จับตา 'องคาพยพสีส้ม' แก้เกม 'ฝ่ายอนุรักษนิยม' สกัด 'ก้าวหน้า' รณรงค์สภาสูง

จับตา 'องคาพยพสีส้ม' แก้เกม 'ฝ่ายอนุรักษนิยม' สกัด 'ก้าวหน้า' รณรงค์สภาสูง

ความเคลื่อนไหวของ “องคาพยพสีส้ม” ยังคงอยู่ใน “สายตา” ของ “ฝ่ายอนุรักษนิยม” ซึ่งจะประมาท “พลพรรคสีส้ม” ไม่ได้อย่างเด็ดขาด หมากเกมนี้ “ธนาธร” ในฐานะ “ศาสดาสีส้ม” จะแก้แผนชิงเหลี่ยมเกมนี้ให้กลับมาอย่างไร ต้องรอลุ้น

KeyPoints

  • แผน “คณะก้าวหน้า” รณรงค์ “สว.ประชาชน” เดินสายให้คนสมัคร สว.เพื่อ “เสียงโหวตอิสระ” เข้าไปแก้รัฐธรรมนูญใหม่-รื้อโครงสร้างองค์กรอิสระ เหมือนจะสะดุด
  • กกต.ออกสารแจงการเชิญชวนคนมาสมัคร สว.ส่อผิดกฎหมายหลายบท มีโทษทางอาญา สูงสุดคุก 10 ปี ประหารชีวิตการเมือง 20 ปี
  • ไอลอว์” ออกโรงโต้ชัด ไม่มีกฎหมายบรรทัดไหนห้ามรณรงค์คนมาสมัคร-กรอกประวัติบนเว็บ อ้างยังไม่มี พ.ร.ฎ.เลือก สว.บังคับใช้
  • จับตา “องคาพยพสีส้ม” แก้เกม “ฝ่ายอนุรักษนิยม” ศึกชิงเก้าอี้สภาฯสูงดุเดือด

กลายเป็น “ดราม่า” ร้อนฉ่าสะเทือนแวดวงการเมืองอีกครั้ง เมื่อ “คณะก้าวหน้า” นำโดย “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ปลุกกระแส “ปักธงสภาฯสูง” โดยเปิดแคมเปญเชิญชวนประชาชนให้สมัคร สว. เพื่อเข้าไปใช้ “เสียงอิสระ” โหวต สว. ให้เข้าไปแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงการสรรหาบุคคลนั่งเก้าอี้ “องค์กรอิสระ” ด้วยความเป็นกลาง เพื่อแก้ไข “วิกฤติการเมืองไทย” ที่คาราคาซังมาอย่างยาวนานตั้งแต่รัฐประหาร 2549

เมื่อ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา “ธนาธร” แถลงเปิดตัวแคมเปญ “สว.ประชาชน” โดยเปิดเว็บไซต์ senate67.com ให้คนที่สนใจสมัคร สว.เข้าไปกรอกประวัติข้อมูล จุดยืน และวิสัยทัศน์ได้ ปัจจุบันมีผู้สนใจสมัครแล้วราว 1,000 คน แต่เชื่อว่าตัวเลขผู้สมัครจริง ๆ อาจมีมากกว่านี้ พร้อมกับยืนยันว่าไม่ได้มีการ “ฮั้ว” กับผู้สมัครให้เลือกผู้หนึ่งผู้ใด ปล่อยให้การโหวตเป็นเรื่องของผู้สมัครกันเองเท่านั้น

ในช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา “ธนาธร” นำทัพ “คณะก้าวหน้า” เดินสายพบสื่อหลายสำนัก อธิบายเป้าหมายรณรงค์ “เสียงอิสระ” ครั้งนี้ ยืนยันว่า เพื่อเป้าหมายในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้มีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ยังไม่สามารถคอนเฟิร์มได้ว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมี ส.ส.ร.จากภาคประชาชน 100% ได้หรือไม่ นอกจากนี้ยังเล็งเห็นว่าวิกฤติการเมืองไทยที่ผ่านมา หนึ่งในต้นตอคือกรรมการองค์กรอิสระทั้งหลาย เช่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการ ป.ป.ช. กรรมการ กกต. เป็นต้น ดังนั้นหากรื้อโครงสร้างเหล่านี้ได้ และสรรหาบุคคลจากภาคประชาชนที่มีความ “เป็นกลาง” เข้ามา จะช่วยให้ “นักเลือกตั้ง” และ “ประชาชน” ยอมรับ เล่นใน “กติกา” ได้

แต่สิ่งหนึ่งที่ประชาชนบางฝ่ายกังขาคือ กระแสข่าวว่า “คณะก้าวหน้า” จับมือกับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ “ไอลอว์” หารือกันเพื่อส่งตัวแทนคนชิงเก้าอี้สภาฯสูง โดยตั้งเป้าไว้ราว 70-100 คน ทว่าตามหลักกติกากฎหมายแล้วไม่สามารถสนับสนุนบุคคลใดเข้าไปเป็น สว.ได้ จึงต้องเดินหมากแคมเปญให้ประชาชนเข้าไปสมัคร สว.เพื่อไปโหวตเลือก สว.แทน ในส่วนนี้เองถูก สว.ชุดปัจจุบันบางคนตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์ “ธนาธร” อย่างหนัก โดยอ้างว่า การรณรงค์ดังกล่าวอาจเข้าข่าย “ฮั้ว” ให้มีประชาชนเข้าไปเลือก สว. พร้อมกับส่งสัญญาณดัง ๆ ไปยัง กกต.ออกมาตรวจสอบห้ามปรามโดยด่วน

หลังจากนั้นไม่นาน กกต.ออกเอกสารข่าวเผยแพร่เมื่อ 26 เม.ย.ระบุว่า การรณรงค์เชิญชวนขององค์กรที่ให้ประชาชนไปสมัคร สว. รวมถึงไปกรอกข้อมูล จุดยืน วิสัยทัศน์ในเว็บไซต์ อาจเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.ป.การได้มาซึ่งวุฒิสภา 2561 ได้ พร้อมกับขอให้บุคคลที่จะสมัคร สว.มิให้กรอกข้อมูล จุดยืน และวิสัยทัศน์ในเว็บไซต์ดังกล่าว 

เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ “ธนาธร” นำทัพ “คณะก้าวหน้า” ไปเดินสายลงพื้นที่รณรงค์ “สว.ประชาชน” ตามภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทว่าหลังจาก กกต.ออกเอกสารข่าวดังกล่าว ยังไม่มีความเคลื่อนไหวจาก “ธนาธร” ว่าจะชี้แจงเรื่องนี้อย่างไร มีเพียง “ไอลอว์” ที่สวนทันควันหลัง กกต.เผยแพร่ไม่กี่ชั่วโมง โดยอ้างว่าเอกสารข่าวของ กกต.ฉบับนี้ “เผยแพร่ข้อมูลเท็จ” ยืนยันว่า ได้ตรวจสอบกฎหมายแล้ว ไม่มีฉบับใดอ้างว่า ห้ามมิให้รณรงค์ประชาชนไปสมัคร สว. นอกจากนี้ยังอ้างว่า ปัจจุบันยังไม่มี พ.ร.ฎ.เลือก สว.บังคับใช้ จึงไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดีมีรายงานข่าวจากสำนักงาน กกต.แจ้งว่า ทางการข่าว กกต.มิใช่เพิ่งมาตรวจสอบข้อมูลในตอนนี้ แต่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในการสมัคร สว.มาระยะหนึ่งแล้ว นอกจากนี้การตรวจสอบมิใช่เพ่งเล็งแค่ “คณะก้าวหน้า” แต่รวมถึงบรรดา “บ้านใหญ่-นักเลือกตั้งอาชีพ” อีกด้วย

ในส่วนประเด็นการตรวจสอบ “คณะก้าวหน้า” นั้น แหล่งข่าวจาก กกต. ระบุว่า การเลือก สว.ชุดใหม่ปี 2567 ตามหลักการรัฐธรรมนูญปี 2560 ผู้สมัครต้องประสงค์ลงสมัครด้วยตัวเองเพื่อเป็น สว. แตกต่างจากการเลือก สว.เดิมปี 2561 ที่ต้องยึดบทเฉพาะกาล และมีบางส่วนมาจากการสรรหาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังนั้นการที่องค์กรหรือหน่วยงานใดรณรงค์ให้มีผู้สมัคร สว.นั้น อาจเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 หลายมาตราด้วยกัน เช่น มาตรา 77, 79, 81 เป็นต้น

สำหรับมาตราที่สำคัญคือ มาตรา 77 ที่ระบุสาระสำคัญ ห้ามจูงใจให้ผู้อื่นสมัครเข้ารับเลือกเป็น สว. หรือถอนการสมัคร หรือกระทำการใด ๆ ให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะเลือกหรือได้รับเลือกเป็น สว. หรือเพื่อจูงใจให้ผู้สมัครหรือผู้มีสิทธิลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้ใด โดยมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

ส่วนมาตรา 79 และ 81 คือมาตราที่กำหนดโทษเกี่ยวกับการเรียกรับเงิน หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในการจูงใจไปสมัคร สว.หรือเพื่อเลือกผู้หนึ่งผู้ใด โดยมีอัตราโทษเหมือนกันคือ จำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

ล่าสุด มีคนไปร้องเรียนต่อ กกต.ให้ตรวจสอบ "ธนาธร-พรรณิการ์" แกนนำ "คณะก้าวหน้า" เนื่องจากถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสิทธิทางการเมือง แต่กลับออกมาเคลื่อนไหวให้ประชาชนสมัครและเลือก สว.สามารถทำได้หรือไม่แล้ว

อย่างไรก็ดีท่าที่ของโดย "แสวง บุญมี" เลขาธิการ กกต. ระบุว่า ไม่ว่าใครก็ตามสามารถรณรงค์ให้คนสมัคร สว.ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย สวนทางกับท่าทีของ "บิ๊กเนม กกต.-สว." ที่เห็นต่างว่า การกระทำดังกล่าวอาจหมิ่นเหม่เข้าข่ายผิดกฎหมายได้

ดังนั้นในแผนศึกชิงเก้าอี้สภาฯสูง มีความพยายามสกัดขา "คณะก้าวหน้า" อย่างเต็มข้อ สะท้อนให้เห็นว่าทุกความเคลื่อนไหวยังคงอยู่ใน “สายตา” ของ “ฝ่ายอนุรักษนิยม” และจะประมาท “พลพรรคสีส้ม” ไม่ได้อย่างเด็ดขาด หมากเกมนี้ “ธนาธร” ในฐานะ “ศาสดาสีส้ม” จะแก้แผนชิงเหลี่ยมเกมนี้ให้กลับมาอย่างไร ต้องรอลุ้น