'ปิยบุตร' กังขาให้การบริหารรัฐ เป็นเรื่องตระกูลได้หรือ ยกอำนาจให้ราวมรดก
'ปิยบุตร' ขยายทฤษฎี 'ประชาธิปไตย 2 ใบอนุญาต' สู่ 'ประชาธิปไตย 2 ตระกูล' ยกหลักการ 'รัฐสมบัติ' ปลุกประชาชนจะยอมให้ตระกูลหนึ่งยกอำนาจรัฐให้กันเองภายใน ราวกับเป็นสมบัติเป็นมรดกได้หรือ
เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2567 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล เรื่อง “รัฐสมบัติ” ตอนหนึ่งว่า รัฐสมบัติ หรือ Patrimonial State คือ รัฐที่ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง ตระกูลใดตระกูลหนึ่งเป็นเจ้าของ เมื่อผู้ปกครองคนหนึ่งพ้นไปก็ส่งมอบตำแหน่งให้สมาชิกในตระกูลขึ้นดำรงตำแหน่งต่อไปเสมือนเป็นทรัพย์สมบัติของตระกูล เป็นมรดกยกต่อให้ทายาท
นายปิยบุตร ระบุอีกว่า รัฐสมบัติไม่แยกแยะเรื่องส่วนตัวกับส่วนรวม ในโลกปัจจุบันครอบครัวหนึ่งทำธุรกิจร่ำรวย เมื่อพ่อแม่ตายไปก็ยกมรดกให้ลูก เช่นนี้ คงไม่มีใครว่า เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว ถึงกระนั้น ความคิดแบบสมัยใหม่ยังมองว่าไม่เป็นธรรม จึงได้คิดมาตรการสร้างความเสมอภาค เช่น ภาษีมรดก ในขณะที่ครอบครัวเศรษฐีเองตระหนักดีถึงกฎธรรมชาติ ที่ว่าความสามารถอำนาจ บารมี ไม่อาจถ่ายทอดผ่านพันธุกรรม พวกเขา จึงจ้างผู้บริหารมืออาชีพเข้ามา แล้วถ้าเป็นรัฐ เป็นเรื่องสาธารณะ เรื่องมหาชน เรื่องแดน Public มิใช่แดน Private ล่ะ
"เราสามารถยอมให้การบริหารรัฐ กลายเป็นเรื่องของครอบครัว ตระกูล ได้หรือ จะเป็นไปได้อย่างไรที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของรัฐร่วมกัน ต้องยินยอมครอบครัวหนึ่งตระกูลหนึ่ง ยกอำนาจรัฐให้กันเองภายในตระกูลราวกับเป็นสมบัติเป็นมรดกได้ สภาวการณ์ประชาธิปไตย 2 ใบอนุญาตวันนี้ นำมาซึ่งประชาธิปไตย 2 ตระกูล" นายปิยบุตร ระบุ