‘อุ๊งอิ๊ง’สมานรอยร้าว สส. เปลี่ยนนายกฯ ฟื้นเพื่อไทย ?
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภารกิจของ“แพทองธาร”คือการกอบกู้คะแนนนิยมของ “พรรคเพื่อไทย” ให้ฟื้นกลับคืนมา โดยมีความอยู่รอดของพรรค และความปลอดภัยของ“ครอบครัวชินวัตร” เป็นเดิมพัน ดังนั้นทุกย่างก้าว จึงต้องเดินเกมอย่างรอบคอบ
KEY
POINTS
- ต้องยอมรับว่าในยุค นายกฯเศรษฐา เกิดช่องว่างระหว่างตัว "ผู้นำ" กับ "สส.เพื่อไทย" หลายวาระที่ต้องปรึกษาหารือกัน แต่มักจะโดนปิดกั้น
- บุคลิกของ "เศรษฐา" กับ "แพทองธาร" แตกต่างกันมาก "สส.เพื่อไทย" แฮปปี้กับ นายกฯหญิง มากกว่า
- จับตาความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นภายในพรรค "แพทองธาร" จะสามารถเชื่อมต่อกับ สส. ได้เหมือนเดิมหรือไม่
ยุทธศาสตร์ของ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่เคยประกาศกับ สส.เพื่อไทย ระหว่างการพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้ง 2566 วางเกมแบ่งกันเดิน แยกกันทำงาน โดย “เศรษฐา ทวีสิน” ประจำการทำเนียบรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” บัญชาการพรรคเพื่อไทย
ทว่า การเมืองลี้ลับ ปรับเปลี่ยนฉับพลัน ทำให้ยุทธศาสตร์ของทักษิณ ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย
โดยทักษิณส่ง “แพทองธาร” เข้าทำเนียบรัฐบาลทันควัน ภายหลัง “เศรษฐา” ต้องพ้นเก้าอี้นายกฯ ทำให้ “แม่ทัพอุ๊งอิ๊ง” ต้องคุมทั้งพรรค และขยับเข้าไปบริหารงานทำเนียบรัฐบาลด้วยตัวเอง
แม้จะมีกระแสข่าวเป็นระยะว่า “ครอบครัวชินวัตร” ยังคัดค้าน “แพทองธาร”นั่งเก้าอี้นายกฯ เพราะเสี่ยงเกินไป แต่ท่าทีของสมาชิกครอบครัวในวันโปรดเกล้าฯ ต่างดีใจ ยิ้มแย้ม ปลาบปลื้ม แทบไม่ปรากฎความกังวลออกมาให้เห็น
ต้องยอมรับว่า ในช่วงที่“เศรษฐา”นั่งเก้าอี้นายกฯ สส.เพื่อไทยจำนวนไม่น้อยออกอาการไม่ปลื้ม โดยเฉพาะ สส.อีสาน-สส.อาวุโส เพราะมองว่าเศรษฐาเป็นคนนอก ไม่ได้สู้รบมาด้วยกัน ที่สำคัญการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีบางคน ค้านสายตา
จุดอ่อนของ เศรษฐา คือความสัมพันธ์กับ สส.เพื่อไทย อยู่ในแดนลบมาโดยตลอด แม้ระยะหลังจะมี“บิ๊กเนม" อาสาเป็นกาวใจ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ให้แนบชิดกันมากขึ้น แต่มักจะล้มเหลว
หลายวาระ เศรษฐามักจะปฏิเสธ ไม่ให้ สส.เข้าพบ ครั้งหนึ่ง สส.พยายามขอเข้าไปสะท้อนความแตกต่างนโยบาย “ปุ๋ยคนละครึ่ง” กับ “ไร่ละพัน” เนื่องจากรัฐบาลผลักดัน “ปุ๋ยคนละครึ่ง”แต่มีแรงต้านจากฐานเสียงในพื้นที่ แต่เศรษฐาปิดห้องรับรองนายกฯที่อาคารรัฐสภา เป็นการปฏิเสธ สส.ที่มายืนรอพบ จนสร้างความไม่พอใจอย่างมาก
เช่นเดียวกับในช่วงลงพื้นที่ เศรษฐามี “กุนซือ” คอยแนะให้รู้จัก และจดจำชื่อ “สส.-แกนนำพื้นที่” แต่เจ้าตัวไม่เห็นความสำคัญ และไม่ลงลึกในรายละเอียดการเมืองระดับท้องถิ่น แม้จะขยันลงพื้นที่ แต่คะแนนไม่กระเตื้อง
ว่ากันว่า ความใส่ใจที่มีให้กับ สส.ระหว่าง“แพทองธาร”กับ“เศรษฐา”ต่างกันราวฟ้ากับเหว
ในช่วงลงพื้นที่ “หัวหน้าอุ๊งอิ๊ง” มักสอบถามสารทุกข์สุขดิบของ สส.-แกนนำพื้นที่-ประชาชน ให้เวลากับงานมวลชนค่อนข้างมาก จนมีเสียงชื่นชมว่า การลงพื้นที่หน้าฉาก คล้ายคลึงกับ “พ่อทักษิณ” ที่มีเสน่ห์ ดึงดูดแฟนคลับได้
ขณะเดียวกัน ระหว่างลงพื้นที่ “แพทองธาร” มักจะอุดหนุนสินค้าประจำถิ่น ก่อนนำไปเป็นของฝากให้กับ สส.เพื่อไทย ไม่ว่าจะคนใกล้ตัว-คนไกลตัว จะได้ของฝากในโอกาสที่แตกต่างกัน
“การที่ น.ส.แพทองธาร เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นทั้งนายกฯ จะทำให้พรรคเพื่อไทย มีความเข้มแข็งมากขึ้น สส.จะมีความกลมเกลียวกันมากกว่าเดิม ธรรมดาของการเมืองที่จะมีคนพอใจ คนไม่พอใจ แต่เชื่อว่า น.ส.แพทองธาร จะสามารถสมานแผลในใจ จากนายกฯคนเก่าได้” แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าว บอกอีกว่า หลังจากนี้ การทำงานของ สส.เพื่อไทย ทั้งระดับพื้นที่ และงานในสภาฯ จะมีความเข้มข้นมากขึ้น เพราะทุกคนเต็มใจทำให้ “แพทองธาร-ทักษิณ”
อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาเกมของ “ทักษิณ” ที่พยายามดูด “บ้านใหญ่” ให้เข้ามาอยู่ภายใต้ชายคาพรรคเพื่อไทย จะสามารถดึง “ขุนพลคนเก่า” กลับมาได้มากน้อยเพียงใด
ยุทธศาสตร์ “บ้านใหญ่” เข้มแข็ง “กระแส” แข็งแรง อาจจะทำให้ “ชินวัตร-เพื่อไทย” กลับมาครองความยิ่งใหญ่ในสนามการเมือง ซึ่งต้องสู้กับ “ขุนพลสีส้ม” ผู้นำด้านกระแสในเวลานี้
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภารกิจของ“แพทองธาร”คือการกอบกู้คะแนนนิยมของ “พรรคเพื่อไทย” ให้ฟื้นกลับคืนมา โดยมีความอยู่รอดของพรรค และความปลอดภัยของ“ครอบครัวชินวัตร” เป็นเดิมพัน ดังนั้นทุกย่างก้าว จึงต้องเดินเกมอย่างรอบคอบ