“บูรณุปกรณ์” บนทางแยก เลือกหนทาง “ชินวัตร-ก้าวไกล”
ศึกนายก อบจ.เชียงใหม่ ต้นปี 2568 ต้องจับตา หลังปีที่แล้ว เพื่อไทยพ่ายก้าวไกล สูญเสียแชมป์ รอบนี้ "ตระกูลชินวัตร" ที่มีเชียงใหม่เป็นบ้านเกิด และ ที่มั่นการเมืองจะทวงคืนได้หรือไม่
KEY
POINTS
Key Point :
- จ.เชียงใหม่ คือ บ้านเกิด และ ฐานที่มั่นการเมืองของ "ตระกูลชินวัตร"
- เลือกตั้งรอบที่ผ่านมา "เพื่อไทย" เสียแชมป์ให้ "ก้าวไกล"
- ศึกการเมืองที่ต้องจับตา คือ การเลือกนายก อบจ.เชียงใหม่ ต้นปี2568
- พรรคก้าวไกล เปิดตัว "พันธุ์อาจ ชัยรัตน์" ขณะที่ พรรคเพื่อไทย เลือก "พิชัย เลิศพงศ์อดิศร"
- แต่ที่ต้องจับตา คือ "คนเบื้องหลัง" โดยเฉพาะ ตระกูลบูรณุปกรณ์ที่ มีเส้นทางเดิน 2 สายชัดเจน
26 ก.ค.2567 วันเกิด ทักษิณ ชินวัตร อายุครบ 75 ปี ยังคงจะเดินไปบนเส้นทางการเมือง และหนึ่งในภารกิจนั้นคือ การรักษาเก้าอี้ นายก อบจ.เชียงใหม่
เชียงใหม่เป็นบ้านเกิดตระกูลชินวัตร และเป็นที่มั่นการเมืองของทักษิณ มาแต่ยุคพรรคไทยรักไทย
ปีที่แล้ว เพื่อไทยพ่ายก้าวไกล สูญเสียแชมป์ สส.เชียงใหม่ และหากต้องพ่ายศึกนายก อบจ.เชียงใหม่ ในต้นปี 2568 ก็เท่ากับทักษิณ ไม่เหลือที่ยืนทางการเมืองในบ้านเกิด
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกล ยกทีมไปจัดอีเวนท์เปิดตัว พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ อีกครั้งหนึ่ง
ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เปิดเผยว่า นายกไก่-ทัศนัย บูรณุปกรณ์ จะมา ผอ.เลือกตั้งท้องถิ่น ให้กับทีมก้าวไกลเชียงใหม่
อันเนื่องมาจาก พันธุ์อาจ รู้จักเป็นการส่วนตัวกับทัศนัย ไม่ใช่พี่สาว ทัศนีย์ ส่งมาเป็นตัวแทน ไม่ใช่ตระกูลบูรณุปกรณ์ สนับสนุนค่ายสีส้ม
ชัยธวัชยอมรับว่า กุ้ง-ทัศนีย์ ไม่ใช่แค่เป็นแนวร่วมหรือกองหนุน แต่มีสถานะเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกลที่ทำงานด้วยกัน ไม่ว่าจะในระดับท้องถิ่นและระดับชาติในอนาคต
ขณะที่ “บูรณุปกรณ์” อีกสายหนึ่ง อัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ กลับมีความใกล้ชิดกับตระกูลชินวัตร
อย่างช่วงที่ทักษิณ กลับไปเยี่ยมบ้านเกิด-เชียงใหม่ 2 ครั้ง นายกหน่อย-อัศนี บูรณุปกรณ์ ได้มาต้อนรับทักษิณอย่างใกล้ชิด รวมถึงการจัดงานที่บ้านเจ๊แดง นายกหน่อยก็ไปร่วมงานด้วย
การขยับตัวของสองพี่น้อง “ทัศนีย์-ทัศนัย” ที่เข้าไปช่วยงานพรรคก้าวไกล ในสมรภูมินายก อบจ.เชียงใหม่ ทำให้เห็นร่องรอยความแตกต่างทางความคิดของคนในบ้านใหญ่บูรณุปกรณ์
ในประวัติศาสตร์การเมืองท้องถิ่นล้านนา ตระกูลบูรณุปกรณ์ เริ่มต้นมาจากเปิดร้านขายของชำในกาดหลวงหรือตลาดวโรรส ก่อนจะขยายไปทำธุรกิจร้านขายผ้าพัฒนาเป็นบริษัท เชียงใหม่ทัศนาภรณ์ จำกัด และบริษัท เชียงใหม่สุดาลักษณ์ จำกัด
ต้นตระกูลบูรณุปกรณ์ นายใช้แต่งงานกับนางจิตรา และมีทายาท 11 คน ประกอบด้วย
- ชัยทัศน์ บูรณุปกรณ์
- พรทัศน์ บูรณุปกรณ์
- สมจิตร บูรณุปกรณ์
- สมพร สุวรรณธนาทิพย์
- สมร พาณิชย์พิศาล
- ประพันธ์ บูรณุปกรณ์
- อารีย์ อุดมศิริธำรง
- วิชิต บูรณุปกรณ์
- วิไล บูรณุปกรณ์
- บุญเลิศ บูรณุปกรณ์
- ปกรณ์ บูรณุปกรณ์
ทายาทของนายใช้ ที่เข้าการเมืองมีอยู่ 3 คนคือ ประพันธ์ บูรณุปกรณ์ อดีต สว.เชียงใหม่ ,บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายก อบจ.เชียง ใหม่ และปกรณ์ บูรณุปกรณ์ อดีต สส.เชียงใหม่
ปกรณ์ ทายาทคนสุดท้องของตระกูล ก้าวสู่ การเมืองท้องถิ่น ปี 2538 ในนามสมาชิกกลุ่มนวรัฐพัฒนา ของ เสธ.ม่อย-พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย และบุษบา ยอดบางเตย
ปีนั้น กลุ่มนวรัฐพัฒนา โค่นกลุ่มอานันทภูมิ ยึดเทศบาลนครเชียงใหม่ได้สำเร็จ แต่ปรณ์เป็นแค่สมาชิกสภาเทศบาล
ต่อมา ปกรณ์ได้รวบรวม สท.สาย เสธ.ม่อย แยกตัวออกมาตั้งกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม เอาชนะบุษบา ยอดบางเตย ได้เป็น นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ติดต่อกัน 2 สมัย(ปี 2541-2543)
ปลายรัฐบาลชวน 2 ปกรณ์ได้เข้าร่วมงานกับพรรคชาติพัฒนา เตรียมลงสมัคร สส.เชียงใหม่ ภายหลัง เจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ได้เจรจาให้ตระกูลบูรณุปกรณ์ ไปสังกัดพรรคไทยรักไทย สนับสนุนทักษิณ เป็นนายกฯ
เมื่อ ปกรณ์ เป็น สส.เชียงใหม่ ก็ดันพี่ชาย บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ลงสนามท้องถิ่น ได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่
ปี 2546 ปกรณ์ส่งหลานสาว กุ้ง-ทัศนีย์ ทายาทของ พรทัศน์ บูรณุปกรณ์ และ ผ่องศรี บูรณุปกรณ์ ไปยึดเทศบาลตำบลช้างเผือก ซึ่งกุ้ง-ทัศนีย์ เป็นนายกเทศมนตรี 2 สมัย จนถึงปี 2554 ก็ลาออกไปสมัคร สส.
ปี 2551 บุญเลิศ ได้รับเลือกเป็นนายก อบจ.เชียงใหม่ ก็หนุนหลานชาย ไก่-ทัศนัย บูรณุปกรณ์ เป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่แทน
ปี 2554 ทัศนีย์ ได้รับการเลือกเป็น สส.เชียงใหม่ เขต 1 เพื่อไทย และอีก 2 ปีถัดมา ปกรณ์เสียชีวิต หลังสู้โรคร้ายมาหลายปี
หลังรัฐประหาร 2557 บุญเลิศแต่งตั้ง กุ้ง-ทัศนีย์ เป็นรองนายก อบจ.เชียงใหม่ และบุญเลิศถูกคำสั่ง คสช.ให้ระงับการปฏิบัติหน้าที่และถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น
ปี 2560 บุญเลิศ และทัศนีย์ พร้อมเครือญาติ ถูกจับในข้อหามีส่วนเกี่ยวข้องในการรณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ
เดือน มิ.ย.2561 บุญเลิศได้รับคำสั่งให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่นายก อบจ. จนครบวาระในปี 2563 ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นความร้าวฉานระหว่างตระกูลบูรณุปกรณ์ กับ เจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์
ปลายปี 2563 บุญเลิศ ในนามกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม พ่าย พิชัย เลิศพงศ์อดิศร คนสนิทเจ๊แดง ในศึกนายก อบจ.เชียงใหม่
ต้นปี 2564 อัศนี ลูกชายประพันธ์ บูรณุปกรณ์ ได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ในนามกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม
หลังเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 ทัศนีย์ ลาออกจากพรรคเพื่อไทย และสมัครเป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล
ปัจจุบัน บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ มุ่งมั่นในการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังไม่มีวี่แววว่า จะหวนคืนสังเวียนการเมืองท้องถิ่น
สำหรับนายกหน่อย-อัศนี บูรณุปกรณ์ ก็ยังจะลงสมัครนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ในนามกลุ่มเชียงใหม่คุณธรรม
ศึกนายก อบจ.เชียงใหม่ ต้นปี 2568 น่าจับตาว่า ทัศนีย์-ทัศนัยไปช่วยค่ายส้มแบบส่วนตัว หรือยกไปกันทั้งตระกูลบูรณุปกรณ์
ส่วนอัศนี จะไปช่วย นายกก๊อง-พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ค่ายเพื่อไทยหรือไม่ ยังต้องรอดูการเมืองฉากนี้ในช่วงปลายปี 2567.