โพยก๊วน 149 เขย่าล้ม 'เลือก สว.' ลุ้น กกต. 'สอบ-ปล่อยผี' ?

โพยก๊วน 149 เขย่าล้ม 'เลือก สว.' ลุ้น กกต. 'สอบ-ปล่อยผี' ?

ความพยายาม “ล้ม” กระบวนการเลือก สว.ชุดใหม่ครั้งนี้ มีชนวนจากไหน และใครได้ประโยชน์ในเรื่องนี้บ้าง คงต้องติดตามกันต่อไป

KEY

POINTS

  • ประเด็นโพยก๊วน 149 ชื่อรอตัดเชือกชิง สว. ผ่านการแฉของ “สมชาย แสวงการ” เขย่าฝ่ายเสรีนิยมอย่างหนัก
  • ผู้สมัคร สว.ร้อง กกต.แสดงความบริสุทธิ์ใจ ยืนยันการเผยชื่อแบบนี้ไม่เป็นธรรมกับผู้สมัคร เรียกร้อง “สมชาย” รับผิดชอบ
  • ด้าน กกต.ออกเพรสแจงข่าวคลาดเคลื่อนความเป็นจริง คนเสนอข้อมูลแค่ “คาดเดา” พร้อมสั่งการตรวจสอบทุกพื้นที่
  • เลขาฯ กกต.เผย 3 แรงเสียดทานกระบวนการเลือก สว. ทั้ง “เลื่อน-ล้ม-ล็อคผล” สั่ง จนท.ทุกระดับมอนิเตอร์สถานการณ์

กลายเป็นตำบลกระสุนตกอีกรอบ สำหรับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ “กกต.” ในฐานะ “แม่งาน” จัดการเลือก สว.ชุดใหม่ที่หลุดพ้น “บทเฉพาะกาล” จากรัฐธรรมนูญ 2560 โดยถือเป็นการเลือก “ครั้งแรก” ที่มาจากภาคประชาชนอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ดี สารพัดปัญหาคาราคาซังยังระดมโถมใส่ กกต.ไม่หยุดหย่อน ตั้งแต่ “กติกา” การแนะนำตัวผู้สมัครเลือก สว.ที่สุดท้ายต้องพึ่งคำสั่งศาลปกครองกลาง เพิกถอนระเบียบบางข้อที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้สมัคร และปิดกั้นการรับรู้ของประชาชน

นอกจากนี้ ระหว่างการรับสมัคร ยังมีเรื่องร้องเรียนถึง กกต.ว่า ผู้สมัคร สว.บางส่วนไม่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขในการลงสมัคร 

โดย "ยศพัทธร์ ปรมัตถ์กิจการ" ผู้สมัคร สว.ยื่นหนังสือถึง ประธาน กกต. ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติ หรือเงื่อนไขของผู้สมัคร สว.กลุ่ม 9 “กลุ่มประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมาย” ที่มีจำนวน 1,844 คน และกลุ่ม 10 “กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่น” นอกจากกิจการตามข้อ 9 ที่มี จำนวน 1,200 คน ทั่วประเทศ

เขาตั้งข้อสังเกตว่า ผู้สมัครบางคนของกลุ่ม 9 และกลุ่ม 10 บางคนมีรายได้ของธุรกิจเกินกว่าที่จะลงสมัครในกลุ่ม 9 หรือคุณสมบัตินั้นเข้าข่ายสมัครได้ในกลุ่ม 10 แต่กลับมาสมัครที่กลุ่ม 9 ซึ่งในขณะสมัครไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ประกอบ และผู้สมัครบางรายเปิดบริษัทมาไม่ถึง 10 ปี แต่ต้องการให้ลูกหลานเข้ามาสมัคร จึงแก้ไขเอกสารภายในบริษัทเพื่อให้ได้ใช้สิทธิลงสมัคร

ผู้สมัครรายนี้ จึงเรียกร้อง 3 ข้อต่อ กกต.คือ 1.ขอให้ตรวจสอบผู้สมัครกลุ่ม 9 และกลุ่ม 10 ทุกคนทั่วประเทศ 2.ขอให้ตรวจสอบรายได้ของบริษัทผู้สมัครในกลุ่ม 9 ว่าเข้าเกณฑ์ตามคุณสมบัติหรือไม่ 3.ขอให้ตรวจสอบรายได้ผู้สมัครกลุ่ม 10 ซึ่งเห็นว่า จะต้องมีรายได้ต่อปีมากกว่า 500 ล้านบาท จึงจะสามารถลงสมัครได้ หรือหากเป็นภาคบริการต้องมีรายได้มากกว่า 300 ล้านบาทต่อปี จึงจะสามารถลงสมัครได้

ล่าสุด เมื่อเลยขั้นตอนการรับสมัคร ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิรับเลือก สว. ก็ยังเจอแฉว่ามี “โพยก๊วน” 149 รายชื่อ ที่น่าจะได้รับ “ไฟเขียว” รอการโหวตเลือกระดับประเทศเพียงอย่างเดียว ส่อพิรุธว่าจะมีการ “ฮั้ว” เกิดขึ้นหรือไม่

เบื้องต้นคนออกมาเป็นโต้โผเรื่องนี้คือ “สมชาย แสวงการ” สว.รักษาการชุดปัจจุบัน โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กตั้งคำถามว่า การเลือก สว.ที่กำลังจะเกิดขึ้น มีการฮั้วเลือกตั้งไหม มีโพยก๊วนฮั้วไหม ทั้งที่ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนการเลือกตั้ง สว.รอบแรกในระดับอำเภอเลย ทำไมมีโพยก๊วนออกมาว่า มี 149 คน ที่มีรายชื่อไปถึงระดับประเทศแล้ว เรียกว่าผ่าน 4 ขั้นตอนรวด 

โดยโพยก๊วนดังกล่าวหลุดเข้ามาไลน์ของ สว.ชุดปัจจุบันที่รักษาการอยู่ และมิใช่แค่ 149 คนเท่านั้น แต่ยังมีอีก 2,864 คน ตามไปสมทบให้ได้ถึง 3,013 คน เพื่อโหวตระดับประเทศ จนคัดเหลือ 200 สว.ชุดใหม่

ในบรรดา 149 รายชื่อเหล่านั้น ที่ถูกระบุเป็นอักษรย่อชื่อ นามสกุล กลุ่มที่ลงสมัคร จังหวัด อำเภอ รายชื่อ ทำให้ถูกบางฝ่ายตั้งคำถามว่า เหตุใดรายชื่อเหล่านี้ หลายคนดูด้วยตา ก็น่าจะเคาเดาได้ว่า คล้ายกับรายชื่อผู้สมัคร สว. “ฝ่ายเสรีนิยม” ที่เปิดตัวออกมาต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. และหวังจะได้รับเลือกเข้าไปนั่งในสภาฯสูง เพื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ผ่านแคมเปญ “เสียงอิสระ” ที่รณรงค์โดย “คณะก้าวหน้า-ไอลอว์”

วานนี้ (4 มิ.ย.) “เทวฤทธิ์ มณีฉาย” บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท หนึ่งในผู้สมัคร สว.ยื่นหนังสือต่อ กกต. เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ หลังตกเป็นหนึ่งใน 149 รายชื่อ โดยจะรู้ได้เลยว่าในรายชื่อเหล่านั้นมีใครบ้าง เบื้องต้นคนที่มีรายชื่อได้ลงบันทึกประจำวันเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจเอาไว้แล้ว แม้เป็นเพียงตัวอักษรย่อก็ตาม พร้อมกับถามดัง ๆ ไปยัง “สมชาย” ที่ออกมาแฉเรื่องนี้ว่า เขาเคยเป็นนักข่าวเก่า ก็ควรจะให้ความเป็นธรรมกับตน และคนอื่น ๆ บ้าง

ขณะที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ยืนยันว่า ไม่ทราบรายละเอียดข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แต่หากมีจริง กกต.มีหน้าที่ที่ทำให้การเลือก สว. บริสุทธิ์ ยุติธรรม ส่วนเรื่องการตรวจสอบนั้นตนเชื่อว่าหาก กกต.ตรวจสอบจริง 149 รายชื่อนั้นทำได้ทัน

ส่วนความพยายามล้มการเลือก สว.ชุดใหม่นั้น “ธนาธร” ระบุว่า คงเห็นแก่ตัวเกินไป กระบวนการเดินมาถึงขนาดนี้แล้ว แม้เราไม่พอใจกฎกติกาในการเลือก สว. แต่เมื่อเดินหน้ามาถึงจุดนี้แล้ว ก็คงต้องปล่อยให้มี สว. ชุดใหม่เกิดขึ้น เชื่อว่า สว.ชุดใหม่ ไม่ว่าจะดีหรือเลวอย่างไร สว.ใหม่ยึดโยงกับประชาชนมากกว่า สว.ชุดปัจจุบันแน่นอน มี สว.ที่ยึดโยงประชาชนไม่รับใบสั่งจากผู้มีอำนาจ ดังนั้นควรปล่อยให้การเลือก สว.เดินหน้าไป

ความเคลื่อนไหวจาก กกต.ในประเด็นนี้ “อิทธิพร บุญประคอง” ประธาน กกต.ยืนยันว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจได้ให้สำนักงาน กกต. ตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ไม่สามารถตอบรายละเอียดได้ ต้องรอเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม กกต.ก่อน แต่ยืนยันจะได้ 200 สว.ตามไทม์ไลน์

ส่วนกรณีที่กลุ่มคนเสนอให้มีการเลื่อนการเลือก สว.ออกไปก่อน เพราะส่อเค้าเกิดการทุจริต-ฮั้วกัน ประธาน กกต. ย้ำว่า เรื่องนี้ต้องดูข้อกฎหมาย หากพิสูจน์ได้ว่ามีการกระทำผิดไม่จำเป็นต้องสอยทีหลัง แต่การดำเนินการทุกอย่างต้องดูข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน แต่ท้ายที่สุดต้องดูว่าจะมีคำร้องอะไรเกิดขึ้นหรือไม่

ที่น่าสนใจ “แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต.ส่งข้อความผ่านไลน์ภายในสำนักงาน กกต.ถึงเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ให้เตรียมพร้อมรับมือ “แรงเสียดทาน” ที่อาจเกิดขึ้นกับการทำงาน ก่อนวันที่ 9 มิ.ย.ที่จะมีการเลือก สว.ระดับอำเภอทั่วประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบคือ

1.เลื่อนหรือลาก หมายถึงเลื่อนการเลือก สว.ออกไป

2.ล้ม หมายถึงความพยายามล้มการเลือก สว.ครั้งนี้

3.เลือก หมายถึงกดดันบางกลุ่มเลือกบุคคลให้ได้ผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

“ไม่ว่าจะรูปแบบใด ก็ขอให้เป็นแค่การคาดการณ์ เพราะถ้าเกิดขึ้นจริงย่อมไม่เกิดผลดีกับบ้านเมือง แต่ยืนยันพร้อมที่จะรับมือ และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น เพราะบ้านเมืองจะเกิดความเสียหายไม่ได้ พร้อมขอให้สำนักงาน กกต.ช่วยกันมอนิเตอร์กับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นกับการเลือก สว.ครั้งนี้” แสวง ระบุ

ล่าสุด สำนักงาน กกต.ดำเนินการตรวจสอบประเด็น “โพยก๊วน” 149 รายชื่อดังกล่าวแล้ว โดยชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริง เพราะขณะนี้ การเลือกผู้สมัคร สว. ในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ยังไม่ได้ดำเนินการลงคะแนนเลือกผู้สมัคร สว. ดังนั้นการอ้างว่า 149 รายชื่อดังกล่าวเข้ารอตัดเชือกเลือก สว.ระดับประเทศ จึงเป็นการคาดเดาของผู้เสนอข่าวโดยไม่มีมูลความจริง ปราศจากพยานหลักฐาน เพื่อยืนยันว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นความจริง

อย่างไรก็ดี กกต. ขอเรียนให้ทราบว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดทุกจังหวัด ทำการตรวจสอบและติดตามพฤติกรรมของผู้สมัคร สว. ทุกราย หากปรากฏว่า ผู้สมัคร สว. ผู้หนึ่งผู้ใด กระทำความผิด หรือมีผู้แจ้งเบาะแส พร้อมพยานหลักฐานว่า ผู้สมัคร สว. กระทำความผิด กกต. จะดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉียบพลัน

นัยสำคัญของคำชี้แจงจาก กกต.ดังกล่าว แค่ออกมาระบุว่า การนำเสนอข้อมูลเรื่อง 149 สว.นั้นเป็น “ข่าวคลาดเคลื่อน” เพราะยังไม่มีการเลือก สว.ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด หรือระดับประเทศ แต่มิได้มีการตรวจสอบเชิงลึกว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็น “จริงหรือเท็จ” แต่อย่างใด ดังนั้นคงต้องรอการติดตามตรวจสอบเรื่องนี้จาก กกต.ต่อไป

ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวในประเด็นการเลือก สว.ที่กำลังระส่ำระสายอยู่ในปัจจุบัน ส่วนความพยายาม “ล้ม” กระบวนการเลือก สว.ชุดใหม่ครั้งนี้ มีชนวนจากไหน และใครได้ประโยชน์ในเรื่องนี้บ้าง คงต้องติดตามกันต่อไป