เริ่มแล้ว! เลือก สว.รอบไขว้ 800 คนคัดเหลือ 200 นั่งสภาฯสูง คาดเสร็จ 2 ทุ่ม
เริ่มแล้ว! เลือก สว.รอบไขว้ชิงดำ 800 คนคัดเหลือ 200 อรหันต์นั่งสภาฯสูง ตัวสำรองอีก 100 เลขา กกต.รับอาจล่าช้า เพราะต้องทำให้ชัดเจน คาดเสร็จประมาณ 2 ทุ่ม
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2567 เวลา 16.30 น. ที่อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี สถานที่จัดการเลือก สว.ระดับประเทศ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงสรุปภาพรวมหลังจากเสร็จสิ้นการเลือก สว.ระดับประเทศ รอบแรก โดยมีผู้สมัคร สว.ผ่านเข้ารอบเลือกไขว้จำนวน 800 คน (คะแนนสูงสุด 40 คนของแต่ละกลุ่ม รวม 20 กลุ่ม) ว่า นับตั้งแต่มีการเปิดให้มีการรายงานตัว และเริ่มกระบวนการเลือก สว.ระดับประเทศ รอบแรก ซึ่งเป็นการเลือกผู้สมัครในกลุ่มอาชีพของตนเอง มี 20 กลุ่ม ภาคเช้ามีผู้ไม่มารายงานตัว 6 คน ก็จะเหลือผู้มีสิทธิเลือก 2,989 คน การเลือกกันเองในรอบเช้าทั้ง 20 กลุ่มอาจใช้เวลา
นายแสวง กล่าวว่า บรรยากาศการเลือกโดยทั่วไปในสถานที่เลือก ขอขอบคุณผู้มีสิทธิเลือกทุกคน ได้ให้ความร่วมมือในการเลือกเป็นไปด้วยดี ในสถานที่ประชุม ทุกคนอยู่ประจำกลุ่ม มีผู้สังเกตการณ์ มาจากทั้งภาคเอกชน ทูตานุทูต องค์กรระหว่างประเทศอีกส่วนหนึ่ง ผู้ตรวจการการเลือกตั้งประจำกลุ่มทุกกลุ่ม เพื่อสอดส่องดูแลว่า เจ้าหน้าที่ กกต.ปฏิบัติตามระเบียบหรือกฎหมายหรือไม่ในการเลือกครั้งนี้
ทั้งนี้ในแต่ละกลุ่มจะมีกล้องวงจรปิดทุกกลุ่ม กลุ่มหนึ่งมีกล้อง 4 ตัว บันทึกเหตุการณ์มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง หรือในขณะเลือก หรือนับคะแนน มีเหตุการณ์อะไร ผู้สมัครได้ทักท้วงหรือไม่ การทักท้วงทุกครั้งสำนักงาน กกต.จะให้ใบทักท้วงไว้ ถ้าไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย จะใช้สิทธิช่องทางอื่นหลังจากวันนี้ได้ มีกล้องให้ดู มีการบันทึกทั้งภาพและเสียง เป็นประโยชน์ต่อผู้สมัคร และสำนักงาน กกต.ด้วย
นายแสวง กล่าวอีกว่า รอบแรกใช้เวลาเสร็จประมาณ 14.00 น. สาเหตุที่ล่าช้าเพราะต้องขานคะแนนให้ช้า ให้เกิดความชัดเจน และปริมาณที่ต้องอ่านบัตร 1 ใบ ต้องอ่าน 10 ครั้ง เพราะผู้มีสิทธิเลือก เลือกได้ไม่เกิน 10 สิทธิของการลงคะแนน ส่วนในรอบไขว้หลังจากนี้คาดว่าจะเสร็จได้ประมาณ 20.00 น. เพราะเวลาขานคะแนนทีละกลุ่ม ต้องใช้เวลา นี่คือภาพรวมโดยทั่วไป เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และการทักท้วงตามสิทธิของแต่ละคน เป็นการทักท้วงขณะที่ลงคะแนน หรือทักท้วงระหว่างขานคะแนน แต่ส่วนใหญ่เท่าที่ตรวจสอบจากผู้ตรวจการเลือกตั้ง เป็นการทักท้วงหลังทราบผลคะแนนแล้ว ไม่ได้ทักท้วงระหว่างนับคะแนน หรือขีดคะแนน ตรงนี้สำนักงาน กกต.ได้ให้ใบบันทึก และให้ไปใช้สิทธิทางศาล หรือช่องทางไหนก็ตาม เพราะในกระบวนการเลือกได้ผ่านพ้นไปแล้ว ท่านต้องไปใช้สิทธิตามกฎหมายต่อไป
ส่วน 800 รายชื่อ กลุ่มละ 40 คน รวม 20 กลุ่มจะเปิดเผยอย่างไร และจะมีการสลับกล้องวงจรปิดอย่างไร ให้สื่อสามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้น นายแสวง กล่าวว่า รายชื่อต้องเปิดเผยอยู่แล้ว เพราะเราประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไป และได้ปิดในสถานที่นับคะแนน ตรงนี้คงไม่มีปัญหา ส่วนเรื่องกล้องวงจรปิด ทำไว้เพื่อคุ้มครองทั้งผู้สมัคร และเจ้าหน้าที่เอง ถ้ามีการท้วงเรื่องนับคะแนน ศาลจะเรียกเอกสาร อาจเป็นทั้งพยานบุคคล และขอวงจรปิดไปซึ่งมีทั้งภาพและเสียง ว่าเวลาเขาอ่านคะแนน ได้ขีดหรือไม่ อยู่ในวงจรปิด จริง ๆ วงจรปิด 4 ตัวที่ทำแต่ละกลุ่ม ใช้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้เห็นว่า นอกจากการบันทึกเหตุการณ์ เกิดจาก กปร.ของเรา หรือคำทักท้วงของท่านแล้ว เรามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ใช้มาโดยตลอด ยกตัวอย่างในการเลือก สว.ระดับอำเภอ และจังหวัด ศาลก็ใช้หลักฐานนี้ เมื่อมีผู้ไปร้องเกือบ 20 คดี เราใช้หลักฐานนี้แสดงต่อศาลในการพิสูจน์ว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น นอกจากคำชี้แจงของ กปร. และของผู้ทักท้วง
เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า ส่วนวงจรปิดที่ส่งออกมาข้างนอก เป็นการให้เห็นภาพบรรยากาศของภายใน ไม่ได้เห็นถึงภาพกล้อง 80 กล้อง 20 กลุ่มอาชีพ กลุ่มละ 4 กล้อง แต่เรามีการสังเกตการณ์ระหว่างผู้สมัครกันเอง ซึ่งเป็นผู้ได้เสียโดยตรง เกิดเหตุอะไรสามารถทักท้วงได้ ไม่ว่าระหว่างลงคะแนนหรือไม่ เท่าที่ผมอยู่ข้างใน ท่านจะลุกเพียงครั้งเดียวคือ ไปเข้าห้องน้ำ นอกนั้นนั่งที่ของตนเอง ไม่มีอะไรผิดปกติในนั้น
เมื่อถามว่า ภาพรวมการติดตามกระบวนการ ทำอย่างไรถึงราบรื่น เพราะพอสลับไปมา สื่อจับใจความไม่ได้ว่าแต่ละกลุ่มคืออะไร บอร์ดลงคะแนน จะมีการย้ายข้างนอกหรือไม่ รวมถึงการประกาศผล นายแสวง กล่าวว่า ไม่แน่ใจทางเทคนิคว่า การที่จะให้ใช้ภาพออกมา จะให้ทางประชาสัมพันธ์คุยกับสื่อว่า ต้องการภาพแบบไหน เท่าที่เราทำได้ ยังมีเวลาอยู่ช่วงกว่าจะนับคะแนน ตอนนี้เรากำลังแจกเอกสารเพื่อการแนะนำตัวรอบไขว้ ใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะลงคะแนน จากนั้นจะเป็นการนับคะแนน ช่วงนับคะแนนสื่อน่าจะสนใจว่า ต้องการให้เราสื่อออกมาในภาพแบบไหน และน่าสนใจยิ่งกว่าคือ เพราะเราจะได้ 200 คนแล้ว และ 100 สำหรับสำรอง ตนจะรับไปเพื่อสื่อสารกับสำนักประชาสัมพันธ์ให้ว่า ทำอย่างไรได้บ้าง
ทั้งนี้เมื่อ 16.15 น. มีการจับสลากแบ่งสาย โดยส่งตัวแทนผู้สมัคร สว. ที่ผ่านการเลือกในรอบแรก เลือกกันเองในกลุ่ม เข้ามาร่วมจับสลากแบ่งเป็นสาย ก. ข. ค. ง. โดยผลการจับสลาก คือ
สาย ก. ได้แก่กลุ่ม 7 11 13 16 20
สาย ข. ได้แก่กลุ่ม 1 4 6 17 18
สาย ค. ได้แก่กลุ่ม 5 8 9 12 15
สาย ง. ได้แก่กลุ่ม 2 3 10 14 19
กลุ่มที่ 1 การบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง
กลุ่มที่ 2 กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
กลุ่มที่ 3 การศึกษา
กลุ่มที่ 4 การสาธารณสุข
กลุ่มที่ 5 อาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก
กลุ่มที่ 6 กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง
กลุ่มที่ 7 พนักงานหรือลูกจ้าง ที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน
กลุ่มที่ 8 กลุ่มอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน
กลุ่มที่ 9 กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม
กลุ่มที่ 10 กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากกลุ่มที่ 9
กลุ่มที่ 11 ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว
กลุ่มที่ 12 ผู้ประกอบอุตสาหกรรม
กลุ่มที่ 13 ผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม
กลุ่มที่ 14 สตรี
กลุ่มที่ 15 ผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น
กลุ่มที่ 16 ศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง นักกีฬา
กลุ่มที่ 17 ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์
กลุ่มที่ 18 สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม
กลุ่มที่ 19 ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
กลุ่มที่ 20 กลุ่มอื่นๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจับฉลากแล้วเสร็จ ผู้สมัครเดินเข้าไปนั่งประจำกลุ่ม โดย กกต.อยู่ระหว่างจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกรอบที่ 2 และจัดทำ ส.ว.3 เพื่อให้ผู้สมัครศึกษา ประมาณ 1 ชั่วโมง โดยจะเริ่มกระบวนการเลือกในรอบที่ 2 เลือกผู้สมัครกลุ่มอื่น ในสายเดียวกัน ในเวลาประมาณ 17.30 น.