สตง.เปิดสำนักตรวจสอบ 'เมกะโปรเจกต์' เริ่ม 1 เม.ย.ประเดิมคุ้ยแจกเงินดิจิทัล
สตง.จ่อเปิดสำนักตรวจสอบ 'เมกะโปรเจกต์' ลุยคุ้ยโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ คิกออฟ 1 เม.ย.นี้ คาดประเดิมสอบปมแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตด้วย
เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2567 นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.เป็นต้นไป สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะมีการเปิดสำนักขึ้นมาใหม่เรียกว่า ”สำนักตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่” ตามประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) เรื่องการแบ่งส่วนราชการภายใน สตง.ที่มีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่จะให้มีผล 1 เม.ย. 2567
นายประจักษ์ กล่าวว่า สาเหตุที่มีการจัดตั้งสำนักตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าวที่เป็นสำนักที่จัดตั้งใหม่เพราะที่ผ่านมา สตง. มีบทบาทในการตรวจสอบรายงานการเงินค่อนข้างมาก ซึ่งโครงการใหญ่ๆ การจะไปติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาเราอาจจะยังไม่ได้ไปให้ความสำคัญเต็มที่ สตง. ก็มองว่าด้วยบทบาทของ สตง. ที่มีภารกิจสำคัญในการตรวจสอบ 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ การตรวจสอบการเงิน การตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพของการดำเนินงาน และการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ของสตง.ที่รับผิดชอบในการติดตามดูแลตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ การติดตามตรวจสอบแค่ปีเดียวมันไม่เสร็จ เพราะการทำโครงการขนาดใหญ่ก็ใช้เวลาบางที 4 – 5 ปี กว่าจะเสร็จ สตง. ต้องตามเหมือนกัน ทางสตง. ก็มีการเสนอต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ให้มีการจัดตั้ง “สำนักงานตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่” แยกออกมาเป็นอีกหนึ่งสำคัญต่างหาก จนมีการเห็นชอบดังกล่าว
“ทำให้หลังจากนี้โครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ เช่นรถไฟฟ้าสายสีส้มที่มีปัญหา ที่ผ่านมา สตง. ยังไม่มีคนเข้าไปจับโดยตรงว่าโครงการเป็นอย่างไร ข้อกฎหมายเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่ ทางสำนักงานตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ของ สตง. ก็จะเข้าไปติดตามตรวจสอบ หรืออย่างโครงการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต หากรัฐบาลเริ่มดำเนินการ ก็ถือว่าเข้าข่ายเช่นกัน โดยเมื่อมีการเริ่มทำงานแล้ว สำนักตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ก็ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ ไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับงานด้านอื่น” นายประจักษ์ กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ของ สตง. ดังกล่าว ตามประกาศของ คตง. ระบุถึงอำนาจหน้าที่ของสำนักตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ไว้ว่า ให้มีหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าเกินหนึ่งพันล้านบาท และโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชนในรูปแบบ การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public. Private Partnership หรือ PPP)
โดยหลังมีการเปิดสำนักดังกล่าวในเดือน เม.ย. เจ้าหน้าที่สามารถเข้าติดตามตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างหรือการทำโครงการขนาดใหญ่ของกระทรวงต่าง ๆ ที่สื่อนำเสนอได้เช่น การจัดซื้อเรือดำน้ำของกระทรวงกลาโหม หรือข่าวที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เตรียมจัดซื้อเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง 787 ฝูงใหม่ จำนวน 47 ลำ เป็นต้น