ย้อนรอย'สามารถ เจนชัยจิตรวนิช' ในศึกตัวแทน ‘บิ๊กป้อม’

ย้อนรอย'สามารถ เจนชัยจิตรวนิช' ในศึกตัวแทน ‘บิ๊กป้อม’

ปฏิบัติการของ "สามารถ เจนชัยจิตรวนิช" กลับเป็นอีกตัวเร่งสถานการณ์ ที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในฐานะ “พรรคร่วมรัฐบาล” ระหว่าง พปชร.และเพื่อไทย

ชื่อของ “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ กลับมาอยู่บนพื้นที่สื่ออีกครั้ง หลังออกมาเปิดศึกท้ารบเบอร์ใหญ่อย่าง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรค พปชร.

“สามารถ” เคลมว่าเป็นคนชักชวน “วัน อยู่บำรุง” เข้าซบ พปชร. โดยเปิดตัวร่วมกับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เมื่อวันที่ 23 ก.ค. ภายหลังโบกมือลาพรรคเพื่อไทย 

แต่ปฏิบัติการของ “สามารถ” กลับโดนแรงต้านภายในพรรค เนื่องจาก “วัน อยู่บำรุง” ขัดแย้งกับ “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จนต้องแยกทางจาก “เพื่อไทย” 

แม้จะดูเหมือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ปฏิบัติการของ "สามารถ" กลับเป็นอีกตัวเร่งสถานการณ์ ที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในฐานะ “พรรคร่วมรัฐบาล” ระหว่าง พปชร.และเพื่อไทย

วีรกรรมของสามารถที่เข้ามาแสดงแทน“ลุงป้อม” ราวกับเป็นผู้กำหนดท่าทีของพรรค กลายเป็นชนวนปัญหาในพปชร.อีกรอบ

เกิดการปะทะกันหลายครั้งระหว่าง “สามารถ” ศิษย์ลุงป้อม กับ สส. พปชร. ในสายตรงของ “ธรรมนัส” จนกระทั่งวันที่ 29 ก.ค. “สามารถ” ออกมาเปิดเผยว่าเตรียมรถ 3 คัน ขน สส. ไปพบ “ลุงป้อม” ยิ่งทำให้ “ธรรมนัส-ลูกทีม” ไม่พอใจมากขึ้นเท่าตัว

วันที่ 30 ก.ค. “ธรรมนัส” ให้สัมภาษณ์เตรียมขับ “สามารถ” ออกจากพรรค แต่เจ้าตัวยืนยันหาก “ลุงป้อม” ให้ลาออก ก็พร้อมลาออกทันที โดยไม่สนอิทธิพลของใครในพรรค

ต่อมาวันที่ 31 ก.ค. “ธรรมนัส” ถ่ายรูปร่วมเฟรม สส. พปชร. โชว์ตัวในกลุ่ม กดดันขับ “สามารถ” พ้นพรรคอีกรอบ แต่อีกฝ่ายก็ยังปักหลักท้าชน

ขณะที่ “บิ๊กป้อม” ก็ไม่ได้ออกมาหย่าศึกทันที เพราะรู้ดีว่า“บิ๊กพปชร.” แอบปันใจให้ “พรรคค่ายแดง” จนสถานะ “หัวหน้าพรรค” ถูกท้าทาย 

สถานการณ์เวลานี้ในพปชร. จึงกลายเป็นศึกตัวแทนทั้งในพรรค พปชร. และระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล  

ที่มาที่ไปของ"สามารถ" ก่อนมาอยู่ “ข้างกายลุง” ถือว่าไม่ธรรมดา แม้ความเจนจัดในสนามการเมืองของ“สามารถ”จะมีน้อย แต่การผ่านสมรภูมิ “แชร์ลูกโซ่” ได้สร้างชื่อให้ตัวเอง

ในช่วงยุทธจักรแชร์ลูกโซ่เฟื่องฟู “สามารถ” เป็นประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย ทำงานช่วยเหลือเหยื่อแชร์ลูกโซ่ระหว่างปี 2558-2560 ซึ่งเป็นช่วงที่แชร์ลูกโซ่ระบาดหนัก ก่อนถึงยุค “คอลเซ็นเตอร์”

เขาเคยมีแนวคิดเสนอแก้ไขกฎหมายตามยึดทรัพย์คืนลูกแชร์ หรือเหยื่อแชร์ลูกโซ่ โดยไม่ต้องรอให้คดีจบ เพื่อบรรเทาความเสียหายของเหยื่อ และผลักดันให้แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ ให้เป็น “วาระแห่งชาติ”

จากนั้น “สามารถ” เดินเข้าสู่ถนนการเมือง โดยร่วมงานกับ “กลุ่มสามมิตร” เป็นผู้อำนวยการศูนย์ร้องทุกข์ของกลุ่ม และขยับไปเป็นกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งในการเลือกตั้งปี 2562

“สามารถ” จะทำงานใกล้ชิดกับสาย “สมศักดิ์” หลังเลือกตั้ง “สมศักดิ์” ได้นั่งเก้าอี้ รมว.ยุติธรรม พร้อมแต่งตั้ง “สามารถ” เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี 

จุดเปลี่ยนชีวิตทางการเมืองของ “สามารถ” เกิดขึ้นช่วงขาขึ้น เมื่อมี “สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง” ออกมาตรวจสอบสถานะของนักศึกษาปริญญาเอก หลักสูตรภาษาอังกฤษ

โดยพบว่าตัวของ “สามารถ” ไม่ได้เข้าเรียนด้วยตัวเอง แต่ส่ง “ลูกน้อง” ไปนั่งเรียนแทน ทำให้ถูกตัดสิทธินักศึกษา และทางมหาวิทยาลัยแจ้งมาที่พรรค พปชร. จนเป็นข่าวโด่งดัง จากนั้น “สามารถ” ก็ลาออกจากทุกตำแหน่ง ทั้งในพรรค พปชร. และตำแหน่งผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม

แม้ “สามารถ" ออกมาชี้แจงเรื่องนี้ โดยปฏิเสธทุกประเด็น รวมถึงเรื่องที่ถูกตัดสิทธิการเป็นนักศึกษาด้วย แต่ชื่อเสียงที่เสียหายไปก็ไม่คืนกลับมา ก่อนที่เขาจะห่างหายไปจากการเมืองระยะหนึ่ง

กระทั่งต่อมา “สามารถ” พาตัวเองกลับเข้าสู่สปอตไลต์ทางการเมืองได้อีก โดยเป็นหนึ่งใน “ขุนพลข้างกายลุงป้อม” ในวันที่บารมีทางการเมืองของ “ลุง” เริ่มอัสดง บรรดา “บิ๊กเนม” ที่เคยรายล้อมกาย เริ่มตีตัวออกห่าง แต่ก็ยังมี “คนการเมือง” ที่อาสาเข้ามาช่วยงาน

ท่ามกลางความหวังของ “บิ๊กป้อม” จะพลิกฟ้าคว้าดาว นั่งเก้าอี้นายกฯ หาก “เศรษฐา” พ้นจากตำแหน่ง โดยมี “คนข้างกาย” จำนวนไม่น้อยให้การสนับสนุน แม้ สส.พลังประชารัฐ ที่จะสนับสนุนมีลดน้อยถอยลง เนื่องจากมีปฏิบัติการลับของ “แม่บ้าน พปชร.” ดูดดึงออกไป

ทำให้หลงเหลือ “คนการเมือง” ที่อาจจะไม่เชี่ยวชาญเกมการเมืองสักเท่าไร แต่หวังเดินเกมสานฝันให้ “นายป้อม” ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ เช่นเดียวกับ “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” ที่เส้นทางของเขาเวลานี้ ขึ้นอยู่กับอนาคตของนาย