อภิมหาดีล สกัด‘พรรคประชาชน’ ‘ปรับครม.’ หลบเขตเลือกตั้ง

อภิมหาดีล สกัด‘พรรคประชาชน’ ‘ปรับครม.’ หลบเขตเลือกตั้ง

ถ้าถึงวันนั้นสูตรที่ว่า สยบพรรคประชาชนไม่อยู่ แผนสำรองที่ต้องพร้อมใช้งาน คืออะไร อาจยังไม่มีใครตอบได้ หรืออาจต้องมีการสังเวยในทางการเมืองซ้ำแล้วซ้ำอีกก็เป็นไปได้

Key Points

  • แกนนำรัฐบาลคนสำคัญ เหมือนเริ่มเห็นแนวทางสกัดพรรคประชาชน ที่ได้กระแสจากก้าวไกล ตั้งเป้าใหญ่เลือกตั้ง ปี70
  • ไฮไลท์สำคัญ นับจากนี้คือเรื่องปรับครม. รวมกำลังสู้เลือกตั้ง สยบกระแสส้ม 
  • ยุทธศาสตร์ “ดีลก่อนเลือกตั้ง” มีโอกาสที่พรรคร่วมรัฐบาล ปัจจุบัน จะนำมาใช้ และอาจได้เห็นแบ่งโซน หลบเขต

 

การไปต่อของอุดมการณ์ก้าวไกล ภายใต้ร่างของพรรคประชาชน โดยมี เท้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ รับบทหัวหน้าพรรค ติ่ง ศรายุทธ ใจหลัก เป็นเลขาฯ

ตั้งเป้าสร้างรัฐบาลแห่งการเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งปี 70 และยังโฟกัสแก้ไข ม.112 ไม่เปลี่ยน ทั้งที่พรรคก้าวไกลเพิ่งจะต้องคำวินิจฉัยเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง จนถูกยุบพรรค

แกนนำพรรคประชาชน คงประเมินผลลัพธ์จากการเลือกตั้งปี 66 หลายนโยบายหาเสียงที่นับว่าท้าทาย ชนิดที่ใครก็ไม่กล้าแม้แต่จะคิด แต่กับอุดมการณ์สีส้มอาจจะถือว่าคุ้ม ในเมื่อได้รับเลือกตั้งมาเป็นที่ 1

ประเด็นนี้จึงไม่หายไปจากความคิดของพรรคประชาชน ที่น่าจะอ่านใจโหวตเตอร์ของตัวเองออกว่า ยังไงก็เอาด้วย

กระแสของพรรคประชาชนที่ส่งต่อมาจากก้าวไกล ยังมีอยู่ แต่อาจไม่ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับคู่ต่อสู้ในการเลือกตั้งเหมือนครั้งก่อน ตอนนี้พรรคหลักต่างแฮปปี้กับการร่วมรัฐบาล

ย้อนไปการเลือกตั้งปี 66 เพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้าง ประชาธิปัตย์ ในหลายพื้นที่สู้กันเอาเป็นเอาตาย ฐานเสียงทับซ้อน ตัดคะแนนกันไปมา จนก้าวไกล คว้าชัยไปครองหลายเขต

พอเป็นรัฐบาลมาได้ประมาณ 1 ปี หลายฝ่ายที่ร่วมกันแชร์อำนาจบริหาร เหมือนจะตกผลึก ถอดบทเรียน รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย

บันไดขั้นแรกที่อาจได้เห็นหลัง 14 ส.ค.นี้ คือการเขย่าขวดปรับครม. ดึงประชาธิปัตย์เข้าร่วม โดยสลัดพี่น้อง 2 ลุง ป้อม-ป๊อด ให้พ้นทาง

2 ตัวเต็ง ประชาธิปัตย์ เฉลิมชัย ศรีอ่อนและเดชอิศม์ ขาวทอง มีโอกาสเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ท่ามกลางแรงต้านของพรรคร่วม ที่ไม่อยากโดนเฉือนโควตารัฐมนตรีให้ว่าที่พรรคร่วมฯ น้องใหม่

ไม่เว้นแม้แต่ในเพื่อไทย หลายคนที่อึดอัดเพราะสู้กับประชาธิปัตย์มายาวนาน ชิงชังเข้ากระดูกดำ แต่วันนี้สถานการณ์บังคับให้ต้องโคจรมาเป็นพวกกัน ก็ต้องแล้วแต่ผู้จัดการรัฐบาลตัวจริงกำหนด

ก่อนหน้านี้ สมศักดิ์ เทพสุทิน เคยนั่งรองนายกฯ โดดๆ มาแล้ว ก่อนไปคุมกระทรวงหมอ การปรับครม. รอบหน้า คนในรัฐบาลเริ่มๆ พูดกัน อาจได้เห็นภูมิธรรม เวชยชัย เหลือแค่รองนายกฯ แล้วเอา รมว.พาณิชย์ ให้เสี่ยต่อ อะไรทำนองนั้น

แถมต้องจับตา ธรรมนัส พรหมเผ่ารมว.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งคนในรัฐบาลบางส่วน อาจจะเริ่มรู้สัญญาณว่า มีลุ้นควบรองนายกฯ แทนพัชรวาท วงษ์สุวรรณ เผลอๆ จะได้คุมงานความมั่นคง เลยทีเดียว

ยังมีอีกหลายตำแหน่งที่อาจมีเซอร์ไพรส์ เริ่มมีการโยนหินถามทาง ก่อนคิวสับเปลี่ยนหมุนเวียนจะมาถึง โดยเฉพาะ รมว.กลาโหม รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรมช.ในหลายกระทรวง 

โมเดลที่เอาประชาธิปัตย์เข้ามาเติม บางคนเรียกว่า รัฐบาลรวมชาติ เป้าหมายไม่ใช่แค่มีสุขร่วมเสพในเกมอำนาจวันนี้ แต่เป็นช่วงละลายพฤติกรรมเพื่องานใหญ่ในการเลือกตั้งปี 70

ภายใต้ยุทธการ ดีลก่อนเลือกตั้งทีหลัง ต่างจากเมื่อก่อนที่แต่ละพรรคไปสู้กันมา ใครมีสส.กี่คน ค่อยมาเจรจาต่อรองโควตารัฐบาล

เลือกตั้งครั้งหน้าอาจไม่ใช่แบบที่เคยเป็น คีย์แมนรัฐบาลเริ่มโยนหนึ่งในสูตรที่จะใช้สกัดกระแสพรรคประชาชน นั่นก็คือบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน ต้องจับมือสู้ด้วยกัน ยึดแนวทางท้องถิ่นนิยม แบ่งโซน แบ่งพื้นที่ให้ชัดเจน ไม่ส่งแข่งตัดคะแนนกันเอง

บ้านใหญ่แต่ละจังหวัด คอยตรึงพื้นที่ ออกแนวคล้ายเลือกตั้ง อบจ. พรรคไม่สำคัญเท่าพวก สูตรนี้ก็พอได้ลุ้นแก้ทางกระแสการเมืองที่ร้อนแรง

เป้าหมายสำคัญคือโดดเดี่ยวพรรคประชาชน ให้เป็นฝ่ายค้าน แต่ปัญหาคือ ใครจะมีบารมีในทางการเมืองมากพอ คอยบริหารจัดการให้แต่ละพรรคพอใจ ยอมหลบเขตให้กัน

ในทางกลับกัน ถ้าถึงวันนั้นสูตรที่ว่า สยบพรรคประชาชนไม่อยู่ แผนสำรองที่ต้องพร้อมใช้งาน คืออะไร อาจยังไม่มีใครตอบได้ หรืออาจต้องมีการสังเวยในทางการเมืองซ้ำแล้วซ้ำอีกก็เป็นไปได้