ป.ป.ช.ฟัน 'ทวีป บุตรโพธิ์' รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุม รับนาฬิกาหรู เกิน 3 พัน
ป.ป.ช.ชี้มูลผิด 'ทวีป บุตรโพธิ์' เมื่อครั้งนั่งรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ปมรับทรัพย์สินเกิน 3 พันบาท เป็นนาฬิกาหรู Tag Heuer เรือนละ 85,500 บาท เก็บไว้นานเกือบ 4 ปี พอโดนร้องแล้วส่งคืนให้ทีหลัง
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2567 นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายทวีป บุตรโพธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กรณีกล่าวหาว่า รับนาฬิกายี่ห้อ TAG HEUER ราคาประมาณ 85,500 บาท จากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติและมีมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคลแต่ละโอกาสเกินสามพันบาท
นายนิวัติไชย กล่าวว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2558 ซึ่งเป็นวันที่นายทวีป บุตรโพธิ์ เข้ารับตำแหน่งรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายทวีป บุตรโพธิ์ ได้รับนาฬิกายี่ห้อ TAG HEUER รุ่น WAY 2113, BA0910 SERIED RZE9871 ราคาประมาณ 85,500 บาท จากบุคคลที่มาแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ ซึ่งเป็นการรับทรัพย์สินจากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติและมีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคลแต่ละโอกาสเกินสามพันบาท
หลังจากรับนาฬิกาดังกล่าวมาแล้ว ได้นำกลับไปเก็บไว้ที่บ้านของตนเอง โดยมิได้แจ้งรายละเอียดข้อเท็จจริงและเหตุผลความจำเป็นในการรับทรัพย์สินไว้เป็นสิทธิของตนต่อผู้บังคับบัญชา จนกระทั่งมีการร้องเรียนกรณีดังกล่าวมายังสำนักงาน ป.ป.ช. นายทวีป บุตรโพธิ์ จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 25 ก.ย. 2562 รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับทรัพย์สินต่อผู้บังคับบัญชา และส่งมอบนาฬิกาคืนให้แก่กรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นการส่งมอบคืนภายหลังได้รับทรัพย์สินดังกล่าวมาเป็นระยะเวลา 3 ปี 11 เดือน
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของนายทวีป บุตรโพธิ์ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 103 ประกอบมาตรา 122 ประกอบประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2543 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ประกอบมาตรา 169) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป