‘ธปท.-เพื่อไทย’ หยุดทำร้ายธนาคารชาติ
รัฐบาลกับธนาคารชาติควรหันหน้าเข้าหารือกัน การใช้ความเดือดร้อนของประชาชนเป็นตัวประกัน ไม่ทำให้อะไรดีขึ้นมาเลย
คำปราศรัยของ "อุ๊งอิ๊ง" แพทองธาร ชินวัตร ในงาน “10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10” จัดโดยพรรคเพื่อไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับแบงก์ชาตินั้น มีปัญหาอยู่ 3 ประการ คือ
1.ไปตำหนิว่าความเป็นอิสระของแบงก์ชาติเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
2.กฎหมายที่กำหนดให้แบงก์ชาติเป็นอิสระ คือต้นเหตุของปัญหา
3.ถ้าแบงก์ชาติไม่ยอมทำความเข้าใจและร่วมมือกับรัฐบาล จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ
นอกจากนั้นยังมีประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาที่พูด แต่เป็นวิธีการพูด ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเหมือนกัน นั่นก็คือ "อุ๊งอิ๊ง" อ่านตามโพย จึงเกิดกระแสวิจารณ์ว่า พูดโดยไม่ได้เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของธนาคารชาติจริงๆ แต่พูดตามที่มีคนเขียนบทให้
และคิดเลยไปถึงว่า พรรคเพื่อไทยใช้"อุ๊งอิ๊ง"และการปราศรัยในงานนี้โจมตีธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งแสดงท่าทีไม่โอนอ่อนผ่อนตามนโยบายของรัฐบาลมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องการลดดอกเบี้ย และการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต
พูดง่ายๆ คือ พรรคเพื่อไทยกำลังเล่นเกมทางการเมืองด้วยการรุมถล่มแบงก์ชาติในทุกมิตินั่นเอง โดยจัด “กฐินสามัคคี” ร่วมมือกันทั้งขารัฐบาลที่พรรคตัวเองเป็นแกนนำ และขาพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคการเมืองใหญ่อันดับ 2
โดยลากเอาเศรษฐกิจไทยและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนคนไทยจากปัญหาเศรษฐกิจมาเป็นตัวประกัน
เรื่องนี้กำลังเป็นดราม่า และเป็นกระแสวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในสังคม โดยผู้คนจำนวนไม่น้อยออกมาตำหนิพรรคเพื่อไทย และให้กำลังใจแบงก์ชาติ
แต่ฝ่ายพรรคเพื่อไทยก็ไม่ยอมถอยแม้แต่ก้าวเดียว กลับเดินหน้ารุกต่อ และเปิดฉากสวนกลับกระแสสังคม ด้วยการถล่มบทบาทของธนาคารชาติต่อไป
จะว่าไปเรื่องนี้ก็ไม่ค่อยแฟร์กับแบงก์ชาติสักเท่าไร เพราะความเป็นอิสระของธนาคารชาติ เป็นหลักการที่ยอมรับและยึดถือกันทั่วโลก
ฉะนั้นการที่หัวหน้าพรรคการเมืองแกนนำรัฐบาลออกมาแสดงท่าทีตำหนิธนาคารชาติ ว่าเป็นต้นตอหนึ่งของปัญหาเศรษฐกิจ เพียงเพราะไม่ยอมทำตามในสิ่งที่รัฐบาลต้องการ หรือพูดง่ายๆ คือ “สั่งไม่ได้” ย่อมไม่ใช่ท่าทีที่ถูกต้อง และไม่ส่งผลบวกใดๆ กับพรรคเพื่อไทย รวมถึงรัฐบาล
เพราะหลักการความเป็นอิสระของธนาคารชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาล ซึ่งต้องการคะแนนเสียงและความนิยมด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด รวดเร็วที่สุด ใช้นโยบายการเงินที่ส่งผลกระทบหรือสร้างภาระต่อประเทศชาติโดยรวมในระยะยาว นำมาเพื่อหาคะแนนในระยะสั้น เช่น ช่วงก่อนเลือกตั้ง หรือช่วงที่ความนิยมทรุดโทรมตกต่ำ เป็นต้น
เหตุนี้เองจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่แบงก์ชาติจะต้องคัดค้านนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เพราะใช้เม็ดเงินมากถึง 500,000 ล้านบาท แถมยังกู้มา เป็นภาระประเทศในระยะยาว
ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องสร้างความความมั่นใจให้ได้ เพราะแบงก์ชาติกำลังทำหน้าที่ปกป้องเศรษฐกิจของประเทศอยู่ ไม่ใช่ “ทำลาย” ตามที่ "อุ๊งอิ๊งค"พูดให้สังคมเข้าใจแบบนั้น
ถ้าพรรคเพื่อไทยสร้างความมั่นใจได้ว่า การแจกเงินให้ประชาชน 50 ล้านคน คนละ 10,000 บาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากมายตามที่อ้างจริง ก็ชอบที่จะทำความเข้าใจกับแบงก์ชาติด้วยข้อมูลตัวเลขเชิงประจักษ์ ที่เชื่อถือได้ ไม่ใช่ส่งนักการเมืองท้ายแถวออกมาโจมตีด้วยวาทกรรมเหมือนที่ผ่านๆ มา
หากไม่อยากคุยกันแบบปิดลับหรืองุบงิบ จะเปิดฟอรั่มพูดคุยแสดงเหตุผลกันโดยให้ประชาชนรับรู้รับฟังด้วยก็สามารถทำได้ และให้ประชาชนช่วยกันตัดสิน
จะว่าไปแล้ว ตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาลรอบนี้ ต้องยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยมีปัญหาเรื่องการสื่อสารและการอธิบายความค่อนข้างมาก
อาจเป็นเพราะโลกเปลี่ยนเร็ว การสื่อสารแบบสองทางหรือหลายทางครอบคลุมไปทั่วทุกแพลตฟอร์ม ทำให้การดำเนินนโยบายแบบให้ัประชาชนนั่งนิ่งๆ แล้วรอผลลัพธ์ หรือรัฐจัดให้แบบจุกๆ อย่างเดียวเหมือนกับที่พลพรรคเพื่อไทยคุ้นชินในอดีต น่าจะใช้ไม่ได้แล้วในปัจจุบัน
ทราบมาว่า กุนซือใหญ่ในพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะ “ผู้นำจิตวิญญาณ” อาจเป็นต้นคิด หรืออย่างน้อยก็หนุนสุดตัวกับนโยบาย “แจกเงินหมื่น” โดยเหตุผลที่ระดับกุนซืออธิบาย เข้าใจง่ายและเป็นเหตุเป็นผลกว่าที่คนในรัฐบาลเคยอธิบาย
เช่น เปรียบประเทศไทยเป็นสนามหญ้าขนาดใหญ่ ซึ่งต้นหญ้าจำนวนไม่น้อยกำลังจะเหี่ยวเฉาตาย จึงต้องการกระจายเงินลงไปทุกบ้าน เหมือนรดน้ำสนามหญ้าหน้าบ้านของตนให้เขียวชอุ่ม และสุดท้ายประเทศไทยก็จะเขียวชอุ่มทั้งประเทศ
“ผู้นำจิตวิญญาณ” บอกว่าประชาชนในชุมชนจะนำเงินหมื่นไปรวมกัน แล้วลงทุนสร้างการผลิตหรือธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งจะว่าไป หากทำได้จริง นี่คือจุดแข็งของโครงการนี้เลยทีเดียว
ฉะนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐบาลจะสื่อสารใหม่ โดยเริ่มจากการทำให้แบงก์ชาติเข้าใจก่อน และเพิ่มเงื่อนไขการแจกเงินหมื่น เช่น แบ่งเงินออกเป็น 2 กอง กองแรกแจกถ้วนหน้าในกลุ่มเปราะบาง มีปัญหาทางเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือเฉพาะหน้า และให้จำกัดการจับจ่ายใช้สอย โดยให้ใช้จ่ายเฉพาะกับร้านค้าในชุมชนเท่านั้น
ส่วนเม็ดเงินกองที่สอง อาจแจกให้กับประชาชนที่รวมกลุ่มกันทำโครงการค้าขาย หรือผลิตสินค้าในชุมชนขึ้นมาขายกันเอง คล้ายๆ กับโอท็อป แต่รัฐแจกเงินไปให้ทำ ถือเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างนวัตกรรม ไม่ใช่ใช้จ่ายวูบเดียวแล้วละลายหายไป
นี่คือตัวอย่างสมมติที่คิดแบบเร็วๆ หากร่วมมือกันในมิติแบบนี้ น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าใช้เกมการเมืองเข้ากดดันอีกฝ่าย
ที่สำคัญพรรคเพื่อไทยเองก็ต้องยอมรับว่า ฝ่ายตนไม่เคยอธิบายตัวโครงการให้เห็นภาพอย่างเป็นระบบ และไม่สามารถตอบได้คล่องแคล่ว แม่นยำทุกคำถามเลยแม้แต่ครั้งเดียว
พูดตรงๆ อย่าว่าแต่ตอบได้เลย แค่หาคนตอบยังยาก หลายครั้งนักข่าวขอสัมภาษณ์ ก็เจอบ่ายเบี่ยง ไม่ยอมพูด บางทีนัดแล้วก็เทนัด ยกเลิกนัด ไม่ว่าจะเป็นท่านนายกฯเศรษฐาเอง คุณจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง หรือแม้แต่ คุณเผ่าภูมิ โรจนสกุล ตั้งแต่ก่อนรับตำแหน่ง
เช่นเดียวกับการลดดอกเบี้ย ก็ต้องอธิบายให้ได้ว่าประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริงแค่ไหน ไม่ใช่กลุ่มที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ของคนในรัฐบาลเอง เหล่านี้เป็นต้น
ฟากฝั่งแบงก์ชาติ ก็ควรแสดงท่าทีรับรู้ความเดือดร้อนของประชาชนคนไทยบ้าง พยายามออกมาตรการตามอำนาจหน้าที่ในการดูแลคนไทยตาดำๆ บ้าง ไม่ใช่แอคชั่นเฉพาะเรื่องยืนตรงข้ามรัฐบาลอย่างเดียว
อย่างเช่น ข้อกล่าวหาธนาคารพาณิชย์รวยเอาๆ ขณะที่คนไทยแบกแต่หนี้ อย่างนี้ก็ควรมีคำอธิบายจากธนาคารชาติว่าเป็นเพราะอะไร มีช่องโหว่ช่องว่างตรงไหนที่ทำให้ธนาคารแสวงหากำไรบนความล้มละลายของผู้คน
หรือการที่ “มนุษย์เงินเดือน” ต้องผ่อนบ้าน และผ่อนแบบออนท็อป (โปะ) คือผ่อนเกินกว่าค่างวด เพื่อหวังให้ไปลดต้น ตัดต้น มากขึ้น หวังหลุดหนี้เร็วๆ แต่สุดท้ายก็ไมสำเร็จ
เพราะลูกหนี้กลุ่มนี้จะโดนธนาคารใช้แท็กติกปล่อยกู้บ้านพ่วงทำประกันอีกหลักแสน หรือหลายแสนบาท เวลาเราผ่อนจ่ายสูงกว่าค่างวด ก็ไม่นำไปตัดเงินต้น และกลับนำไปตัดเบี้ยประกันแทน สรุปเงินต้นก็ยังสูงเท่าเดิม แม้จะผ่อนจ่ายมากกว่าเดิมก็ตาม
นี่ยังไม่นับการคำนวณสัดส่วนเงินต้นกับดอกเบี้ย เช่น ผ่อนบ้านเดือนละ 20,000 บาท เป็นเงินต้นแค่ 3-4 พันบาท ที่เหลือเป็นดอก นี่คือความชอกช้ำที่มนุษย์เงินเดือนโดนกันถ้วนหน้า และไม่เคยเห็นแบงก์ชาติหรือหน่วยงานไหนมาดูแล
ผิดกับหนี้ กยศ.ที่มีการแก้กฎหมายให้นำเงินผ่อนชำระไปตัดเงินต้นก่อน แล้วค่อยมาหักดอกเบี้ยกับเบี้ยปรับ ทำไมถึงไม่นำแนวคิดนี้มาปรับใช้กับลูกหนี้กลุ่มอื่นบ้าง อาจจำกัดเฉพาะคนซื้อบ้านหลังแรก หรือซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยจริงก็ได้ ไม่ใช่ซื้อเพื่อเก็งกำไร
พูดง่ายๆ คือความพยายามในการดูแลประชาชนของธนาคารชาติน้อยเกินไป อ้างแต่ความเป็นอิสระอย่างเดียว ย่อมไม่ได้ใจประชาชน
เหมือนกับเรื่องลดดอกเบี้ย ผมเคยฟังสัมภาษณ์ผู้บริหารแบงก์ชาติ ท่านบอกว่าการลดดอกเบี้ย 0.25% หรือ 1 สลึง ไม่มีผลต่อค่างวดรายเดือนสำหรับผ่อนรถผ่อนบ้านลดลง จึงไม่ได้ช่วยลดภาระคนเป็นหนี้
แต่ท่านลืมคิดไปว่า การส่งสัญญาณเรื่องดอกเบี้ย มันจะส่งผลทางจิตวิทยาอีกหลายอย่าง รวมถึงกำลังใจของ “มนุษย์เงินผ่อน - มนุษย์เงินเดือน” และสุดท้ายภาระของประชาชนจะลดลงไปเอง
นี่คือความจริง 2 ด้านที่ผู้เกี่ยวข้องทั้ง 2 ฝ่าย คือ รัฐบาลกับธนาคารชาติควรหันหน้าเข้าหารือกัน และหาทางออกร่วมกันโดยยึดประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญดังปากพูด
เพราะการใช้ความเดือดร้อนของประชาชนเป็นตัวประกัน ไม่ทำให้อะไรดีขึ้นมาเลย และอาจส่งผลให้ประชาชนไม่เชื่อถือธนาคารชาติ สุดท้ายธนาคารชาติอาจล้มละลาย เปิดทางให้ฝ่ายการเมืองเข้าครอบงำ ซึ่งคงเลวร้ายกว่าที่ผ่านมาแน่นอน!