'กมธ.นิรโทษกรรม' ปิดจ็อบ โยนล้างผิดม.112 ให้สภาพิจารณา

'กมธ.นิรโทษกรรม' ปิดจ็อบ โยนล้างผิดม.112 ให้สภาพิจารณา

กมธ.นิรโทษกรรม แถลงคนละที หลังปิดจ็อบ สรุปรายงาน เตรียมส่งสภาฯ พรุ่งนี้ "ก้าวไกล" ย้ำเห็นด้วยล้างผิด ม.112 บี้ "รัฐบาล" ใช้กลไกบริหาร ชะลอฟ้องคดี

ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้แถลงผลการประชุมนัดสุดท้าย ซึ่งมีข้อสรุปต่อรายงานทั้งฉบับ และเตรียมเสนอให้ นายวันมูหะนัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯในวันที่ 26 ก.ค. ทั้งนี้เป็นที่สังเกตว่า กมธ.ในส่วนของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ผลัดกันแถลงคนละที

เริ่มจากการแถลงภาพรวม โดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะประธาน กมธ. แถลงว่า กมธ. ได้ทำงานแล้วเสร็จ โดยได้สรุปรายงานเพื่อส่งให้กับสภาพิจารณา ทั้งนี้มีหลักการสำคัญที่สรุปได้ คือ การนิรโทษกรรมคดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่ปี2548 ถึงปัจจุบัน โดยการนิรโทษกรรมใช้รูปแบบของคณะกรรมการ มีบัญชีแนบท้ายคดีประเภทใดที่ควรนิรโทษกรรม เพื่อให้กรรมการพิจารณาคดีประเภทใดได้นิรโทษกรรมและคดีใดที่เข้าเงื่อนไข ส่วนคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงจะไม่ถูกนิรโทษกรรม

นายชูศักดิ์ แถลงด้วยว่า สำหรับคดีที่ความอ่อนไหว คือ ผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 แเละ มาตรา 112  กมธ. ได้ทำความเห็นเสนอต่อสภาฯ โดยแยกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรม กลุ่มเห็นควรนิรโทษกรรมโดยไม่มีเงื่อนไข และกลุ่มที่เห็นควรให้นิรโทษกรรมแต่มีเงื่อนไข เช่น ให้ กรรมการพิจารณาผู้ที่เป็นจำเลยมีเหตุจูงใจอย่างไร ต้องมีการสอบถามและแถลงข้อเท็จจริง หรือ ตั้งเงื่อนไขห้ามกระทำความผิดซ้ำ เป็นต้น ทั้งนี้เงื่อนไขดังกล่าวกรรมการจะเป็นผู้กำหนด นอกจากนั้นมีข้อเสนอให้มีมาตรการทางบริหารก่อนการนิรโทษกรรมที่จำเป็น เช่น การสั่งไม่ฟ้องคดีที่ค้างอยู่ในการสอบสวน แต่เป็นคดีความผิดเล็กน้อยแต่เกี่ยวข้องกับการเมือง เช่น ผิดกฎหมายจราจร  ซึ่งรัฐบาลต้องรับไปพิจารณา เพื่อเร่งรัดให้ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเกิดขึ้นและทำให้เกิดการประนีประนอม

ต่อจากนั้น เป็นการแถลงของกมธ.สัดส่วนพรรคก้าวไกล นำโดย นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฐานะกมธ. แถลงว่า กมธ.ในส่วนของพรรคก้าวไกล เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 แต่เนื่องจากมีความเห็นที่หลากหลายทำให้กมธ.ต้องเสนอความเห็นของกมธ.เพื่อให้สภาพิจารณา โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม  กลุ่มที่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมเหมือนกับคดีอื่นๆ และกลุ่มที่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข เช่น  มีมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ  มีเวทีแถลงของผู้กระทำผิด รวมถึงอาจมีเวทีสานเสวนา เป็นต้น   

นายชัยธวัช กล่าวด้วยว่ามีข้อเสนอ ละเมิดเงื่อนไขจะเสียสิทธิการได้นิรโทษกรรม หรือการรายงานตัวเป็นระยะ หรือการสร้างมาตรการร่วมกันในการสร้างความปรองดอง ทั้งนี้มีข้อเสนอของกมธ.ที่คล้ายกัน เช่น ไม่นิรโทษกรรม คดีมาตรา 112 ทันที แต่ต้องใช้เวลา เข้ากระบวนการ เช่น ชะลอคดี สานเสวนา เป็นต้น

“มีข้อเสนอด้วยว่าระหว่างที่ไม่มีกฎหมาย รัฐบาลควรเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมต่อสภาโดยเร็ว และระหว่างรอควรใช้กลไกของกฎหมายที่มีอยู่ โดยรัฐบาลฐานะฝ่ายบริหารต้องมีนโยบายอำนวยความยุติธรรมออกมา เช่น การชะลอฟ้อง ให้สิทธิการประกันตัว หรือ จำหน่ายคดีชั่วคราวโดยประสานงานไปยังองค์กรในกระบวนการยุติธรรม” นายชัยธวัช กล่าว

นายชัยธวัช กล่าวด้วยว่าสำหรับข้อสรุปต่อประเด็นการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112  ในกมธ.มีความเห็นต่างกัน ซึ่งได้หาแนวทางพอที่จะยอมรับกันได้ ทั้งนี้ในรายงานมีความเห็นทุกฝ่าย และวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย อย่างรอบด้าน เพื่อให้สภาพิจารณาอย่างรอบด้าน ตนหวังว่าบรรยากาศในสภาที่จะพิจารณารายงานดังกล่าวจะเป็นไปอย่างมีวุฒิภาวะ เพราะหากสภาฯ บรรยากาศไม่ปรองดอง ไม่รับฟังกัน การออกกฎหมายเพื่อลดความขัดแย้งอาจไม่บรรลุเป้าหมาย.