รองเลขาฯ ปชป.ถาม 'เศรษฐา' รู้จักรดน้ำพรวนดินเศรษฐกิจหรือไม่ มีแต่กู้มาใช้

รองเลขาฯ ปชป.ถาม 'เศรษฐา' รู้จักรดน้ำพรวนดินเศรษฐกิจหรือไม่ มีแต่กู้มาใช้

รองเลขาฯ ปชป.ถาม 'เศรษฐา' รู้จักรดน้ำพรวนดินเศรษฐกิจหรือไม่ ซัดมีแต่กู้มาใช้เหมือนเทน้ำลงทราย จะหารายได้ชดใช้อย่างไร แนะฟังที่คนอื่นติงบ้าง

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2567 นายชนินทร์ รุ่งแสง รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เปิดเผยว่า จากการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 พรรคประชาธิปัตย์และหลายฝ่ายได้แสดงความเป็นห่วงและพูดถึงการกู้เงินจนเกินตัวของรัฐบาลจะก่อให้เกิดปัญหาฐานะการคลังและจะก่อให้เกิดหายนะของประเทศได้ ซึ่งความจริงแล้วตนอยากเน้นย้ำขีดเส้นใต้ 10 เส้นว่าไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขการกู้ แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่กู้มาแล้วจะใช้อย่างไร และจะมีหนทางหารายได้กลับมาชดเชยเงินกู้ได้อย่างไร ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลเศรษฐา ไม่ได้รู้จักคำว่า“รดน้ำพรวนดินเศรษฐกิจ”แต่เน้นการใช้เงินตอบสนองทางด้านการเมือง เหมือนเทน้ำลงในทรายหายไปไม่ได้คืนมา

นายชนินทร์ กล่าวว่า เศรษฐกิจประเทศไทยขณะนี้ มีปัญหาการเจริญเติบโตชะลอตัว ค่าครองชีพสูง ข้าวของแพง รายได้ประชาชนลด หนี้ครัวเรือนสูง ที่สำคัญหายนะกำลังเกิดจากหนี้สาธารณะที่กำลังจะเพิ่มสูงขึ้น จากการจัดทำงบประมาณกลางปี 2567 เพิ่มเติม และการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ส่วนของการจัดทำงบกลางปี 2567 นั้น ทำให้การกู้ขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีก 1.12 แสนล้านบาท เนื่องจากมีการตั้งเป้าจัดเก็บรายได้จากงบประมาณส่วนนี้ไว้เพียง 1 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นการกู้ขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติม ทำให้การขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 815,056 ล้านบาท ซึ่งตาม พ.ร.บ.การบริหารหนี้ ที่รัฐบาลจะกู้เงินในรอบนี้จะทำให้ไม่มีที่ว่างทางการคลัง สิ่งที่ต้องเป็นห่วงคือกู้เพิ่มแต่รัฐบาลไม่มีรายได้เพิ่มชัดเจนแน่นอน ซึ่งเกิดจากการกู้มาใช้ในลักษณะเทน้ำลงทราย

“จึงอยากถามไปถึงรัฐบาลโดยเฉพาะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯว่า รู้จักมั้ยการใช้นโยบายเศรษฐกิจแก้ไขแบบรดน้ำพรวนดิน ไม่ใช่เทน้ำลงทรายหายไปไม่เกิดดอกผล เช่นการกู้มาเพื่อแจก 5 แสนล้านบาท จริงอยู่ว่าแม้จะเป็นเรื่องดีที่ประชาชนมีเงินเพื่อจับใจใช้สอยในสิ่งที่จำเป็น แต่หากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมการใช้ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของไม่จำเป็นที่มาจากต่างประเทศ การซื้อของกับร้านค้าที่เจ้าของเป็นกลุ่มทุนใหญ่ ก็จะทำให้กลุ่มทุนนั้นได้ประโยชน์เต็มเต็ม ส่วนร้านข้าวแกง ร้านขายหมูปิ้ง ร้านโชห่วยในชุมชนไม่มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ การใช้จ่ายส่วนใหญ่ของประชาชนที่ได้รับเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวันที่จะต้องซื้อใช้อยู่แล้วไม่ได้เป็นการต้องซื้อเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ สิ่งเหล่านี้จะไม่ทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ และจะไม่คุ้มค่ากับการกู้มาใช้ ซึ่งนายเศรษฐาพูดว่าจากการคาดการณ์โครงการดิจิทัล วอลเล็ต 5 แสนล้านล้านบาท จะทำให้จีดีพีของประเทศโตขึ้น ซึ่งจากการประมาณการคาดการณ์ของแต่ละฝ่ายก็คือ 2.5% เท่านั้น และที่สำคัญไม่สามารถบอกได้ว่าจะกลับมาเป็นรายได้ให้รัฐบาลสามารถนำกลับมาใช้หนี้ ได้มากน้อยชัดเจนอย่างไร“ นายชนินทร์ กล่าว

นายชนินทร์ กล่าวอีกว่า จึงอยากจะฝากรัฐบาลให้ไปคิดเป็นการบ้านว่า ถ้าหากมาคิดเรื่องแก้เศรษฐกิจโดยการรดน้ำพรวนดินก็ควรจะต้องนึกถึง 3 สิ่งที่คิดจะนำเงินกู้ไปใช้ คือ1.ปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องมีการเยียวยากลุ่มเปราะบาง 2.การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นโครงการเล็กโครงการใหญ่ เป็นโครงการเพื่ออนาคต เพิ่อการสร้างงานสร้างอาชีพ เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำ และ 3.ใช้ในการเตรียมการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อการทำมาหากินของผู้คนในอนาคตและรายได้ของประเทศที่จะกลับคืนมา

นายชนินทร์ กล่าวด้วยว่า ผลกระทบของการที่ไม่มีพื้นที่การคลังเหลือมากพอ ประเทศก็จะเสี่ยง หากประเทศเกิดวิกฤติขึ้นมาเหมือนช่วงโควิด ซึ่งต้องกู้เงินเพิ่มเติมถึง 1.9 ล้านล้านบาทมาแก้ไขเยียวยา และที่สำคัญเมื่อสถานะทางการคลังมีปัญหา ประเทศจะถูกปรับลดความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของประเทศ เมื่อดอกเบี้ยขึ้นก็จะกระทบกับประชาชนโดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อย จึงอยากแนะนำรัฐบาลฟังความให้รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน นักวิชาการ โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐที่มีข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ มากขึ้นไม่ว่า จะเป็นสภาพัฒน์ฯ หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งต้องยอมรับว่า หน่วยงานเหล่านี้มีผู้ที่มีความรู้ความสามารถแต่ไม่สามารถหาเสียงหลอกประชาชนจนมามีอำนาจ บริหารประเทศได้เหมือนกับรัฐบาล