เช็กฟอร์ม เวที‘ซักฟอก’ ‘ฝ่ายค้าน’ ขอทอดไมตรี
เวทีสภาฯ วาระตรวจสอบรัฐบาล "อภิปรายทั่วไป แบบไม่ลงมติ" ฟอร์มของ "ฝ่ายค้าน" ดูเหมือน "ชกไม่เต็มหมัด" คล้ายกับต้องการทอดไมตรี ท่ามกลางกระแสที่ต้องการร่วมวงอำนาจ-เสียงหนุนในสภา
Key Point:
- อภิปรายทั่วไป แบบไม่ลงมติของ "ก้าวไกล-ประชาธิปัตย์" เป็นครั้งแรกของการเปิดเวทีใหญ่ เพื่อตรวจสอบรัฐบาล-เพื่อไทย
- เวทีนี้ถูกคาดหวังจากประชาชน ว่าจะ ชก-ชน รัฐบาล-เพื่อไทย ที่มีข้อครหาว่าเอื้อให้ "คนบางกลุ่ม-บางคน"
- ทว่าน้ำหนักเนื้อหาของการอภิปราย และข้อมูล วันแรกไม่ได้เจาะลึก และบางจังหวะเปิดช่องให้ "รัฐบาล" ขายผลงานตัวเอง
- ท่าทีของ "ฝ่ายค้าน" ชกไม่เต็มหมัด และมีท่าที ประนอมยอมกัน คือ การทอดไมตรี ท่ามกลางกระแส "ประชาธิปัตย์" ขอเข้าร่วมรัฐบาล ขณะที่ "ก้าวไกล" ยังหวังเสียงหนุนในสภาฯ เพื่อผลักดันวาระกฎหมายก้าวหน้า
การประชุมสภาฯ ปีแรกของชุดที่ 26 ถูกส่งท้ายด้วยการอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติ ตามไทม์ไลน์ที่เซ็ตไว้ คือ 3-4 เม.ย.
“กลุ่มพรรคร่วมฝ่ายค้าน” นำโดย “พรรคก้าวไกล-ชัยธวัช ตุลาธน” กับ “พรรคประชาธิปัตย์-จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์” ผสานมือเปิดข้อมูลซัด “รัฐบาล” เศรษฐา ทวีสิน ว่าเป็น “รัฐบาลเพื่อใคร หัวใจไม่ใช่ประชาชน”
ฉากแรกของการเปิดเวทีซักฟอก โดย “ชัยธวัช” ฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ชี้ภาพรวมของ 7 เดือนของ “รัฐบาลเพื่อไทย” ว่า เป็นการทำงานที่มีวาระ “เอื้อนายทุน” มากกว่า “ช่วยประชาชน” ให้ลืมตาอ้าปากได้อย่างเสมอภาคเท่าเทียม
รวมถึงทำลายความเสมอภาคเท่าเทียมทางกฎหมาย การเมือง ผ่านการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม และรัฐบาลกำลังสร้าง “ประชาธิปไตยแบบไหลย้อนกลับ” พยายามทำลายสิ่งใหม่ เพื่อรักษาสิ่งเก่า
ชัยธวัช ขมวดปมท้ายเสนอญัตติอีกว่า “หากปล่อยปละละเลยให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินอย่างไร้ประสิทธิภาพ ไร้ความสามารถ ไร้เป้าหมาย ไร้จริยธรรม และไร้วุฒิภาวะต่อไป จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นฟูสภาวะทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ตามที่ประชาชนคาดหวังจากการเลือกตั้ง”
แน่นอนว่า ความตามที่ “ฝ่ายค้าน” ต้องการสื่อให้เห็นถึงคือ “รัฐบาล” นี้ไม่ใช่ตัวจริง ต่อการเป็นนักบริหาร-แก้ปัญหา “มืออาชีพ” สมอย่างที่เคยอ้างไว้ว่า มีประสบการณ์มาก่อน
ต่อด้วย การคืนเวทีของ “จุรินทร์” ที่ลุกยืนแสดงบทบาท ฝ่ายค้านมากประสบการณ์ ที่กรีดมีดลงกลางใจ “เศรษฐา” ว่า เป็น “รัฐบาลหุ่น” จากภาพนายกฯ ซ้อนภาพ “อดีตนายกฯ” และ เป็นรัฐบาลที่ใช้อำนาจเพื่อต่างตอบแทน ในกรณีของ “นักโทษพันธุ์ใหม่-ติดคุกทิพย์”
รวมถึง บทบาท “เซลส์แมน” ของ เศรษฐา ที่ “จุรินทร์” ปรามาสว่า ปิดการขายไม่ได้ เพราะนักลงทุนต่างชาติยังไม่มั่นใจในเสถียรภาพของเศรษฐกิจในประเทศ พร้อมเทียบการเดินสายของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ ไปต่างประเทศว่า เป็นเหมือนแมลงวัน ที่ตอมทั้งวันไม่ได้อะไร
“ประชาชนต้องการของจริง ต้องการเห็นนายกฯ บินเหมือนเหยี่ยวมากกว่าแมลงวันที่บินทั้งวัน แต่ไม่ได้อะไร นอกจากสร้างภาพ และ 7 เดือนของรัฐบาลที่ผ่านมามีปัญหาทุกมิติ ทั้งการเมือง สังคม เศรษฐกิจและการบริหาร” จุรินทร์อภิปราย พร้อมสะท้อนว่า รัฐบาลนี้ หิ้วระเบิดเวลาไว้ในมือ คือ “ออกกฎหมายนิรโทษกรรม” หากให้สิทธิยกเลิกโทษ-ความผิดของ “คดีทุจริตหรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157”
ทว่า ในบทอภิปรายของ “ฝ่ายค้าน” แต่ละคน สะท้อนภาพ “มวย” ที่ “ชกไม่เต็มหมัด” แม้จะมีวาทะเฉือนใจ แต่ “รัฐบาล” รู้สึกแค่เจ็บๆ คันๆ เท่านั้น
นอกจากการชกไม่เต็มหมัดแล้ว ยังเปิดช่องให้ “รัฐบาล” โต้ตอบ และใช้โอกาสขายผลงาน
เท่ากับ “ดิสเครดิต” ฝ่ายค้านกลับ และยืนกรานในนโยบาย-โครงการของรัฐบาล ว่า “ทำมาได้อย่างดี ถูกต้อง และพร้อมจะทำต่อไป”
ทั้งที่บางประเด็น ถูกครหาและเปิดประเด็นที่ส่อว่าจะไม่สุจริต-ไม่โปร่งใส มาแล้วจากวงอภิปรายของ “วุฒิสภา” ทั้งการแจกที่ดิน สปก.4-01 ใช้กลไกยุติธรรม-กฎหมาย เพื่อเอื้อประโยชน์ และต่างตอบแทนให้บางบุคคล-บางกลุ่ม นโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต
แต่ “ฝ่ายค้าน” เลือกที่จะไม่ขยี้ หรืออภิปรายให้ประชาชนเห็นผลงานสิ่งที่ “รัฐบาล” และ “รัฐมนตรี” ที่รับผิดชอบนั้น บริหารราชการแผ่นดินไร้ประสิทธิภาพ ไร้ความสามารถ ไร้เป้าหมาย ไร้จริยธรรม และไร้วุฒิภาวะ อย่างไร ในแง่มุมไหนบ้าง
ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า อภิปรายเช่นนี้ คือการทอดไมตรีต่อกัน เพื่อหวังผลในทางการเมือง หลังจากที่มีข่าว “ประชาธิปัตย์” เตรียมเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อไทยหรือไม่
ขณะที่ “ก้าวไกล” เอง ต้องการเสียงสนับสนุนของฝ่ายรัฐบาล ต่อการผลักดันวาระกฎหมายก้าวหน้า จึงไม่กล้าหักหาญ “ฝ่ายรัฐบาล” มากนัก
ดังนั้นภาพของ “การประนอม ยอมให้กันคนละที” จึงเป็นเงาสะท้อน ของการอภิปรายทั่วไปในรอบนี้ และอาจเป็นภาพทำงานของสภาฯ ใน 3 ปีต่อจากนี้เช่นกัน.