมือง” ในสภาฯ ใช่ว่าจะสู้หรือวัดกันที่ “คะแนนฝ่ายไหน” มากกว่ากัน แต่มันคือจังหวะชิงไหวชิงพริบ ที่จะสร้างความได้เปรียบให้กับฝ่ายตัวเอง แม้ว่าจะเป็นเพียงวาระการประชุม ที่ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย
ปรากฎการณ์นี้ คือจุดชี้ให้เห็นว่า แม้รัฐบาลจะมีเสียงมากกว่า แต่ใช่ว่าจะเอาชนะฝ่ายค้านได้เสมอไป หากประมาทมีโอกาสพลาดและพ่ายเกมสภา ชนิดเสียเหลี่ยม เสียราคาได้ง่ายๆ.