'ก.ก.' พร้อมจับมือ 'พท.' ดันร่างแก้ไขรธน.ม.256 ก่อนทำประชามติ
"โฆษกก้าวไกล" พร้อมช่วย "เพื่อไทย" ดันแก้รธน.256 - ตั้ง ส.ส.ร. ให้สำเร็จในรัฐสภา ก่อนทำประชามติ ย้ำเห็นตรงกัน ทำประชามติแค่2ครั้ง
ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคก้าวไกลเห็นด้วย และพร้อมกับให้ความร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย หลังจากที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นำสส.พรรคเพื่อไทย ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภา ที่ต้องการให้เกิดการตีความการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ และพรรคก้าวไกลมองว่าการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญนั้น ควรทำ 2 ครั้ง ซึ่งเร่ิมต้นจากการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ส่วนกรณีที่มีประเด็นถกเถียงว่าควรทำประชามติครั้งแรก เพื่อแก้ปัญหาการเมือง เพราะสว.ไม่เห็นด้วย เนื่องจากพิจารณาตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ขณะนี้พบว่ามีการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่แตกต่างกัน
"พรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย ยังยืนยันในหลักการ ว่าการทำประชามติ 2 ครั้งเพียงพอแล้ว และหวังให้รัฐสภาหาทางออกกันเอง แต่ยังมีช่องให้คนที่เห็นแย้งยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้" นายพริษฐ์กล่าว
นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่าสำหรับประเด็นเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น พรรคก้าวไกลเตรียมเสนอเนื้อหาประกบ เบื้องต้นมีรายละเอียดที่ตรงกัน คือ มาจากการเลือกตั้ง 100% แต่สิ่งที่เห็นต่างคือ ระบบเลือกตั้ง ความเชื่อมโยงระหว่าง ส.ส.ร. กับรัฐสภา และอำนาจของ ส.ส.ร. ในการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งจะใช้กลไกของรัฐสภา ในการหาข้อยุติความเห็นต่างดังกล่าว
นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนการเสนอร่างแก้ไขมาตรา 256 ไปพร้อมกับการเสนอตั้ง ส.ส.ร. นั้น พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลยืนยันตรงกัน ว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม ดังนั้นพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ต้องจับมือกันให้แน่น เพื่อพยายามช่วยโน้มน้าวให้ สว. รวมถึง สส. จากบางพรรคที่ร่วมรัฐบาล ให้เห็นชอบ และพร้อมยกมือสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 256 และ ส.ส.ร. โดยไม่ต้องทำประชามติก่อน
นายพริษฐ์ กล่าวถึงการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ว่าา ยังดำเนินการอยู่ ทั้งนี้มีประเด็นที่เป็นห่วงกว่า คือแนวทางคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2560 ที่ตั้งคำถามการทำประชามติครั้งแรก ที่สอดไส้เงื่อนไขหมวด 1 และหมวด 2 อาจส่งผลให้การลงคะแนนของประชาชนไม่เป็นเอกภาพ และโอกาสที่การทำประชามติครั้งแรกผ่านลดน้อยลง.