วิบาก ‘ก้าวไกล’ จัดแถวใหม่ ปี 67 รบหนัก 'อนุรักษนิยม'
เพราะในปี 2567 มีสถานการณ์ทางการเมืองใหญ่เกิดขึ้นอย่างน้อย 2 กรณีได้แก่ 1.สว.จะหมดสิทธิโหวตนายกฯช่วงกลางปี 2567 และ 2. “ทักษิณ” อาจเข้าสู่ขั้นตอนเตรียม “พักโทษ” หรือ “พ้นโทษ” นั่นจึงอาจทำให้สมการทางการเมืองเปลี่ยนสูตรจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งก็เป็นไปได้
เข้าสู่ศักราชใหม่ “ปีมะโรง” หรือ “งูใหญ่” แต่สถานการณ์การเมืองยังคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่องข้ามปี
โฟกัสที่ “ฝ่ายค้าน” ที่แทบจะถูกโดดเดี่ยวจากทั้งสภาฯ อย่าง “ก้าวไกล” ยังคงขะมักเขม้นลุยงานใหญ่ในช่วงไตรมาส 1/2567 ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ของ “รัฐบาลเศรษฐา” ที่เปิดฉากขึ้นแล้ว ขณะที่โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตก็ยังเดินหน้าตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงคำถามประชามติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย
ขณะเดียวกัน สถานการณ์ภายใน “ก้าวไกล” ยังคงถูกเขย่าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงเดือน ม.ค. 2567 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตัดวินิจฉัย 2 คดีสำคัญ ได้แก่
1.คดีกล่าวหา “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล กรณีถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เข้าข่ายเป็นการถือครอง “หุ้นสื่อ” เข้าข่ายขัดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ต้องพ้นเก้าอี้ สส.หรือไม่
2.คดีกล่าวหา “พิธา” พ่วง “พรรคก้าวไกล” กรณีออกนโยบายหาเสียงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่
โดย “คดีหุ้นสื่อ” ศาลรัฐธรรมนูญ นัดวินิจฉัยวันที่ 24 ม.ค. 2567 ส่วนคดีล้มล้างการปกครอง นัดวินิจฉัย 31 ม.ค. 2567
2 ปมร้อนดังกล่าว แม้ “บิ๊กเนมพรรคส้ม”จะเอ่ยปากผ่านสื่อ “มั่นใจ”ว่ารอดพ้นบ่วงแน่นอน แต่ว่ากันว่า“ทีมงานหลังบ้าน”มีการรีเช็คสถานการณ์แทบจะรายวัน พร้อมกับเตรียมแผนการณ์ หากเกิด“อุบัติเหตุทางการเมือง”ซ้ำรอย“พรรคอนาคตใหม่”
สำหรับ “คดีหุ้นสื่อ” แม้สุดท้ายหวยออกไปที่ “พิธา” เข้าข่ายขัดคุณสมบัติต้องพ้น สส.จริง แต่อาจไม่กระทบกับพรรคมากนัก แต่คดีอย่างล้มล้างการปกครอง ที่อาจนำไปสู่การ “ยุบพรรค” เป็นเรื่องน่ากังวลมากกว่า
แม้ว่าใน “คำร้อง” ต่อศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่มีการระบุขอให้ “ยุบพรรค” ก้าวไกล เพียงแค่ขอให้ “ยุติการกระทำ” ก็ตาม แต่ผลที่จะตามมาคือเปิดช่องให้ “กกต.” สามารถไต่สวนเพิ่มเติม และส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยุบพรรคได้นั่นเอง
เผือกร้อนนี้จึงทำให้คาดการณ์ว่าในช่วง เม.ย.2567 ที่พรรคก้าวไกลนัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค ชุดใหม่เพื่อผลักดัน “แกนนำแถว 2-3” ให้ขึ้นมาช่วยนำพรรคต่อ
โดยเฉพาะตำแหน่ง “หัวหน้าพรรค” คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เนื่องจาก “ชัยธวัช” เคยเอ่ยปากหลายครั้งว่า “ไม่ถนัด” แต่ชอบงาน “หลังบ้าน” มากกว่า
ส่วนตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ หาก “พิธา” รอดพ้นเงื้อมมือศาลรัฐธรรมนูญได้ ก็อาจคัมแบ็กกลับมาเป็นอีกครั้ง แต่ถ้าไม่รอด อาจดัน “ศิริกัญญา ตันสกุล” ขึ้นมาขัดตาทัพแทน
ปัจจุบันปฏิเสธได้ยากว่า “พรรคส้ม” กำลังกระแสตก อย่างน้อยที่สุดก็ต่ำกว่าตอนก่อนเลือกตั้ง 2566 แบบเห็นได้ชัด สาเหตุหลัก ๆ มาจาก “จุดด่างพร้อย” ภายในพรรค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกล่าวหา “คุกคามทางเพศ” และสารพัดคดีต่าง ๆ ที่ติดตัว สส. เช่น คดีเกี่ยวกับมาตรา 112 ที่มี สส.ในพรรคถูกกล่าวหาคาราคาซังในชั้นศาลถึง 3 คน (ไอซ์ รักชนก โตโต้ ปิยรัฐ ลูกเกด ชลธิชา)
ขณะเดียวกันทีมงานหลังบ้านระดับ “กุนซือ” ก็ “แตกแยกทางความคิด” อย่างรุนแรง เห็นได้จาก “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า ออกมาวิจารณ์ “ก้าวไกล” ปาว ๆ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 แม้จะเคยบอกขอยุติการวิจารณ์ก้าวไกลแล้วก็ตาม แต่ก็ทนไม่ไหว หวนกลับมาวิจารณ์อีกรอบ
ส่วน “กลุ่มเพื่อนเอก” ที่กระชับอำนาจเมื่อปลายปีที่แล้ว จะพยายามประคับประคองสถานการณ์ โดยลดบทบาท “คณะก้าวหน้า” ชู “ก้าวไกล” เป็นแกนหลัก ส่งทีมงานไป “ปักธงความคิด” สร้าง “ฐานเสียงเยาวชน” ขณะเดียวกัน เตรียมสรรหาคนส่งลง “เลือกตั้งท้องถิ่น”ก็ตาม แต่กระแสก็ยังไม่ดีเท่าเดิม
นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไม “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ศาสดาสีส้ม ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการชื่อดังในลักษณะ “ทวงสัญญา” โดยยอมรับว่าเคยพบปะพูดคุยกับ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ จริง ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ท่ามกลางกระแสข่าวฟอร์มทีม “จัดตั้งรัฐบาล” ณ เวลานั้น
เพราะในปี 2567 มีสถานการณ์ทางการเมืองใหญ่เกิดขึ้นอย่างน้อย 2 กรณีได้แก่ 1.สว.จะหมดสิทธิโหวตนายกฯช่วงกลางปี 2567 และ 2. “ทักษิณ” อาจเข้าสู่ขั้นตอนเตรียม “พักโทษ” หรือ “พ้นโทษ” นั่นจึงอาจทำให้สมการทางการเมืองเปลี่ยนสูตรจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งก็เป็นไปได้
แต่ข้อมูลเหล่านี้ก็อยู่ภายใต้การจับตาของ “ฝ่ายอนุรักษนิยม” เช่นกัน ดังนั้นการกำจัดเสี้ยนหนามแรกอย่าง “ก้าวไกล” จึงอาจเกิดขึ้นอีกครั้ง
“ปีงูใหญ่” จึงอาจเป็นอีกปีที่ยากลำบากสำหรับ “พรรคส้ม” จะฟันฝ่าก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ไปได้หรือไม่