200 สว.รับหนังสือจาก กกต.ครบแล้ว 'กำนันมาเรีย' ปัดเป็นตัวแทน 'ค่ายน้ำเงิน'

200 สว.รับหนังสือจาก กกต.ครบแล้ว 'กำนันมาเรีย' ปัดเป็นตัวแทน 'ค่ายน้ำเงิน'

200 สว.รับหนังสือรับรองจาก กกต.ครบแล้ว เหลือรายงานตัวกับสำนักเลขาวุฒิสภาฯ 15 ก.ค.วันสุดท้าย 'กำนันมาเรีย' ปัดเป็นตัวแทน 'ค่ายน้ำเงิน' เข้ามาทำหน้าที่ถูกต้องตามกลุ่ม ไม่ขอนิยามอยู่กลุ่มไหน

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เปิดให้ สว.ใหม่เข้ารับหนังสือรับรองอย่างเป็นทางการจาก กกต. หลังจากรับรองผลไปเมื่อ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำไปรายงานตัวต่อสำนักเลขาธิการวุฒิสภา ระหว่างวันที่ 11-12 และ 15 ก.ค.นั้น ในช่วงบ่ายวันนี้มี สว.มารับหนังสือจาก กกต.ครบถ้วนทั้ง 200 คนแล้ว โดยวันแรกรับหนังสือ 173 คน และวันนี้ 27 คน

โดยนายณภพ สายวิเศษกุล สว.จากกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว มารับหนังสือรับรองจาก กกต.เป็นคนสุดท้าย พร้อมกล่าวว่า หลัง กกต.ประกาศผล เมื่อได้รับทราบก็ได้จองเที่ยวบินเพื่อเดินทางมากรุงเทพฯแต่ที่ล่าช้า เพราะในช่วงสัปดาห์หน้า จะมีการแห่เทียนเข้าพรรษา เป็นงานใหญ่ของจังหวัดอุบลราชธานี ทำให้จะต้องเร่งจัดการงานให้แล้วเสร็จ ก่อนเดินทางมารับหนังสือ ยืนยันไม่ได้มีฤกษ์แต่ยึดตามความสะดวก โดยหลังจากรับหนังสือแล้วยังมีธุระที่จะต้องไปจัดการ จึงไม่สามารถไปรายงานตัวในช่วงเย็นวันนี้ได้ แต่จะไปรายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 15 ก.ค.นี้

วันเดียวกัน น.ส.มาเรีย เผ่าประทาน หรือ "กำนันมาเรีย" สว.จากกลุ่ม 6 อดีตผู้สมัคร สส.ประจวบคีรีขันธ์ พรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับหนังสือรับรองที่สำนักงาน กกต. ว่า ดีใจที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็น สว. เพราะถือว่าสำเร็จมาในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ การที่มาสมัครก็เป็นความตั้งใจ ก่อนหน้านี้เป็นกำนันมากกว่า 10 ปี คลุกคลีอยู่กับรากหญ้า ชาวบ้าน และเห็นปัญหาที่ต้องการการช่วยเหลือ ผลักดัน และรู้สึกว่าหากมีโอกาส เนื่องจากที่ผ่านมาอยู่ในระดับล่างและฝากปัญหาขึ้นมาก็ไม่ถึง มาถึงจุดนี้เมื่อมีโอกาสทำได้ก็จะทำ เป็นอีกหนึ่งเวที

น.ส.มาเรีย กล่าวอีกว่า ในอดีตก็เคยสมัคร สส.มาแล้ว เป็นความตั้งใจที่เคยให้สัญญาไว้กับชาวบ้านว่าจะช่วยในด้านใดบ้าง และการสมัคร สว.ในกลุ่มอาชีพก็สมัครได้ตรงกลุ่ม ที่ครอบครัวได้ทำฟาร์มโคเนื้อ จึงสมัครกลุ่ม 6 ปศุสัตว์ ป่าไม้ อีกทั้งพื้นที่ที่เคยดูแลก็เป็นพื้นที่ทำประมง จึงเป็นความตั้งใจที่จะเข้ามาเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้เลี้ยงสัตว์และชาวสวนมะพร้าว คาดหวังว่าจะได้ทำตามที่ตั้งใจไว้ก่อนที่จะสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คิดว่าจะสามารถเป็นผู้แทนของชาวบ้านเพื่อเอาปัญหาต่างๆ เข้าไปให้สภารับทราบและดำเนินการแก้ไข ช่วยเหลือ แต่วันนั้นยังไม่สำเร็จ พอมีเวที สว.ก็เลยเป็นโอกาสว่าถ้าเราได้มีโอกาสใช้เวทีนี้ นำปัญหาเข้ามาเพื่อจะแก้ไข ประกอบกับการทำหน้าที่ของ สว.เกี่ยวกับการออกกฎหมายนิติบัญญัติ เชื่อว่าส่วนนี้น่าจะมาช่วยเหลือในหลายๆ อย่างได้

เมื่อถามว่าการที่เคยลงสมัคร สส.ในนามของพรรคภูมิใจไทย การมาเป็น สว.จะถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับพรรคจะชี้แจงอย่างไร น.ส.มาเรีย กล่าวว่า คิดว่าไม่ต้องชี้แจง เพราะในการสมัคร สส. ทุกคนก็ต้องมีสังกัดพรรคการเมือง นั่นคือเรื่องอดีตของทุกคน แต่นี้คือปัจจุบันและอนาคต และด้วยระเบียบกฎหมาย ก็ระบุชัดเจนว่าผู้สมัคร สว.ทุกคนต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง นั่นถือเป็นเรื่องอดีต แต่ปัจจุบันเมื่อทุกคนก้าวเข้ามาสู่เวทีนี้แล้ว ต้องดูว่าบทบาทตำแหน่งหน้าที่นี้คืออะไร เราจะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหนตามหน้าที่นั้น ก็เลยคิดว่าไม่น่าจะต้องพาดพิงไปถึงพรรคการเมืองใดๆ

เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับ สว.สายสีน้ำเงิน น.ส.มาเรีย กล่าวว่า ไม่เกี่ยว เพราะมีความตั้งใจที่จะเข้ามาตรงนี้อยู่แล้ว และคุณสมบัติส่วนตัวกับการประกอบอาชีพอยู่ในแวดวงการเกษตรทั้งหมด ทั้งสวนมะพร้าวและประมง จึงตอบโจทย์ที่ตัวเองจะเข้ามาและตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหา

“ไม่ได้เป็นตัวแทนใครมาสมัคร ถ้าเป็นตัวแทน เราเป็นตัวแทนของเกษตรแปลงใหญ่มะพร้าวมาหลายปี และเป็นสภาชุมชน ช่วยเหลือชาวบ้านมาก่อน รวมถึงเป็นที่ปรึกษาประมงท้องถิ่น จึงขอเป็นตัวแทนภาคประชาชนเหล่านี้” น.ส.มาเรีย กล่าว

เมื่อถามถึงการเลือกผู้เหมาะสมมาเป็นประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภานั้น น.ส.มาเรีย กล่าวว่า ไม่ได้สนใจและยังไม่ได้คิดในขั้นต่อไป ใครจะเป็นตำแหน่งอะไร โดยสนใจแค่เรื่องของตัวเองว่าวันนี้เข้ามาเวทีนี้ และสำเร็จที่เข้ามาได้แล้ว และนึกถึงแค่ว่าตัวเองจะทำอะไรต่อไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนใครจะเป็นอะไร ไม่ได้นึกต่อ และไม่ได้ดูประวัติว่าใครเหมาะสม โดยจะไปดูตอนเลือกและตัดสินใจ ยืนยันว่ายังไม่ได้รับการติดต่อจากเพื่อนสมาชิก ไม่มีคนในดวงใจ รวมทั้งไม่ขอนิยามตัวเองเป็น สว.กลุ่มใด รู้แค่เพียงจะเข้ามาทำหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ที่ สว.จะทำได้เท่านั้น