เปิดครบคำวินิจฉัยไม่ฟ้องอาญา ‘พิชิต’ จบที่ ‘อัยการ’ ยังไม่ถึงมือ ‘ชัยเกษม’
เปิดครบคำวินิจฉัยไม่สั่งฟ้องคดีอาญาจากปม ‘ถุงขนม 2 ล้านบาท’ กล่าวหา ‘พิชิต-พวก’ จบที่ ‘อัยการ-ตำรวจ’ มีความเห็นไม่สั่งฟ้อง เหตุ ‘นาย ธ.’ ผู้ต้องหาปากสำคัญปฏิเสธหนักแน่น เรื่องยังไม่ถึงมือ ‘ชัยเกษม’ สมัยนั่ง อสส.
หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับมีคำสั่งให้ “คณะรัฐมนตรี” พ้นทั้งคณะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 219 ส่งผลให้ต้องมีการโหวตเลือกนายกฯกันใหม่ในสภาผู้แทนราษฎร โดยกระแสข่าวตั้งช่วงเย็นวานนี้ แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลได้ไปหารือกันที่ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” เตรียมผลักดัน “ชัยเกษม นิติสิริ” 1 ในบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯของ “พรรคเพื่อไทย” เป็นนายกฯคนที่ 31 นั้น
เกิดกระแสต่อต้านอย่างขวาง โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น “พรรคภูมิใจไทย-พรรคชาติไทยพัฒนา-พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่แม้จะแถลงข่าวยืนยันว่าสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯจาก “เพื่อไทย” แต่ไม่สนับสนุนบุคคลที่มีแนวคิดแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ส่งผลให้เกิดการขุดคุ้ยกรณี “ชัยเกษม” เมื่อครั้งเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย เมื่อปี 2564 เคยออกแถลงการณ์ “รับลูก” พร้อมแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในช่วงที่ “ม็อบราษฎร” ยังกระแสสูง ทว่าเกิดกระแสตีกลับเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ขณะนั้นยังลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ต้องโพสต์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย ยืนยันว่ากฎหมายมาตรา 112 ไม่เคยเป็นปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ มันเกิดจากการปฎิบัติที่ไม่ถูกต้อง เพื่อลดดีกรีความดราม่าลงในทันที หลังจากนั้นเรื่องนี้ก็เงียบหายไป
แต่ประเด็นที่หลายคนสนใจยิ่งกว่านั้นคือ “ชัยเกษม” ในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง “อัยการสูงสุด” (อสส.) ระหว่าง 1 ต.ค. 2550-30 ก.ย. 2552 อยู่ในช่วงเกิดเหตุการณ์สะเทือนกระบวนการยุติธรรมพอดี นั่นคือ “คดีถุงขนม 2 ล้านบาท” ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งลงโทษจำคุก 6 เดือน “พิชิต ชื่นบาน” ทนายความประจำตระกูลชินวัตร กับพวกรวม 3 คน ข้อหาละเมิดอำนาจศาล แต่คดี “ติดสินบนเจ้าพนักงาน” อัยการมีความเห็นไม่สั่งฟ้องในทางอาญา แต่อย่างใด
ทว่าข้อเท็จจริงของเรื่องนี้คือ สำนวนดังกล่าว “ในทางการ” ยังไม่ถึงมือ “ชัยเกษม” วินิจฉัยชี้ขาด เพราะเมื่อเกิดคดีดังกล่าวขึ้น เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2551 ตัวแทนสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ นายพิชิต ชื่นบาน กับพวกรวม 3 คน แก่ สน.ชนะสงคราม กล่าวหาว่า ร่วมกันให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ โดยผู้ต้องหาทั้งหมดถูกคุมขังตามคำสั่งของศาลฎีกาฯ ในข้อหาละเมิดอำนาจศาลอยู่
โดยบทสรุปของผลการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ลงนามโดย พ.ต.ท.สุมเธ จิตต์พาณิชย์ รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน สน.ชนะสงคราม และ ร.ต.อ.พรเลิศ รัตนคาม พนักงานสอบสวน (สบ1) สน.ชนะสงคราม (ยศ และตำแหน่งขณะนั้น) เห็นว่า คณะพนักงานสอบสวนพิจารณาจากหลักฐาน ทั้งพยานบุคคล พยานเอกสาร และพยานวัตถุแล้ว มีความเห็นว่า การกระทำของผู้ต้องหาที่ 3 (นาย ธ. หนึ่งในลูกทีมทนายของนายพิชิต ผู้ส่งมอบถุงกระดาษให้เจ้าหน้าที่ศาล) ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144 เมื่อผู้ต้องหาที่ 3 ไม่มีความผิด ผู้ต้องหาที่ 1 (นายพิชิต) และ 2 จึงไม่อาจเป็นตัวการร่วมกับผู้ต้องหาที่ 3 ที่จะกระทำความผิดตามตามมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้
ประกอบกับผู้ต้องหาที่ 1, 2, 3 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จึงเห็นควร “สั่งไม่ฟ้อง” ผู้ต้องหาที่ 1, 2, 3 ในความผิดฐาน ร่วมกันให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ หลังจากนั้นจึงเสนอสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการเพื่อพิจารณา
ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2552 นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา เปิดเผยถึงการพิจารณาสำนวนคดีสินบน จากการให้ถุงขนม 2 ล้านบาทดังกล่าวว่า ภายหลังคณะทำงานอัยการ ซึ่งประกอบด้วย ร.ต.ท.ธานี วุฒิยากร รองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา นายสมเจตต์ ชัยเฉลิมปรีชา อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 นายสมบูรณ์ ศุภอักษร อัยการอาวุโส และนายยงยุทธ ศรีสัตยาชล อัยการจังหวัดประจำกรม ใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการพิจารณาสำนวนการสอบสวนและพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม จำนวน 300 หน้า
ประกอบพยานฝ่ายผู้เสียหายซึ่งมีเลขานุการศาลฎีกา เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาและพยานฝ่ายผู้ต้องหาทั้ง 3 คน กับบุคคลอื่น ๆ ที่ผู้ต้องหาอ้างถึง โดยที่ไม่มีฝ่ายใดร้องขอความเป็นธรรมแล้ว อัยการเห็นว่า ความผิดข้อหาการให้สินบนเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 144 นั้น ต้องมี "ผู้ใด" ขอให้หรือรับว่าจะให้ ซึ่งข้อเท็จจริงคดีนี้ไม่พบว่า ทนายความ ที่ถือถุงใส่เงินมาให้ มีวัตถุประสงค์จะให้เงิน 2 ล้านบาท แต่ได้ความเพียงว่า มีเจตนาจะให้ "ขนม " ไม่ใช่แสดงตัวมาแต่แรกว่าจะให้เงิน จึงขาดความเป็น "ผู้ใด" ที่เป็นผู้ให้สินบน
นอกจากนี้การพิจารณาเรื่อง "การให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด" นั้น จากข้อเท็จจริงเห็นว่า เงินของกลาง 2 ล้านบาทเป็นเรื่องสำคัญ แต่กลับไม่มีเงินของกลางในสำนวน และยังไม่ได้ข้อเท็จจริงว่า จะให้เงิน 2 ล้านบาทไปเพื่ออะไร ดังนั้นอัยการจึงมีความเห็นว่า การที่คืนเงินของกลางไปทำให้คดีขาดหลักฐานสำคัญ อีกทั้งความผิดมาตรานี้ต้องมีเจ้าพนักงานผู้รับสินบนด้วย แต่คดีนี้พบว่าผู้ที่มารับเงิน คือ เจ้าหน้าที่นิติกร 3 ซึ่งไม่ใช่ "เจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับอรรถคดี"
ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะทำงานอัยการจึงเห็นพ้องกันว่า การกระทำดังกล่าวของนายพิชิต กับพวก ไม่ครบองค์ประกอบความผิด เพียงพอที่จะทำให้มีน้ำหนักพอฟ้องคดีได้ จึงมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสาม ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา143 ซึ่งความเห็นของอัยการดังกล่าวเป็นคำสั่งที่เห็นพ้องเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนที่มีความเห็นสมควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา
แต่คดียังไม่ยุติต้องส่งสำนวนไปให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พิจารณาว่าเห็นด้วยกับคำสั่งไม่ฟ้องหรือไม่ ซึ่งหาก ผบ.ตร. มีคำสั่งไม่ฟ้อง คดีเป็นอันยุติ แต่หาก ผบ.ตร. เห็นแย้งโดยเห็นสมควรสั่งฟ้อง ต้องส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดชี้ขาดต่อไป ซึ่งต่อมา ผบ.ตร.มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีดังกล่าวยุติไป
ส่วนที่ทนายความทั้งสามถูกศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำคุกคนละ 6 เดือนฐานละเมิดอำนาจศาลกรณีดังกล่าวนั้น นายกายสิทธิ์ กล่าวว่า คดีละเมิดอำนาจศาลนั้น เป็นความผิดเกี่ยวกับการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ซึ่งเป็นความผิดคนละประเภทกันกับกรณีที่ถูกกล่าวหาคดีอาญาเรื่องสินบน ซึ่งการที่ศาลพิพากษาลงโทษ ฐานละเมิดอำนาจศาลนั้นเป็นการลงโทษที่เหมาะสมแล้ว อัยการก็เห็นด้วยไม่ขัดข้อง
ทั้งหมดคือ “คดีสินบน” เกี่ยวกับกรณี “ถุงขนม 2 ล้านบาท” ที่สุดท้าย “อัยการ-ตำรวจ” ยุคดังกล่าวสั่ง “ไม่ฟ้อง” ในทางอาญา ส่งผลให้ “พิชิต” กลับมาโลดแล่นอีกครั้งในแวดวงการเมือง กระทั่งบินสูงถึงขั้นนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี แต่ทว่า 16 ปีผ่านไป ต้องมาตกม้าตายกับเรื่องนี้ จนต้องลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี และกลายเป็น “ชนวนสำคัญ” ทำให้ “รัฐบาลเศรษฐา” ต้องล่มลงในเวลาไม่ถึง 1 ปี จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา