'ศิริกัญญา' ผิดหวัง 'รัฐบาลเศรษฐา' จัดสรรงบซ้ำซ้อน ไม่ต่างยุค 'ประยุทธ์'
‘ศิริกัญญา’ ผิดหวัง ‘รัฐบาลเศรษฐา’ จัดสรรงบประมาณไม่ต่างจากยุค ‘ประยุทธ์’ พบยุทธศาสตร์ ซ้ำซ้อนแผนบูรณาการหลายส่วน ชี้ถ้าไม่ยอมเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน คงต้องเสียเวลาใช้หนี้อีกหลายปี
เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2566 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการจัดสรรงบประมาณภายใต้รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ว่า น่าผิดหวังมาก เพราะเรารอเวลานี้มา 9 ปี เพื่อให้มีผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง และคาดหวังว่าการจัดสรรงบประมาณ จะต้องเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การจัดงบประมาณแทบไม่แตกต่างจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเรื่องการจัดงบในแผนยุทธศาสตร์ มีบางแผนงานที่เพิ่มขึ้น แต่สุดท้ายก็ซ้ำซ้อนกับแผนบูรณาการ เช่น ยุทธศาสตร์เรื่องถนนและโลจิสติกส์ ก็ซ้ำซ้อนกับแผนบูรณาการถนนและโลจิสติกส์ ยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ ก็ซ้ำกับแผนบูรณาการบริหารจัดการน้ำ หากดูระดับโครงการ เราก็ตกใจมากว่ามีโครงการใหม่เพียง 200 กว่าโครงการ ซึ่งน้อยมาก และเม็ดเงินมีเพียง 13,000 ล้านบาท
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ดังนั้น จึงคาดหวังได้ค่อนข้างยากมาก ว่าจะเกิดสิ่งใหม่ๆ หรือการขับเคลื่อนนโยบายที่มาจากการหาเสียง ในช่วงปีงบประมาณนี้ โครงการที่ออกมาใหม่ และชัดเจนที่สุด คือเรื่องของกองทุนต่างๆ กองทุนจะได้งบประมาณเพิ่มขึ้นมากที่สุด ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ คือ กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยงบเพิ่มขึ้นมาประมาณ 15,000 ล้านบาท ซึ่งกองทุนนี้ เคยได้งบประมาณครั้งสุดท้ายในปี 2561 เป็นเงิน 10,000 ล้านบาท เรื่อยมาจนถึงปี 2567 มีการใช้งบประมาณเบิกจ่ายไปเพียง 18 ล้านบาทเท่านั้น
“จู่ๆ รัฐบาลก็บอกว่า อยากเพิ่มงบให้ตรงนี้ เพื่อใช้ในการดึงดูดนักลงทุน รวมไปถึงให้เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับสตาร์ทอัพ เราก็กังวลใจเหลือเกินว่า หากไม่มีการเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ปรับปรุงในเรื่องการขอสนับสนุนจากกองทุนนี้ งบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เวลาผ่านไป 6 ปี ใช้แค่ 18 ล้านบาทรัฐบาลให้เพิ่มอีก 15,000 ล้านบาท ก็คงต้องรออีกหลายปีกว่าจะใช้หมด” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า กองทุนถัดมาคือกองทุนเอสเอ็มอี ที่ได้งบประมาณเพิ่มไปถึง 5 พันล้านบาท ซึ่งตอนแรกเราก็ยินดี เพราะเอสเอ็มอีเป็นภาคส่วนเศรษฐกิจที่สำคัญ และต้องเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงนี้ แต่เมื่อดูรายละเอียดเราก็ผิดหวัง เพราะเป็นการให้ matching funds หมายความว่า เป็นการสนับสนุนเงินทุนให้รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท ไม่เกิน 600 ราย ซึ่งในความเป็นจริง เรามีวิธีการใช้เงินที่น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่านี้ เช่น การนำไปสนับสนุนให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ขนาดย่อม ในการรับประกันสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี ด้วยวงเงิน 5 พันล้านบาท จะสามารถสนับสนุนเอสเอ็มอีได้อีกหลายพันราย ไม่ใช่แค่ 600 รายอย่างแน่นอน
และงบที่นำมาสนับสนุนตรงนี้ ก็ซ้ำซ้อนกับกองทุนเพิ่มขีดฯ, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ ก็มีโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพเช่นนี้ กลายเป็นงบประมาณที่ซ้ำซ้อน ทั้งๆ ที่เอสเอ็มอีควรได้รับการสนับสนุนส่งเสริมมากกว่านี้ หรือนำไปเป็นเงินอุดหนุนสำหรับการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตในด้านต่างๆ มากขึ้น เป็น 2 กองทุนที่มีงบเพิ่มมาถึง 2 หมื่นล้านบาท แต่ยังคงจัดงบได้อย่างน่าผิดหวัง ซึ่งงบ 2 หมื่นล้านบาทนี้ ก็นำเงินมาจากการลดการชำระหนี้ ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.)
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า รัฐบาลบริหารมา 3 เดือน ใช้เงินจาก ธ.ก.ส. ไปเยอะมากผ่านนโยบายกึ่งการคลัง แต่พอจะใช้หนี้ กลับใช้หนี้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ปัจจุบันวงเงินของการกู้ตามมาตรา 28 ก็เต็มแล้ว อยู่ที่ 31.99 เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่ใช้ไปก่อน แต่รัฐบาลก็ยังตั้งงบใช้หนี้คืนเพียงแค่ 6 หมื่นล้านบาท หากปีหน้ามีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินจาก ธ.ก.ส. ในด้านนโยบายเกี่ยวกับการเกษตร ก็จะเป็นไปได้ยาก