“ทักษิณ” เปิดศึก คสช. ดิ้นปลดบ่วงคดี “112”

“ทักษิณ” เปิดศึก คสช. ดิ้นปลดบ่วงคดี “112”

ยิ่งใกล้วันที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องเดินทางไปพบพนักงานอัยการ เพื่อนำตัวส่งฟ้องศาล (18 มิ.ย.67)ความผิดหมิ่นสถาบันฯ หรือ ป.อาญา ม.112 และความผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ยิ่งทำให้กระแสข่าวการเมืองเดือดพล่านกลางฤดูฝน

ยิ่งกว่านั้น คนอย่าง “ทักษิณ” ไม่มีวันที่จะยอมจำนนกับคดีจนให้ตัวเองต้องคิดคุก หรือ ยอมแพ้ ก็ยิ่งท้ารบกับทุกคนที่ขวางหน้า ดิ้นพล่านเอาตัวรอด อย่างการเคลื่อนไหวล่าสุดที่เปิดศึกกับ “คสช.”(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ก็ไม่ต่างกัน 

“ทักษิณ” ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ขณะเดินทางไปเป็นประธานงานอุปสมบท นายสมิทธิพัฒน์ หลีนวรัตน์ ลูกชายคนสุดท้อง นายกฤษฎา หลีนวรัตน์ (นายกเบี้ยว) นายกเทศมนตรีตำบลธัญบุรี ยืนยันว่า วันที่ 18 มิถุนายน จะเดินทางไปพบพนักงานอัยการแน่นอน เพราะไม่มีเหตุอะไรให้ต้องเลื่อนอีกแล้ว หลังเลื่อนมาสองครั้ง 

ทั้งยังกล่าวถึงคดีหมิ่นสถาบันฯว่า ไม่เห็นมีอะไรเลย คดีนี้จะเป็นตัวอย่างให้คนเห็นว่า ตอนปฏิวัติยัดข้อหาอย่างไร เพราะคดีนี้ไม่มีมูลเลยแม้แต่นิดเดียว แต่พยายามตีความให้มีมูล แล้วพอคนหนึ่งสั่งฟ้องคนอื่นก็ไม่กล้าสั่งไม่ฟ้อง ก็เลยสั่งฟ้องๆ ทั้งๆที่ไม่ใช่หลักกฎหมาย มันไม่มีอะไรเลย 

ส่วนเรื่อง“ประกันตัวทักษิณ” ร้อง โอ้ย ไม่มีอะไรหรอก คดีแทบจะไม่มีมูล โดยคดีนี้เรียกว่าเป็นผลไม้เป็นพิษ ที่เกิดจากต้นไม้เป็นพิษ การทำคดีตั้งแต่ต้นที่มีการข่มขู่พนักงานสอบสวนโดยผู้บังคับบัญชา และในไลน์กลุ่มพวกนี้ก็ออกมาพูดความจริงหมด คดีไม่ควรจะเป็นคดี 

นอกจากนี้ ถามว่า(ที่ผ่านมา)ดีลไม่ได้เลยไม่ไปใช่หรือไม่ “ทักษิณ” ตอบสวนทันที ไม่เกี่ยวเลย ไม่เกี่ยวจริงๆ ถ้าจะมีคนวุ่นวายก็แถวบ้านในป่า ไม่เกี่ยวกับผม เกี่ยวกับรัฐบาล

ถามว่า บ้านในป่าคือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หรือไม่ “ทักษิณ” กล่าวว่า ไม่รู้ มีใครบ้างอยู่ในป่า ตนไม่รู้

ทั้งนี้ นัยว่า 40 ส.ว. ที่ยื่นเรื่องประธานวุฒิสภา ส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยการพ้นสภาพนายกรัฐมนตรี ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน ทนายความของ“ทักษิณ” เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ว่า “คุณสมบัติ” ขัดรัฐธรรมนูญ เป็นส.ว.ในสายของ พล.อ.ประวิตร นั่นเอง 

ด้านความเคลื่อนไหวในการต่อสู้คดีหมิ่นสถาบันฯ หรือ ป.อาญา ม.112 ของ “ทักษิณ” แม้ว่า ก่อนหน้านี้เคย ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และยื่นเรื่องขอความเป็นธรรม จนอัยการสูงสุด สั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติมมาครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนี้ ก่อนที่จะถึงกำหนดไปพบพนักงานอัยการ เพื่อส่งฟ้องศาล หลังอัยการสูงสุดสั่งฟ้องคดี ก็มีการยื่นขอความเป็นธรรมอีกครั้ง   

สาระสำคัญสรุปว่า คณะกรรมการสอบสวนขณะนั้น ถูก ข่มขู่จากรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนขาดความเป็นอิสระในการรวบรวมพยานหลักฐานทางคดี ทำให้นายทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาสั่งคดีจากอัยการสูงสุด จึงขอให้อัยการสูงสุด ทบทวนการสั่งฟ้อง ตาม ป.อาญามาตรา112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ใหม่อีกครั้ง เพื่อความยุติธรรมด้วย

จนนำมาสู่การตอบโต้ ของ นายตระกูล วินิจนัยภาค อดีตอัยการสูงสุด โดยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 

“ขอยืนยันด้วยเกียรติของลูกผู้ชายว่า ในฐานะเป็น อสส. ในขณะนั้น ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีอาญานอกราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 20 ไม่เคยมีใครข่มขู่ โน้มน้าว ชักจูง ให้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการสอบสวนครับ”

รวมทั้งโพสต์ ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาฯ เกี่ยวกับ #การร้องขอความเป็นธรรม  พร้อมระบุว่า 

“ไม่ว่าใครจะทำอะไร อย่างไร ผลลัพธ์เป็นประการใด ก็ขอให้เกรงใจและเคารพในหลักนิติธรรม(The rule of law )และความยุติธรรม(Justice) ด้วยนะครับ

ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน กรณี “ทักษิณ” ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมฉบับที่ 2 มาให้ทางอัยการอีก ทั้งที่มีคำสั่งฟ้องไปแล้ว

นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ อัยการประจำจังหวัดสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบายว่า ตามหลักการทั่วไป ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม แม้จะถูกอัยการสั่งฟ้องแล้วก็ตาม ยังสามารถยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมมาได้อีก ไม่มีกฎหมายหรือระเบียบอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาฯ ข้อใดห้ามไว้ โดยจะขึ้นอยู่กับเนื้อหา และพนักงานอัยการจะเป็นผู้พิจารณา หากเป็นการยื่นพยานหลักฐานใหม่ที่สามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ว่าไม่ได้กระทำผิด พนักงานอัยการก็อาจจะพิจารณาชะลอการสั่งฟ้องออกไป แล้วทำการสอบสวนใหม่

แต่ถ้าหนังสือร้องขอความเป็นธรรม มีเนื้อหาแค่การปฏิเสธ ว่าไม่ได้กระทำผิด หรือให้พิจารณาหลักฐานพยานเก่าที่เคยสอบสวนมาแล้ว ยื่นเพื่อเป็นการประวิงเวลาคดี ทางพนักงานอัยการก็มีอำนาจสั่งยุติการยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมได้ และผู้ต้องหาก็ต้องเข้าสู่กระบวนการสั่งฟ้องของศาลต่อไปตามกำหนด

นายนาเคนทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับหนังสือร้องขอความเป็นธรรมฉบับล่าสุดของนายทักษิณ นายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ อัยการสูงสุดก็จะเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งต่อไป

มาถึงตรงนี้ เห็นได้ชัดว่า แนวทางที่ “ทักษิณ” พยายามดิ้นสู้คดีม.112 ด้วยการโยนความผิดให้ “คสช.” ขณะยึดกุมอำนาจ “ยัดข้อหา” และข่มขู่พนักงานสอบสวน เพื่อให้สั่งฟ้องคดี ส่วนจะเข้าข่ายเป็น “หลักฐานใหม่” จนนำไปสู่การทบทวนคำสั่งฟ้องศาลของอัยการสูงสุดหรือไม่ วันที่ 18 มิถุนายนนี้ ก็คงได้รู้กัน 

กระนั้น ความเห็นของ นายเชาว์ มีขวด ทนายความ และอดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ก็น่าสนใจ

“เชาว์” โพสต์เฟซบุ๊ก “Chao Meekhuad” เรื่อง “คดี 112 ของทักษิณกับการประกันตัว” เนื้อหาระบุว่า ช่วงนี้มีคนนำมาตรา 112 มาเป็นประเด็นบนสื่อโซเชียลกันจำนวนมาก โดยเฉพาะคดีของนายทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง มาถึงประเด็นร้อนเกี่ยวกับการติดสินบนถุงขนมรอบสอง ทำนองว่า มีการติดสินบนศาลเพื่อให้ได้ประกันตัว ในฐานะทนายความที่ติดตามคดีมาตรา 112 มาโดยตลอด เห็นว่า ความผิดตามมาตรา 112 ถ้าจำเลยกระทำผิดครั้งแรก และพฤติการณ์ไม่ร้ายแรงจริงๆ ส่วนใหญ่ ศาลจะให้ประกันตัวทุกราย แต่ที่ไม่ให้ประกันตัว คือ คนที่ได้รับการประกันตัวแล้ว ทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว หรือคนที่กระทำความผิดซ้ำซาก ไม่เกรงกลัวกฎหมาย เพราะฉะนั้นข้อมูลที่มีการพูดกันในสื่อโซเชียลฯ อาจจะสร้างความเข้าใจผิด เกี่ยวกับอำนาจการปล่อยตัวชั่วคราวของศาล อย่าเอาคดี 112 มาโยงกับศาลเลยครับ เพราะอย่างที่อธิบายไปในตอนต้น คาดการณ์ได้ว่า ถ้านายทักษิณไปรายงานตัวก็น่าจะได้รับการประกันตัว

ขณะเดียวกัน “เชาว์” ชี้ว่า ประเด็นที่สังคมควรโฟกัสคือ การใช้เทคนิคทางกฎหมายเพื่อยื้อหรือทำให้ตัวเองหลุดคดี โดยใช้กระบวนการยุติธรรมตั้งต้นเป็นเครื่องมือต้องไม่เกิดขึ้น เพราะตอนนี้นายทักษิณวางกลยุทธ์ ใช้แผนเดิมคือ ขอความเป็นธรรมซ้ำอีก อ้างไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกกลั่นแกล้ง คนทำคดีในขณะนั้นถูกกดดัน ซึ่งก็มีคำยืนยันจากผู้เกี่ยวข้องแล้วว่า ข้อกล่าวอ้างของนายทักษิณไม่เป็นความจริง การที่นายทักษิณเพิ่งออกมาเปิดประเด็นใหม่ หลังใช้อาการป่วยมาเป็นเหตุผลให้การส่งฟ้องเลื่อนออกไป เห็นได้ชัดว่า เป็นเทคนิคทางกฎหมาย ที่จะอ้างว่า มีข้อเท็จจริง พยานหลักฐานต่างไปจากเดิม เพื่อให้มีการรับเรื่องขอความเป็นธรรม สอบสวนเพิ่มเติมในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ ถ้ามีการรับเรื่องขอความเป็นธรรม ต่อลมหายใจให้นายทักษิณ อัยการสูงสุดต้องมีคำชี้แจงที่ชัดเจนต่อสาธารณะว่า มีหลักฐานพยานใหม่อย่างไร ถ้าผู้ต้องหาใช้วิธีการแบบนี้ ยื้อ ประวิงเวลาไปเรื่อยๆ ความเป็นธรรมจะอยู่ตรงไหน ดังจะเห็นได้จากกรณี บอส อยู่วิทยา ที่ทำให้องค์กรอัยการได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียงมาแล้ว

“ผมคิดว่า อย่าวิจารณ์กันไปไกลว่าจะได้ประกันตัวหรือไม่ได้ประกันตัวเลยครับ แต่ให้จับตาหมากกลซ่อนเงื่อนเทคนิคทางกฎหมาย และการใช้ดุลพินิจของอัยการให้ดี เผลอๆ อาจจะหลุดในชั้นอัยการเป็นไปได้ ดูคดีของนายอิทธิพล คุณปลื้ม เป็นตัวอย่าง ส่งสำนวนกระชั้น ส่งฟ้องช้า จนเป็นเหตุให้นำตัวจำเลยส่งฟ้องไม่ทัน ทั้งอัยการและ ป.ป.ช. ทำขึงขังขอออกหมายจับใหม่ สุดท้ายก็ไปหลุดในชั้นศาล เทคนิคทางกฎหมายเหล่านี้คนธรรมดาทำไม่ได้หรอกครับ มีแต่คนที่มีอำนาจวาสนาเท่านั้น ที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมตั้งต้นบิดเบี้ยวได้” เชาว์ ระบุทิ้งท้าย

เหนืออื่นใด ที่น่าวิเคราะห์ก็คือ เหตุใด “ทักษิณ” จึงกล้าโยนความผิดให้กับ “คสช.” เพื่อให้หลุดบ่วงคดี ม.112 เพราะถ้าย้อนมององคาพยพของ “คสช.” แท้จริงแล้วก็คือ ฝ่าย “ขั้วอำนาจ” ที่ “ทักษิณ” พลิกขั้ว “ดีล” จัดตั้งรัฐบาล 

หรือว่า “คสช.” ในวันนี้ พร้อมยอมให้ “ทักษิณ” โยนบาปเพื่อเอาตัวรอด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด?

สุดท้าย การกล้าเปิดศึกกับ “คสช.” และ กล้าโยนบาปให้ “คสช.” เป็นต้นเหตุของการยัดข้อหา ม.112 รวมทั้งมีการข่มขู่ให้ฟ้องคดี อาจเป็นคำตอบ “ดีล” ของ “ทักษิณ” ใหญ่พอที่จะทำให้ดิ้นหลุดได้? 

หรือว่านี่เอง ที่ “ทักษิณ” ค่อนข้างมั่นใจว่า ไม่มีอะไร คดีไม่มีมูล ตีความให้มีมูล มันแค่ผลไม้เป็นพิษจากต้นไม้เป็นพิษเท่านั้น