'วิลาศ'ยื่นสอบสภาไม่ตรงปกสุ่มตรวจพื้นทางเดินลักไก่ผสมสตีล ไฟเบอร์ ไม่ครบ
'วิลาศ'ลุยยื่นสอบปมรัฐสภาไม่ตรงสัญญาสร้าง สุ่มตรวจพื้นทางเดิน จับลักไก่ผสมสตีล ไฟเบอร์ ไม่ครบ บางจุดไม่มี พ่วงสอบกลุ่มบริษัทคุมงาน-ที่ปรึกษา ชง กก.สอบรับงานงวดสุดท้าย 4 ก.ย. 66 ทั้งที่เพิ่งเทพื้นคอนกรีตใหม่เสร็จ 9 ก.ย. 66
นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ยื่นเรื่องต่อเลขาธิการสภา เพื่อขอให้ตรวจสอบปริมาณสตีล ไฟเบอร์ (Steel Fiber) ที่ผสมในคอนกรีตบริเวณอื่นนอกจากบริเวณทางเท้าถนนทหารที่ตรวจไม่พบสตีล ไฟเบอร์ ตามที่ระบุในสัญญาการสร้างงาน
โดย นายวิลาศ กล่าวว่า การก่อสร้างเดินเท้ารอบสภา ตามแบบต้องมีเหล็ก 2 ชั้น แต่มีการขอแก้ไขแบบโดยลดเหลือเหล็กชั้นเดียว และมาใช้สตีล ไฟเบอร์แทน โดยระบุต้องใช้จำนวน 25 กิโลกรัม (กก.) ต่อปูน 1 ลบ.ม. แทน แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นตามขอบบ่อปลูกต้นไม้รอบอาคารรัฐสภา พบสตีล ไฟเบอร์ผสมอยู่น้อยมาก บางบ่อไม่พบเลย
"ผมจึงทำหนังสือถึงอดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ทำการตรวจสอบด้วยวิธีการสุ่มเจาะ (Coring) ต่อมาทราบว่าบริษัทผู้ควบคุมงาน (ATTA) ได้ทำการ Coring ตามข้อร้องเรียนเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 พบว่า บางจุดไม่มีสตีล ไฟเบอร์ผสมอยู่เลย จึงทำการทุบทางเดินเท้าคอนกรีตเดิมบริเวณถนนทหารแล้วทำใหม่ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566"
อย่างไรก็ตามจากรายงานของบริษัทผู้ควบคุมงาน กลับไม่พูดถึงบริเวณที่พบ แต่มีสตีลไฟเบอร์จำนวนไม่ถึง 25 กก.ต่อปูน 1 ลบ.ม. นอกจากนี้ การแก้แบบโดยใช้สตีลไฟเบอร์ ก็ไม่ได้ทำเฉพาะทางเดินเท้าเท่านั้น โดยเฉพาะทางเดินเข้าอาคารรัฐสภา ทั้งด้านถนนสามเสนและถนนทหาร
รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ที่มีการแก้แบบให้ใช้สตีล ไฟเบอร์ แต่ยังไม่มีการตรวจสอบ แม้ขณะนี้มีการชี้แจงทั้งผู้รับจ้างและบริษัทผู้ควบคุมงานก่อสร้างถึงสาเหตุที่การกระจายตัวของสตีล ไฟเบอร์ ไม่สม่ำเสมอแล้ว คือ 1. สตีลไฟเบอร์ชนิดที่ใช้มี 4 หยัก จึงทำให้การกระจายตัวไม่ดี ผมถามว่า แล้วใช้ชนิดนี้ทำไม 2. ถ้ามีการกระจายตัวไม่ทั่ว ทำให้ความคงทนของคอนกรีตบริเวณดังกล่าวจะต่ำกว่ามาตรฐาน ทำให้พื้นทางเดินเท้าแตกร้าวง่ายใช่หรือไม่ ส่งผลเสียหายต่อรัฐสภาในอนาคตใช่หรือไม่
3. จากการตรวจดูด้วยตา ไม่พบรอยหยักตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด เรียกร้องต่อเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขอให้ตรวจสอบการก่อสร้างทุกจุดที่ใช้สตีล ไฟเบอร์ โดยวิธีการสุ่มเจาะ ถ้าตรวจไม่พบหรือพบ แต่ไม่ครบตามแบบ ก็ต้องสั่งรื้อและให้ทำใหม่ก่อนที่จะตรวจรับงานต่อไป อีกทั้งขอให้พิจารณาการกระทำของบริษัทควบคุมงานก่อสร้างว่าทำงานถูกต้องสมบูรณ์หรือไม่ด้วย” นายวิลาศ กล่าว
นอกจากนี้ ตนยังยื่นเรื่องถึงเลขาธิการสภา ขอให้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของกลุ่มบริษัทผู้ควบคุมงาน (ATTA) และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ (CAMA) หลังจากมีมติในการประชุมคณะกรรมการตรวจการจ้าง (คตจ.) ครั้งที่ 52/2566 วันที่ 18 กันยายน 2566 ระเบียบวาระที่ 4.1 กรณีที่ 1) ประชุมเห็นควรให้ดำเนินการตรวจรับงานงวดสุดท้ายตามความเห็นของ CAMA และ ATTA
ทั้งนี้มีกรรมการท่านหนึ่งมีความเห็นว่า งานผู้รับจ้างยังไม่ครบ 100% ซึ่งยังไม่สามารถตรวจรับงานได้ 2) ที่ประชุมเห็นควรลงพื้นที่ตรวจสอบงานก่อสร้างในส่วนที่เหลือที่ยังไม่ลงพื้นที่ตรวจสอบงานให้ครบถ้วนในทุกพื้นที่ตามสัญญาว่างานเสร็จสมบูรณ์ตามข้อสัญญาหรือไม่ เพื่อประกอบการพิจารณาว่าจะรับงานหรือไม่ อย่างไร แต่ทั้งATTAและ CAMA ได้ยืนยันว่า ผู้รับจ้างได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบเอกสารครบถ้วนตามระบุในสัญญา
โดยทั้ง ATTA และ CAMA ได้มีข้อเสนอให้คณะกรรมการตรวจการจ้างพิจารณาและดำเนินการตรวจรับงานงวดสุดท้ายตามหนังสือส่งมอบงานของผู้รับจ้างลงวันที่ 4 กันยายน 2566 ว่า หนังสือของผู้รับจ้างส่งมอบงานเสร็จสมบูรณ์ 100% ทั้งที่งานเทพื้นคอนกรีตใหม่เพิ่งเสร็จในวันที่ 9 กันยายน 2566
อีกทั้งผนังกระจกชั้น8 และชั้น 9 ก็ยังไม่แล้วเสร็จ แสดงว่า งานยังไม่เสร็จ 100% ใช่หรือไม่ จึงขอให้ตรวจสอบเพื่อพิจารณาโทษ ATTA และ CAMA ว่า มีพฤติกรรมเป็นการเอื้อประโยชน์ผู้หนึ่งผู้ใด ทำให้รัฐเสียหายหรือไม่ รวมทั้งปฏิบัติหน้าที่ตามข้อสัญญาหรือไม่ด้วย