‘พิธา’ งัด9ข้อสู้ ศาลรธน. ยกเคสเยอรมัน ไม่ต้องยุบก้าวไกล เตือน อย่าทำลาย ปชต.

‘พิธา’ งัด9ข้อสู้ ศาลรธน. ยกเคสเยอรมัน ไม่ต้องยุบก้าวไกล เตือน อย่าทำลาย ปชต.

“พิธา” แถลง 9ข้อต่อสู้คดียุบ “พรรคก้าวไกล” ชี้ “ศาลรธน.” ไม่มีอำนาจวินิจฉัย ยกเคส เยอรมัน พรรคNPD ชูแนวคิดนาซี ถูกฟันล้มล้าง แต่ไม่ยุบพรรค เหตุ ไร้หลักฐานพิสูจน์จะทำสำเร็จ แนะ ของก้าวไกล นิติบัญญัติยับยั้งได้ แถมหยุดการกระทำแล้ว ดักคอ ไม่ใช่หน้าที่ศาลฯ ทำลายประชาธิปไตย

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงถึง 9 ข้อต่อสู้คดี ล้มล้างการปกครอง จากนโยบายแก้ไข ม.112 ที่ศาลรัฐธรรมนูญ กำลังพิจารณายุบพรรคก้าวไกลหรือไม่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาคดียุบพรรค กระบวนการของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ให้โอกาสรับทราบ โต้แย้ง ปฏิเสธข้อกล่าวหาเป็นปฏิปักษ์ ไม่ใช่เรื่องนิติบุคคล โทษยุบพรรคต้องเป็นกรณีสุดท้าย และไม่จำเป็นต้องตัดสิทธิ์ทางการเมือง 44 สส.

นายพิธา กล่าวว่า 9แนวทางข้อสู้คดียุบพรรค แบ่งออกเป็น3ส่วน คือเขตอำนาจและกระบวนการ

1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้

2.กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่สองคือข้อเท็จจริง

3.คำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 ม.ค.67 ไม่ผูกพันกับการวินิจฉัยคดีนี้

4.การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์

5.การกระทำตามคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นมติพรรค ส่วนที่สาม สัดส่วนโทษ

6.โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น

7. ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.)

8. จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมือง ต้องได้สัดส่วนกับความผิด

9. การพิจารณาโทษ ต้องสอดคล้อง กับชุด กก.บห. ในช่วงที่ถูกกล่าวหา

"การกระทำในฐานะนิติบุคคลต้องผ่านมติ กก.บห. จริงๆ แล้วมีอยู่เรื่องเดียวคือการบรรจุเป็นนโยบายหาเสียง อันนี้เป็นเรื่องของพรรค ที่เหลือเรื่องการประกันตัว การที่สมาชิกของพรรคเป็นผู้ต้องหาคดี ม.112 การแสดงความเห็นในที่สาธารณะ นักการเมืองคนอื่นก็ทำกัน ช่วงดีเบตมีความคิดว่าต้องแก้ไข ม.112  หรือไม่ เป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และรัฐมนตรียุติธรรม หรือหัวหน้าพรรคอื่นๆ ก็มีสิ่งที่แสดงออกในเรื่องนี้กันทั้งนั้น" นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวว่า ร่างแก้ไข ม.112 ของก้าวไกล ไม่ได้เข้าสภา ถึงจะเข้าและมีการอภิปราย สภายับยั้งการแก้ไขได้ด้วยแนวทางของนิติบัญญัติ ศาลรัฐธรรมนูญเองก็มีสิทธิวีโต้ก่อนและหลังจากที่กฎหมายจะบังคับใช้จากสภาล่างและสภาสูง นอกจากนั้น ยังมีวิธีแก้ไขอื่น ถ้าเห็นว่าเป็นการกระทำที่ล้มล้างหรือเป็นปฏิปักษ์ สามารถแก้ไขยับยั้งได้ ไม่ได้ฉุกเฉิน เร่งด่วน ยกตัวอย่างศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนี ประเทศต้นแบบศาลรัฐธรรมนูญในประเทศไทย ถ้าอะไรจำเป็นฉุกเฉิน ฉับพลัน มีวิธีแก้ไข เขาจะใช้เป็นมาตรการสุดท้าย เพื่อเอาไว้ปกป้องประชาธิปไตย เมื่อปี 2017 พรรคNPD มีการแสดงออกด้วยแนวทางนาซีมาหาเสียง ก็มีคำร้องให้ศาลฯ ยุบพรรคเหมือนกัน ศาลฯวินิจฉัยว่าล้มล้างเสรีประชาธิปไตย แต่โทษไม่ยุบพรรค ด้วยเหตุที่ว่า ไม่มีหลักฐานเป็นรูปธรรมที่พิสูจน์ได้ว่าแนวคิดของพรรคNPD มีโอกาสจะประสบความสำเร็จได้ โดยไม่ได้ใกล้เคียงต่อผลถึงขนาดจำเป็นต้องยุบพรรค      

“โทษยุบพรรคในระบบประธิปไตยนั้นมีได้ แต่ต้องเป็นมาตรการสุดท้ายท้ายสุดจริงๆ ต้องฉุกเฉินจริงๆ ไม่ทำตอนนี้ประเทศชาติอาจจะไปต่อไม่ได้ ถ้าปล่อยไปจะเสียหาย ไม่สามารถย้อนกลับได้ ไม่มีวิธีอื่นแก้ไขแล้ว แต่ของพรรคก้าวไกลไม่ว่าจะเบรกของ กกต. เบรกในระบบนิติบัญญัติของตัวเอง และการกระทำที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น เมื่อมีคำวินิจฉัยออกมา พรรคก้าวไกลก็ได้หยุดการกระทำโดยการถอดนโยบาย ม.112 ออกจากเว็บไซต์ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการสุดท้ายในระบอบประชาธิปไตย ถ้าใช้แบบนี้ก็คือการทำลายประชาธิปไตยเสียเอง ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ” นายพิธา กล่าว