‘เศรษฐา’ลุย'เงินหมื่น-ลดดอกเบี้ย' - ‘แบงก์ชาติ’ งัดข้อ ‘เพื่อไทย’ ?

‘เศรษฐา’ลุย'เงินหมื่น-ลดดอกเบี้ย' - ‘แบงก์ชาติ’ งัดข้อ ‘เพื่อไทย’ ?

นโยบายหลักของ “เพื่อไทย” ในการแก้วิกฤติเศรษฐกิจ ผ่านการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และลดอัตราดอกเบี้ยช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบาง เป็นเรื่องร้อนที่ผู้ว่าแบงก์ชาติเคยตั้งข้อสังเกตไปยังรัฐบาลอยู่เป็นระยะ

KEY

POINTS

  • รอยร้าวลึกๆ ระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” กับ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ในแนวคิดด้านนโยบายการเงินการคลัง
  • "แพทองธาร" ชี้ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติทำให้เป็นอุปสรรคการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
  • "ดิจิทัลวอลเล็ต" และ "ปรับลดอัตราดอกเบี้ย" นโยบายหลักของรัฐบาล "เพื่อไทย" ถูกผู้ว่า ธปท.ทักท้วงอยู่หลายครั้ง
  • นายกฯ ไม่รอแบงก์ชาติ เรียกถก 4 แบงก์ใหญ่ จนสามารถขานรับการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบาง
  • ต้องพิสูจน์ฝีมือทีมรัฐมนตรีชุดใหม่ในกระทรวงการคลังในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

KeyPoints

  • รอยร้าวลึกๆ ระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” กับ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ในแนวคิดด้านนโยบายการเงินการคลัง
  • "แพทองธาร" ชี้ความเป็นอิสระของแบงก์ชาติทำให้เป็นอุปสรรคการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
  • "ดิจิทัลวอลเล็ต" และ "ปรับลดอัตราดอกเบี้ย" นโยบายหลักของรัฐบาล "เพื่อไทย" ถูกผู้ว่า ธปท.ทักท้วงอยู่หลายครั้ง
  • นายกฯ ไม่รอแบงก์ชาติ เรียกถก 4 แบงก์ใหญ่ จนสามารถขานรับการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบาง
  • ต้องพิสูจน์ฝีมือทีมรัฐมนตรีชุดใหม่ในกระทรวงการคลังในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ

รัฐบาล “เพื่อไทย” ที่มี “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นนายกรัฐมนตรี ยังคงเดินเกมไม่รอช้า แม้จะได้ทีมรัฐมนตรีชุดใหม่ ก็ยังเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องให้กับคนหาเช้ากินค่ำ ให้สอดรับกับนโยบายของ “เพื่อไทย” ที่ชูมาตลอดระหว่างหาเสียงคือ “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส”

ล่าสุด เกิดรอยร้าวลึกๆ ระหว่าง “พรรคเพื่อไทย” ที่ปะทะกับ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” (ธปท.) หรือ “แบงก์ชาติ” ในแนวคิดด้านนโยบายการเงินการคลัง

เห็นได้จาก “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ย้ำในเวทีของพรรค “10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10” เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2567 โดยพุ่งตรงวิจารณ์ “แบงก์ชาติ” ที่มักเตะถ่วงนโยบายการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย

“กฎหมายพยายามจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระจากรัฐบาล เรื่องนี้เป็นปัญหาและอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะนโยบายการคลังถูกใช้งานข้างเดียวอย่างหนัก จนทำให้หนี้สูงขึ้นทุกปี จากการตั้งงบประมาณขาดดุล ถ้านโยบายการเงินที่บริหารโดยธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมเข้าใจและร่วมมือ ประเทศจะไม่มีทางลดเพดานหนี้ลงมาได้”

แพทองธาร

ขณะที่ "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่า ธปท. ระบุเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2567 อย่างไม่เกรงใจรัฐบาล ว่า “รัฐบาลมาแล้วไป ผู้ว่าการ ธปท.มาแล้วก็ไป แต่สถาบัน องค์กร และ ธปท.ต้องอยู่ และต้องอยู่อย่างเข้มแข็ง”

‘เศรษฐา’ลุย\'เงินหมื่น-ลดดอกเบี้ย\' - ‘แบงก์ชาติ’ งัดข้อ ‘เพื่อไทย’ ?

ลุย "เงินหมื่น-ลดอัตราดอกเบี้ย" - แบงก์ชาติทักท้วง

โฟกัสนโยบายหลักของ “เพื่อไทย” ในการแก้วิกฤติเศรษฐกิจ ที่ผ่านการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และลดอัตราดอกเบี้ยให้ช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบาง จะพบว่า 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องร้อนที่ ผู้ว่าแบงก์ชาติเคยตั้งข้อสังเกตไปยังรัฐบาลอยู่เป็นระยะ

แต่ “เศรษฐา ทวีสิน” ก็ยังเดินหน้าผลักดันนโยบายโครงการเติมดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท นโยบายหลักที่คาดว่าจะได้ใช้กันในสิ้นปี 2567 ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2567 ได้เห็นชอบในหลักการ โดยจะใช้จ่ายเงินดิจิทัลได้ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567

นายกฯ ยังรับปากกับคนร้อยเอ็ดระหว่างลงพื้นที่เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2567 ว่าให้รอสิ้นปีนี้

เศรษฐา

ก่อนปรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ “เศรษฐา”เมื่อครั้งยังสวมบทขุนคลัง ยังออกแรงขยับช่วยเหลือประชาชนโดยทั่วไปและกลุ่มเปราะบาง คือ การที่นายกรัฐมนตรีพยายามขอความร่วมมือไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ช่วยพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยให้กับประชาชนรายย่อยและธุรกิจเอสเอ็มอี ที่กำลังประสบปัญหาความเดือดร้อนจากปัญหาดอกเบี้ยสูง

“เรื่องการลดดอกเบี้ยมันถึงเวลาแล้ว ก็ฝากไว้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะต้องมีการประชุมกัน” นายกฯ ระบุเมื่อ 6 ก.พ. 2567

แต่ภาพที่ออกมา ธปท.กลับไม่เห็นด้วยนัก เห็นได้จากที่ ดร.เศรษฐพุฒิ ระบุผ่านสำนักข่าว Nikkei Asia เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2567 ว่า "ผมคิดว่าการลดอัตราอีกครั้ง จะส่งสัญญาณที่ผิด ในแง่การพยายามจัดการให้หนี้ครัวเรือนมีความยั่งยืนมากขึ้น”

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ผู้ว่าแบงก์ชาติ คัดค้านและงัดนโยบายของฝ่ายการเมืองในการลดอัตราดอกเบี้ย

เพราะที่ผ่านมา ผู้ว่าแบงก์ชาติก็เคยท้วงติงนโยบายหลักของ “เพื่อไทย” อย่าง “ดิจิทัลวอลเล็ต” อยู่หลายครั้ง

จนมีการมองว่าเป็นรอยร้าวและไม่ลงรอยของนายกรัฐมนตรี กับผู้ว่า ธปท. ซึ่งมีความอิสระจากฝ่ายบริหารหรือไม่

เศรษฐพุฒิ

เห็นได้จากที่นายกฯ เคยนั่งประธานประชุมโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2567 ครั้งนั้นไร้เงา ผู้ว่า ธปท.
จนถึงขั้นนายกฯ ถามว่า “วันนี้ผู้ว่าแบงก์ชาติไปไหน ทำไมไม่มาประชุม ?”

การทักท้วงรัฐบาลของผู้นำแบงก์ชาติ ยังเห็นได้จากที่ “ดร.เศรษฐพุฒิ” ส่งหนังสือด่วนที่สุดลงเลขที่ ธปท.ฝกม. 285 /2567 เรื่อง โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ถึงข้อห่วงใยในโครงการดังกล่าว โดยเห็นว่าการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ใช้วงเงินงบประมาณมูลค่าสูง จะทำให้ความสามารถในการดำเนินนโยบายการคลังอื่นของรัฐบาลลดลง และมีความเสี่ยงที่จะมีงบประมาณไม่เพียงพอรองรับในภาวะฉุกเฉิน

“การที่รัฐบาลจะมอบหมายให้ ธ.ก.ส.สนับสนุนโครงการดังกล่าว โดยยังมีภาระหนี้คงค้างกับ ธ.ก.ส. ถึงประมาณ 800,000 ล้านบาท อาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและความเสี่ยงต่อฐานะการดำเนินงานของ ธ.ก.ส.อย่างมีนัยสำคัญ”

นายกฯ เชิญ 4 แบงก์ชาติขานรับลดดอกเบี้ยช่วย

ทว่า นายกรัฐมนตรีเลือกเดินหน้าทันที โดยไม่รอ ธปท. เชิญผู้บริหาร 4 แบงก์ใหญ่ ประกอบด้วย "ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย กรุงไทย และกรุงเทพ” หารือที่ทำเนียบรัฐบาล ในการลดดอกเบี้ยให้กลุ่มเปราะบาง เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2567

ครั้งนี้นายกฯ ได้ใช้ความสัมพันธ์จากประสบการณ์จากที่ตัวเองเคยอยู่ในแวดวงธุรกิจ ขอร้องไปยังแบงก์ใหญ่ 4 แห่งให้ช่วยพิจารณาดูแลดอกเบี้ย

“เป็นเรื่องของคนที่เคยอยู่ในวงการเดียวกันมาเกือบ 20 ปี รู้จักกันมาดี ผมมองว่าเรื่องดังกล่าวมองตาก็รู้ใจ ว่าเราต้องการอะไร ซึ่งหากสามารถทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น ผมไม่ได้จะไปกดดันอะไร ต้องให้เกียรติทั้ง 4 ท่าน” นายกฯ ระบุหลังการหารือ 4 แบงก์ใหญ่

ผลการหารือดังกล่าวกลายเป็นนผลงานของ “เศรษฐา” ในการตัดสินอย่างรวดเร็ว เพราะส่งผลให้ที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมธนาคารไทยเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2567 ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม สำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ในระหว่างที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และไม่ทั่วถึง ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) 0.25% สำหรับลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ทั้งลูกค้าบุคคล และเอสเอ็มอีเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อลดภาระดอกเบี้ย และมีโอกาสฟื้นตัว ปรับตัว

เช่นเดียวกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสินก็ขานรับมาตรการด้วยการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ลง 0.25% เป็นเวลา 6 เดือน

นายกฯ ยังถือโอกาสชื่นชมการขานรับของสมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิกที่ให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เข้าใจถึงภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน และผู้ประกอบการรายย่อยที่หาเช้ากินค่ำ แม้จะเป็นเวลาเพียง 6 เดือนแต่ก็ช่วยต่อลมหายใจให้สามารถเอากำไรไปต่อยอดได้

ส่วนปมร้อนการแก้ไขกฎหมายเพื่อลดอำนาจความเป็นอิสระของแบงก์ชาติหรือไม่นั้น นายกฯ ตอบเพียงว่าเป็นเรื่องอนาคต และเรื่องนี้ต้องถามรมว.คลัง คนใหม่แทน

“ถ้าท่านผู้ว่าฯฟังอยู่ ไม่เคยกดดันและไม่เคยพูดด้วย กดดัน ผมอาจจะมีการพูดคุยถึงเรื่องเนื้องานเป็นหลัก”

บทพิสูจน์ รมต.ใหม่แก้วิกฤต ศก.

ภาพการแก้ปัญหาแบบบไม่รอ ธปท.ของรัฐบาล แม้จะถูกมองว่าเป็นภาพความขัดแย้งของสองฝ่าย หากมองอีกมุมหนึ่งก็เป็นสไตล์ของ นายกฯ เศรษฐาที่เคยประกาศว่าจะทำงานโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

นับจากนี้คงต้องพิสูจน์ฝีมือโฉมหน้ารัฐมนตรีหน้าใหม่ในกระทรวงการคลัง และตัวนายกฯ ที่ถอยออกจากเก้าอี้ “ขุนคลัง” ว่าจะแก้วิกฤติเศรษฐกิจ และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ฝังรากลึกได้หรือไม่

รวมทั้งการแก้วิกฤติเศรษฐกิจระดับมหภาคที่“พรรคเพื่อไทย” ตั้งเป้าจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จีดีพีเติบโตเฉลี่ยอย่างต่ำปีละ 5% เพื่อหวังผลไปถึงคะแนนนิยมจากประชาชน ที่รอชี้ขาดในการเลือกตั้งในปี 2570