ปัจจัย ‘การเมือง’ กลับมา กระทบความเชื่อมั่นอีกแล้ว
รัฐบาลปัจจุบันกลับสร้างปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักธุรกิจต่างชาติ จึงไม่แปลงที่นักธุรกิจต่างชาติจะสอบถามประเด็นการเมืองเข้ามา โดยเฉพาะคำถามว่าจะมีการเปลี่ยนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐาหรือไม่
ในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง นับตั้งแต่การชุมนุมประท้วงที่นำมาสู่การรัฐประหารในปี 2549 และปี 2557 รวมทั้งการชุมนุมทางการเมืองที่ปิดถนนของกลุ่มการเมืองหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)
ถึงแม้ว่าจุดเด่นของประเทศไทยจะอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะไม่มีผลกระทบต่อนโยบายเศรษฐกิจหรือนโยบายส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงในระดับการรัฐประหารที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของบริษัทต่างชาติ แต่ขณะนี้หลังการจัดตั้งรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่ถึง 10 เดือน เริ่มมีคำถามจากนักธุรกิจต่างชาติถึงเสถียรภาพการเมือง ถึงแม้นักธุรกิจต่างชาติจะรู้ว่านโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทยจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ต้องการเห็นการเมืองที่มีเสถียรภาพ
คดีความที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหลายคดีทยอยถูกยื่นต่อศาล ไม่ว่าจะเป็นการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำวินิจฉัยกรณีนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงคดีของพรรคก้าวไกลในข้อกล่าวหาการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และคดีที่ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
องค์กรภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริษัทต่างชาติต่างถูกนักธุรกิจต่างชาติสอบถามถึงสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยออกมายอมรับว่าขณะนี้ต่างชาติเริ่มขาดความมั่นใจการเมืองไทยจะเดินไปอย่างไร ในขณะที่ประเทศไทยกำลังแข่งขันดึงการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยแข่งขันกับทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซียและเวียดนาม แต่การดึงการลงทุนหลายส่วนถูกประเทศเพื่อนบ้านแย่งชิงไปได้
รัฐบาลปัจจุบันมาจากการเลือกตั้งที่มีความได้เปรียบ 2 รัฐบาลก่อนหน้านี้ ในด้านความน่าเชื่อถือของที่มาตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถือว่าได้รับการยอมรับจากนานาประเทศสูงกว่า และทำให้ความเชื่อมั่นของรัฐบาลในการเจรจากับต่างประเทศสูงขึ้น แต่รัฐบาลปัจจุบันกลับสร้างปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักธุรกิจต่างชาติ จึงไม่แปลงที่นักธุรกิจต่างชาติจะสอบถามประเด็นการเมืองเข้ามา โดยเฉพาะคำถามว่าจะมีการเปลี่ยนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐาหรือไม่