ปลุกกระแสโละ ‘องค์กรอิสระ’ เกม ‘ก้าวหน้า’ ตัดแขนขา ‘อนุรักษนิยม’

ปลุกกระแสโละ ‘องค์กรอิสระ’ เกม ‘ก้าวหน้า’ ตัดแขนขา ‘อนุรักษนิยม’

จึงไม่แปลกในยุค “ด้อมส้ม” ครองเมือง มีความพยายามผลักดันจากพรรคก้าวไกล เพื่อต้องการปฏิรูปองค์กรอิสระ ผ่านกลไกการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อหวังให้เกิดความ “เป็นกลาง” เกิดขึ้น แต่ยังมิได้ถูกตอบรับอย่างเต็มที่จากฝ่ายรัฐบาลในตอนนี้

KEY

POINTS

  • “คณะก้าวหน้า” หนึ่งในองคาพยพ “สีส้ม” เดินเกมออกแคมเปญ “เสียงอิสระ” เพื่อโหวตเลือก สว.ที่กำลังจะเกิดขึ้นหลัง 10 พ.ค.ที่ชุดเก่าจะหมดอำนาจลง
  • 2 เหตุผลหลักที่ “ธนาธร” อธิบายเพื่อวาดฝันแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เดินหน้าได้ฉลุย และโละโครงสร้างองค์กรอิสระให้มีความ “เป็นกลาง” ฟื้นวิกฤติศรัทธาจากประชาชน
  • เพราะในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาของการเมืองไทย “องค์กรอิสระ” ที่มีบทบาท 3 แห่งอย่าง กกต.-ป.ป.ช.-ศาล รธน.ถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องการทำงาน
  • หวังสร้าง “แฟร์เพลย์” ให้นักเลือกตั้งกลับมาเดินหมากผ่าน “กลไกปกติ” ป้องกัน “มือที่มองไม่เห็น” ชักใยเบื้องหลัง

จึงไม่แปลกในยุค “ด้อมส้ม” ครองเมือง มีความพยายามผลักดันจากพรรคก้าวไกล เพื่อต้องการปฏิรูปองค์กรอิสระ ผ่านกลไกการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อหวังให้เกิดความ “เป็นกลาง” เกิดขึ้น แต่ยังมิได้ถูกตอบรับอย่างเต็มที่จากฝ่ายรัฐบาลในตอนนี้

หลังสงกรานต์ อุณหภูมิการเมืองไทยกลับมาร้อนแรงอีกครั้งไม่แพ้สภาพอากาศ เพราะมีเงื่อนปมร้อนที่ “องคาพยพสีส้ม” ต้องชี้แจงคือกรณีกล่าวหา “ยุบพรรคก้าวไกล” ตามพฤติการณ์ล้มล้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 92 โดยแกนนำพรรคเตรียมหอบหลักฐานยื่นชี้แจงกับศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับแถลงต่อสาธารณะ ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสู้ประเด็นนี้

ไม่ใช่แค่เรื่องนี้อย่างเดียว แต่หนึ่งในองคาพยพส้มอย่าง “คณะก้าวหน้า” ก็เตรียมเดินหน้ารณรงค์แคมเปญ “เสียงอิสระ” เพื่อเข้าไปโหวตเลือก สว.ชุดใหม่ ที่จะเกิดขึ้นหลัง สว.ชุดเดิมหมดอำนาจ 10 พ.ค. หวังสกัดขา “ขั้วอำนาจเก่า” มิให้เข้ามา “ครอบงำ” ในระบบนิติบัญญัติไทยอีกหน

เรื่องนี้ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-พรรณิการ์ วานิช” 2 อดีตผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ และแกนนำคณะก้าวหน้า อธิบายว่า ปัจจุบันกฎการเลือก สว.ค่อนข้างหยุมหยิม และมีความซับซ้อนอย่างมาก ดังนั้นเราจะหาคนที่มี “คุณภาพ” เข้าไปดำรงตำแหน่ง สว.อย่างอิสระ เพื่อผลักดันวาระกลุ่มวิชาชีพนั้น ๆ แทบเป็นไปไม่ได้เลย 

นอกจากนี้ที่สำคัญ สว.ชุดต่อไปทำไมต้องเป็น “อิสระ” เนื่องจากมีความจำเป็น 2 ประการคือ 1.การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของ สว.หรือประมาณ 70 คน 2.การให้ความเห็นชอบบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญ มีผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองไทย มีผลต่อความศรัทธาของประชาชนต่อระบบการเมือง และองค์กรยุติธรรม

ประเด็นที่น่าสนใจ 1 ใน 2 เหตุผลหลักของ “คณะก้าวหน้า” ที่รณรงค์ “เสียงอิสระ” โหวต สว.ครั้งนี้คือการให้เข้าไปให้ความเห็นชอบ “องค์กรอิสระ” เพื่อ “รีเซ็ตระบบใหม่” ให้มีความยุติธรรม ฟื้นศรัทธาจากประชาชน ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

สำหรับองค์กรอิสระในไทยมีทั้งหมด 5 หน่วยงานตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ 1.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 2.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 3.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 4.คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) 5. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และยังมีอีกหนึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม และมาจากการให้ความเห็นชอบของ สว.คือ ศาลรัฐธรรมนูญ

ในบรรดาองค์กรข้างต้นมีอย่างน้อย 3 ชื่อที่ถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์และพูดถึงมากที่สุด ได้แก่ กกต., ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก 3 องค์กรนี้มีบทบาทสำคัญในการจัดการเลือกตั้ง ป้องปรามการทุจริต และชี้ขาดข้อกฎหมาย รวมถึงชี้เป็นชี้ตายหากเกิด “วิกฤติการเมืองไทย” ซึ่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง

ที่สำคัญใน 3 องค์กรดังกล่าว ถูกสาธารณชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหูว่าอาจมี “มือที่มองไม่เห็น” เข้าไปครอบงำ หรือชี้นำองค์กรเหล่านี้ ในการวินิจฉัย หรือตัดสินคดีความทางการเมืองต่าง ๆ ในรอบหลายปีที่ผ่านมา จนส่งผลให้การเมืองไทยต้องมาถึงจุดนี้

ธนาธร ระบุไว้เช่นกันว่า ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นสมัยรัฐบาลชุดก่อน ๆ หรือยุคคนเสื้อแดง มันมีวาทกรรม 2 มาตรฐานเสมอ ดังนั้นเพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง องค์กรที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมทั้งหมด ต้องกลับเข้ามาสู่ที่ทางประชาธิปไตย ฟื้นฟูวิกฤติศรัทธาจากประชาชน คนที่ทำได้มีแค่ สว.

ปฏิเสธไม่ได้ว่า คดีความทางการเมือง “ส่วนใหญ่” ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มักเป็นคดีความของ “ค่ายสีแดง-สีส้ม” ที่ถูกร้องเรียนตรวจสอบอยู่ในมือขององค์กรเหล่านี้ มีน้อยมากที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะขึ้นเขียง ที่น่าสนใจคดีความจำนวนไม่น้อยถูกชี้ขาดไปใน “ทางลบ” ส่งผลให้มีการ “ส่งนักเลือกตั้งเข้าคุก-ยุบพรรค-ตัดสิทธิทางการเมือง”

เอาแค่ “พรรคเพื่อไทย” ซึ่งมีที่มาจาก “พรรคไทยรักไทย-พรรคพลังประชาชน” เคยถูก กกต.ชี้ขาดและส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย “ยุบพรรค” มาแล้วนับไม่ถ้วน และมีคำตัดสินชี้ขาดให้ยุบพรรคถึง 2 ครั้ง ก่อนกลายเป็นพรรคเพื่อไทยอย่างทุกวันนี้ ขณะที่ “พรรคก้าวไกล” ซึ่งมีที่มาจาก “พรรคอนาคตใหม่” เคยถูกร้องเรียนให้ยุบพรรคถึง 3 ครั้ง รอดแค่ 1 ครั้ง ยังเหลืออีก 1 คดียังไม่ตัดสินคือกรณีปฏิปักษ์การปกครอง ที่ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งรับคำร้องไว้วินิจฉัยเมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และนัดให้ส่งคำชี้แจงหลังสงกรานต์นี้

ที่ผ่านมามีความพยายามจาก “นักเลือกตั้ง” หลายครั้ง ต้องการเข้าไปแก้ไขโครงสร้างองค์กรอิสระเหล่านี้ จนมีเสียงเล่าอ้างว่ายุค “รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร” ถูกครหาว่าส่งคนในเครือข่ายตัวเองเข้าไปนั่งในองค์กรอิสระหลายชุด แต่สุดท้ายเมื่อถึงยุคปลายทางรัฐบาลไทยรักไทย คนในองค์กรอิสระเหล่านี้ หลายคนต้องพ้นจากตำแหน่ง บางคนถึงขั้นติดคุกติดตะรางหลังเกษียณไปแล้วก็มี จากการตัดสินที่ “เอนเอียง” ไม่ตรงไปตรงมา

นั่นจึงไม่แปลกในยุค “ด้อมส้ม” ครองเมือง มีความพยายามผลักดันจากพรรคก้าวไกล เพื่อต้องการปฏิรูปองค์กรอิสระ ผ่านกลไกการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อหวังให้เกิดความ “เป็นกลาง” เกิดขึ้น แต่ยังมิได้ถูกตอบรับอย่างเต็มที่จากฝ่ายรัฐบาลในตอนนี้

ธนาธร เคยอธิบายถึงเรื่องนี้ว่า สิ่งที่เราต้องการไม่ใช่องค์กรอิสระที่มาจากพรรคก้าวไกล หรือตัดสินเข้าข้างคณะก้าวหน้า เพราะถ้าเป็นอย่างนี้ประเทศพังอีก แต่เราอยากได้องค์กรอิสระที่ “เป็นกลาง” เพราะถ้าองค์กรเหล่านี้เป็นกลางเมื่อไหร่คือ “แฟร์เพลย์” ทำให้คนกลับมาใช้กลไกปกติในการทำงานมากขึ้น

ทั้งหมดคือความมุ่งมั่นตั้งใจของ “คณะก้าวหน้า” หนึ่งในองคาพยพสีส้ม ในการรณรงค์ “เสียงอิสระ” เลือก สว.ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ถึง 1 เดือนถัดจากนี้ สุดท้ายแผนการนี้จะสำเร็จเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ ต้องติดตาม