'ชัยธวัช' ยังมั่นใจ 'ก้าวไกล' รอดยุบพรรค เชื่อปฏิญญาเขาใหญ่ไม่โยง 2 คดีร้อน

'ชัยธวัช' ยังมั่นใจ 'ก้าวไกล' รอดยุบพรรค เชื่อปฏิญญาเขาใหญ่ไม่โยง 2 คดีร้อน

'ชัยธวัช' ยังมั่นใจ 'ก้าวไกล' ชนะคดีรอดยุบพรรค ปัดได้รับสัญญาณ อุบชื่อพรรค-หัวหน้าพรรคใหม่ เชื่อ 'ปฏิญญาเขาใหญ่' ไม่โยง 2 คดีการเมืองร้อน ชี้รัฐบาลดื้อรั้นนโยบายเรือธงเศรษฐกิจ เก็บข้อมูลรอเปิดซักฟอกแน่แต่ยังไม่เคาะวัน

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2567 นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องคดียุบพรรค ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 7 ส.ค. ว่า ยังมั่นใจเหมือนเดิม ในแง่ที่ ยิ่งต่อสู้คดี ก็ยิ่งมั่นใจ ทั้งในข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ตนพูดหลายครั้ง อย่าเพิ่งไปสรุปว่า ยุบพรรคก้าวไกล แน่นอน  

เมื่อถามถึงกรณี ที่ให้สัมภาษณ์เมื่อหลายวันก่อนว่า เขาว่าอาจจะไม่ยุบพรรคแล้ว เขา ในที่นี้หมายถึงใคร นายชัยธวัช กล่าวว่า พูดถึงความเห็นของหลาย ๆ คนที่ตนพบปะด้วย จากเดิมช่วงตอนเริ่มต้นคดีคนเกือบจะ 100% ฟันธงไปแล้ว เมื่อมีคำวินิจฉัยที่ 3/2567 ออกมาพรรค ก.ก.น่าจะถูกยุบแน่นอน แต่หลังจากนั้นจนมาถึงปัจจุบัน ความคิดเห็นเริ่มจะเปลี่ยน ในหลาย ๆ คนโดยเฉพาะหลังจากฟังแนวทางการต่อสู้ของพรรคก.ก. รวมถึงอาจจะประเมิณสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย ก็เห็นว่า พรรค ก.ก.อาจจะมีโอกาสชนะคดีนี้ก็ได้ 

เมื่อถามย้ำว่า เขาในที่นี้ไม่หมายความว่า ได้รับสัญญาใดมาใช่ไหม นายชัยธวัช กล่าวว่า "ไม่มี ๆ" 

นายชัยธวัช กล่าวอีกว่า การเตรียมการเรื่องชื่อพรรคใหม่ ของพรรค ก.ก. ตอนนี้ ยังไม่จำเป็น แต่ผู้บริหารเตรียมทุกสถานการณ์ความเป็นไปได้ บริหารจัดการสถานการณ์ได้อย่างดีที่สุด ถามว่าวันนี้หัวหน้าพรรคจะเป็นใคร หรือพรรคใหม่ ชื่ออะไร ยังไม่ถึงเวลาพูดคุยเรื่องนั้น

เมื่อถามย้ำเรื่องชื่อพรรคใหม่ จะไม่ใช้ชื่อว่า "ก้าวใหม่" ใช่หรือไม่ นายชัยธวัช หัวเราะพร้อมกับกล่าวว่า "ไม่รู้ ยังไม่ได้พูดคุยกัน เพราะยังมีโอกาสชนะอยู่ ถ้ารีบไปคุยกันเรื่องพรรคใหม่ ก็เป็นการส่งสัญญาณผิด ๆ" 

เมื่อให้ประเมินกรณีภาพ "ปฏิญญาเขาใหญ่" ที่ปรากฏออกมาในช่วง 2 คดีใหญ่ทางการเมือง คือคดีคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี กับคดียุบพรรค ก.ก. จะชี้ขาดในเดือน ส.ค.นี้ นายชัยธวัช กล่าวว่า ถ้าให้ประเมินก็อาจไม่ได้เกี่ยวกับคดีความต่าง ๆ แต่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ประกาศตัวมาแล้วล่วงหน้าว่า กำลังจะกลายเป็นผู้บริสุทธิ์หลังจาก วันที่ 22 ส.ค. อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่อาจมีการพูดคุยกันถึงบทบาทนายทักษิณหลังจากนี้ แม้ว่านายทักษิณ ไม่ใช่รัฐบาลอย่างเป็นทางการ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความสัมพันธ์ โดยตรงกับพรรคเพื่อไทย (พท.) และ ครม.

"ดูเหมือน ว่าภายในรัฐบาลต้องการกระชับความสัมพันธ์ เพราะอาจจะมีปัญหาภายใน และนอกจากความเห็นประชาชนที่มีต่อรัฐบาล ที่ไม่สามารถจะส่งมอบนโยบาย ไม่มีผลงานที่เป็นที่พอใจของประชาชน มันกระทบกับรัฐบาลโดยรวมทุกพรรค ดังนั้น รัฐบาลอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดีนักจึงจำเป็นจะต้องพูดคุยถึงทิศทางที่ชัดเจน ป้องกันไม่ให้เกิดความแตกแยก น่าจะเป็นแง่นี้" นายชัยธวัช กล่าว

นายชัยธวัช กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน ภาพบุคคลต่าง ๆ ที่มาตีกอล์ฟ รวมถึงนักธุรกิจใหญ่สำคัญในธุรกิจพลังงานด้วย ทำให้ประชาชนยิ่งตั้งคำถามกับรัฐบาล ภาพนี้ส่งผลต่อความไม่มั่นใจ โดยเฉพาะนโยบายเรื่องราคาพลังงาน หรือการลดการผูกขาดของทุนใหญ่ อันนี้ก็ที่เห็นปฏิกิริยาของประชาชน จะเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ด้วยเหมือนกัน 

เมื่อถามว่า เมื่อประมวลภาพการทำงาน เริ่มเห็นความผิดพลาดของรัฐบาล จะถึงขั้นเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้แล้วหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นไปอย่างที่เราเคยอภิปรายทักท้วงไว้ ตั้งแต่เริ่มแถลงนโยบายต่อสภาฯ มีแต่คำพูดลอย ๆ ไม่เห็นยุทธศาสตร์ ไม่เห็นแผนปฏิบัติ ต่างคนต่างทำ ไม่มีแผนงานที่เป็นเอกภาพ ต่างคนต่างอยู่ ที่น่าเป็นห่วง คือนโยบายเรือธงด้านเศรษฐกิจรัฐบาลดื้อรั้น น่าเสียดายถ้ารัฐบาลจะไม่ทบทวน เลยเมื่อวันแถลงข่าว นักข่าวพยายามถามถึงเม็ดเงินที่ใช้ จะคุ้มค่าหรือไม่ ก็ตอบไม่ได้ ไม่ตอบสักคำเดียว แสดงว่า แม้กระทั่ง ครม.เอง ก็ไม่กล้ายืนยันแล้ว ที่บอกว่าจะเกิดพายุทางเศรษฐกิจ

เมื่อถามถึง ความเป็นไปได้ในเรื่องการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า มีการหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านบ้างแล้ว ทั้งเรื่องการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา  152 รวมถึงอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ  ตามมาตรา 151 ก็คือเตรียมอยู่ เราเห็นว่า ถ้าเกิดมีข้อมูล เพียงพอ และจำเป็นต้องอภิปราย 151 ก็อภิปรายได้เลย อันนี้มีการพูดคุยบ้างแล้ว แต่ยังไม่กำหนดตายตัว