'ชัยธวัช' ชี้บทบาทพรรคต้องสร้างศรัทธา ปชช. ยันก้าวไกลไม่ทำสังคมเลี้ยวขวา

'ชัยธวัช' ชี้บทบาทพรรคต้องสร้างศรัทธา ปชช. ยันก้าวไกลไม่ทำสังคมเลี้ยวขวา

'ชัยธวัช' ร่วมเสวนา 92 ปี 24 มิ.ย. 2475 ย้ำเอกภาพขบวนการประชาธิปไตย ไม่ใช่เห็นเหมือนกันทั้งหมด แต่เป็นเรื่องระหว่างเป้าหมาย-วิธีการ ย้ำบทบาทพรรคการเมือง ต้องสร้างความเชื่อศรัทธาแก่ ปชช.ต่อระบบรัฐสภา ลั่น 'ก้าวไกล' เป็นฝ่ายค้าน แต่ไม่วิจารณ์ชี้นำให้สังคมเลี้ยวขวา

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2567 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดเสวนาหัวข้อ “เอกภาพขบวนการประชาธิปไตย สู่ ประชาธิปไตยสมบูรณ์ จากบทเรียน 2475 สู่อนาคต” โดยนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมเสวนา กล่าวตอนหนึ่งว่า เมื่อพูดถึง 24 มิ.ย. 2475 เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นระบอบที่ในยุคนั้นเรียกว่าราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ หลายคนในปัจจุบันอาจไม่คุ้นเคย เพราะในอดีตประชาธิปไตยใช้สำหรับระบอบการเมืองที่ประมุขของรัฐมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น 

นายชัยธวัช กล่าวว่า ระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ มีหลักการคืออำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ กล่าวคือปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง ใช้รูปแบบการเมืองประชาธิปไตยระบบรัฐสภา แต่เมื่อเวลาผ่านไป ภารกิจนี้ยังไม่สำเร็จ บทบาทของคณะราษฎรก็ถูกจำกัดและพ่ายแพ้ในทางการเมือง โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารครั้งแรกในปี 2489 ที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ และจบบทบาทของคณะราษฎรตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา

ตั้งแต่เริ่มแรก การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองถูกตอบโต้ตลอดเวลา นำโดยกลุ่ม Ultra Royalist หรือที่นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้ก่อการของคณะราษฎร เรียกว่า “ผู้เกินกว่าราชา” แต่การโต้การอภิวัฒน์นี้ไม่ได้หมายความว่าจะเปลี่ยนระบอบกลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบเดิม เพียงแต่ต้องการแต่งใหม่ให้ราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ กลายเป็นระบอบอื่นแบบแอบแฝงซึ่งอาจเรียกได้หลายชื่อ ชื่อล่าสุดที่เริ่มมีการพูดถึงอย่างเป็นระบบคือ “ราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาว่าคืออะไร ดังนั้นต้องยอมรับว่าภารกิจหรือจุดมุ่งหมายในการอภิวัฒน์ 2475 ยังไม่สำเร็จ มีการต่อสู้กันไปมาตลอดเวลา

\'ชัยธวัช\' ชี้บทบาทพรรคต้องสร้างศรัทธา ปชช. ยันก้าวไกลไม่ทำสังคมเลี้ยวขวา

ส่วนจะไปถึงประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้หรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ประชาธิปไตยอาจไม่มีทางสมบูรณ์ จุดเน้นของนายปรีดีเมื่อกล่าวถึง “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” สาระสำคัญไม่ใช่เฉพาะมิติทางการเมือง แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจด้วย แต่ไม่ว่าจะความหมายใด ระบอบประชาธิปไตยเป็น “โครงการที่ไม่สิ้นสุด” กล่าวคือแม้เราผลักดันให้เป็นประชาธิปไตยในแง่หลักการพื้นฐาน เกิดความเท่าเทียมเป็นธรรมในทางเศรษฐกิจมากขึ้นแล้ว การต่อสู้ทางประชาธิปไตยก็ยังลึกและซับซ้อนขึ้นไปเรื่อยๆ เช่น ประชาธิปไตยทางเพศ ทางภูมิอากาศ ทางเทคโนโลยี ดังนั้น ชุดคุณค่าเปลี่ยนไปตลอดเวลา ประชาธิปไตยจะบรรลุเมื่อไรคงตอบไม่ได้ มีแต่เข้าใกล้ไปเรื่อย ๆ เพียงแต่ตอนนี้ประเทศไทยยังสู้กันในประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานอยู่เลย 

นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า เมื่อเห็นหัวข้อเสวนาเรื่องเอกภาพในขบวนการประชาธิปไตย ดูเหมือนผู้จัดงานให้ความสำคัญหรือมีความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งในขบวนการประชาธิปไตย ทั้งมิติพรรคการเมือง นักกิจกรรม ปัญญาชน รวมถึงประชาชน สำหรับตนเห็นว่าเอกภาพมีความสำคัญ ทำให้การขับเคลื่อนมีพลังมากขึ้น แต่จากประสบการณ์ซึ่งตนอาจมีน้อยที่สุดบนเวทีนี้ เอกภาพของขบวนการในความหมายที่ว่าเราไม่มีความขัดแย้ง ไม่เห็นต่างกันเลย เห็นไปในทิศทางเดียวกันหมดทุกเรื่อง อาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างประชาธิปไตยในไทยหรือทั่วโลก และอาจเป็นสิ่งที่ไม่ควรนึกถึง เพราะอาจทำให้สังคมกลายเป็นสังคมที่ไม่พึงปรารถนา ความเห็นที่แตกต่างกันเป็นเรื่องปกติและควรเป็นส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยด้วย

\'ชัยธวัช\' ชี้บทบาทพรรคต้องสร้างศรัทธา ปชช. ยันก้าวไกลไม่ทำสังคมเลี้ยวขวา

นายชัยธวัช กล่าวด้วยว่า สิ่งที่คิดว่าอาจจะสำคัญกว่าเอกภาพในความหมายข้างต้น คือขบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทยให้ความสำคัญน้อยเกินไปกับเอกภาพระหว่างเป้าหมายและวิธีการ นี่อาจจะเป็นปัญหาในช่วงที่ผ่านมาและช่วงที่ตนมีประสบการณ์สัมผัสโดยตรง การผลักดันประชาธิปไตยในแต่ละกลุ่มไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน วิธีการคิดแตกต่างกันได้ แต่ไม่ว่าจะเห็นอย่างไร ทุกการตัดสินใจ ทุกจังหวะก้าวต้องไม่ลดทอนเป้าหมายคุณค่าที่เราอยากเห็น 
.
“ไปแค่ยอดมะพร้าว ยังไม่ถึงดวงดาว ไม่เป็นไร แต่การไปแค่ยอดมะพร้าวต้องไม่ลดทอนทำลายคุณค่าของเป้าหมายที่เราอยากไป หรือทำให้เกิดอุปสรรคกับเป้าหมายที่เราอยากจะไปถึง ผมให้ความสำคัญเรื่องนี้” นายชัยธวัช กล่าว 

หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยกตัวอย่างว่า รัฐประหารปี 2534 ประชาชนต่อต้านน้อยมาก เนื่องจากได้ขับไล่รัฐบาลที่เห็นว่าคอร์รัปชัน เป็นบุฟเฟ่ต์คาบิเนต และปี 2535 เป็นต้นมา ก้าวสำคัญของขบวนการประชาธิปไตยไทยคือการปฏิรูปธงเขียว มีรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเราเคยยกย่องว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุด แต่หากย้อนกลับไปรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบมาด้วยวิธีคิดบางส่วนที่มีปัญหาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือยอมรับว่าต้องมีประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง อยากเห็นรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ไว้วางใจนักการเมืองจากการเลือกตั้ง จึงไปออกแบบองค์กรอิสระเต็มไปหมด หวังให้มาตรวจสอบควบคุมนักการเมืองที่ไม่ดีจากการเลือกตั้ง ที่น่าสนใจคือไม่มีการพูดถึงการเพิ่มอำนาจสูงสุดของรัฐสภา แต่กลับเห็นชอบอย่างยิ่งกับการลดอำนาจของสภาฯ เพิ่มอำนาจให้นายกฯ นี่คือตัวอย่างความย้อนแย้ง 

ขณะที่นอกสภาฯ ความคิดที่เติบโตมากคือสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยทางตรง” เกิดขึ้นจากบริบทที่ว่าไม่เอาเผด็จการ ไม่เอาทุนผูกขาด ต้องการความเป็นธรรม แต่ไม่มีความเชื่อมั่นและศรัทธาในประชาธิปไตยระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง โดยไม่ตั้งใจแนวคิดแบบนี้กลายเป็นหนุนเสริมการลดทอนทำลายอำนาจของพี่น้องประชาชนที่แสดงออกผ่านระบบรัฐสภาผ่านการเลือกตั้ง และไปด้วยกันกับอนุรักษนิยมที่ต่อต้านประชาธิปไตย ซึ่งยังเป็นโจทย์ปัญหาจนถึงปัจจุบัน 

“นี่คือตัวอย่างของเอกภาพระหว่างวิธีการและเป้าหมาย คุณตรวจสอบรัฐบาลที่คุณไม่ชอบได้ แต่ต้องไม่เลยเส้นจนไปทำลายความชอบธรรมของประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้งเสียเอง” นายชัยธวัช กล่าว

\'ชัยธวัช\' ชี้บทบาทพรรคต้องสร้างศรัทธา ปชช. ยันก้าวไกลไม่ทำสังคมเลี้ยวขวา

นายชัยธวัช กล่าวถึงปัญหาของการปกป้องนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอย่างสุดขั้วตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ชนิดที่แตะไม่ได้ ถ้าแตะเท่ากับเป็นอนุรักษนิยม ตนคิดว่าในบริบทปัจจุบัน ปมความขัดแย้งที่สำคัญคือเกิดการปะทะกันว่าตกลงอำนาจสูงสุดในประเทศนี้อยู่ที่ใคร อยู่ที่ประชาชนหรืออำนาจที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน โดยพื้นที่ที่แสดงออกอย่างมีนัยสำคัญมากคือสภาฯ พรรคการเมืองจึงมีบทบาทสำคัญมากตามไปด้วย ตนเห็นว่านี่เป็นบรรยากาศทางการเมืองที่แตกต่างไปมากจากยุคที่ตนกล่าวถึงก่อนหน้านี้ ที่นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหัวก้าวหน้า แทบไม่สนใจการออกแบบสถาบันทางการเมืองเลย ดังนั้น เห็นว่าสำหรับพี่น้องประชาชนแล้ว พรรคการเมืองมีความสำคัญมากและละทิ้งไม่ได้ หากเห็นว่าพรรคที่มีอยู่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน ไม่สามารถตอบสนองเป้าหมายทางประชาธิปไตยได้ ก็ต้องช่วยกันสร้างพรรคการเมืองแบบนั้นขึ้นมา 

ส่วนพรรคการเมืองทำอะไรได้บ้างในบริบทนี้ นายชัยธวัช กล่าวว่า ต้องต่อสู้ผลักดันวาระประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปแบบ ทั้งเชิงระบบและเชิงโครงสร้าง เพื่อเพิ่มอำนาจของประชาชน และขณะเดียวกัน หากเราเข้าใจภูมิหลังของปัญหาว่าไม่ใช่แค่ฝั่งอนุรักษนิยมที่คอยทำลายประชาธิปไตย แต่ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมของพรรคการเมืองรวมถึงนักการเมือง หลายสิบปีที่ผ่านมาไม่สามารถสร้างศรัทธาและความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้ จึงสุ่มเสี่ยงว่าเมื่อเกิดวิกฤติทางการเมือง ประชาชนจะไม่สนใจปกป้องระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา รวมถึงไม่ปกป้องพรรคการเมือง ดังนั้นนอกจากการผลักดันวาระประชาธิปไตยแล้ว พรรคการเมืองต้องมีส่วนอย่างสำคัญในการกลับมาสร้างความเชื่อมั่นและความศรัทธาของประชาชนต่อระบบรัฐสภาให้ได้ 

“ส่วนจะมีความคิดเห็นแตกต่างอย่างไรก็ตาม ต้องไม่นำไปสู่การใช้วิธีการที่ลดทอนหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยเสียเอง วันนี้พรรคก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้าน เรามีหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล มีหลายเรื่องที่เราไม่เห็นด้วย แต่เรามีเส้นอยู่ว่าเราจะไม่ค้าน ไม่วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายบริหาร ด้วยวิธีการอะไรก็ได้ หากเราเห็นว่าวิธีการแบบนี้มันชวนให้สังคมเลี้ยวขวา ออกห่างจากคุณค่าหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย เราต้องไม่ทำ” นายชัยธวัช กล่าว