เปิดคำฟ้องละเอียด! ‘สมยศ-พวก’ ปมเปลี่ยนความเร็วรถ ‘คดีบอส’ ศาลนัดสอบ 10 ก.ย.67

เปิดคำฟ้องละเอียด! ‘สมยศ-พวก’ ปมเปลี่ยนความเร็วรถ ‘คดีบอส’ ศาลนัดสอบ 10 ก.ย.67

เปิดคำฟ้องละเอียด! ‘พล.ต.อ.สมยศ-เนตร’ พร้อมพวกรวม 8 คน ปมเปลี่ยนความเร็วรถช่วยเหลือ ‘คดีบอส’ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ประทับรับฟ้อง นัดสอบคำให้การ 10 ก.ย.67 สั่งห้ามจำเลยเดินทางออกนอกประเทศ

เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2567 ที่ศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง อัยการสูงสุด (อสส.)  โดยพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง เป็นจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 8 คน ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท. 131/2567 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 357, 200, 83, 86 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/3 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 372, 392

โดยคดีนี้พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่า คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 เวลาประมาณ 05.20 น. เกิดเหตุนาย ว. ขับขี่รถยนต์นั่งส่วนบุคคลยี่ห้อเฟอร์รารี่ ไปตามถนนสุขุมวิทฝั่งขาออก มุ่งหน้าไปทางพระโขนง เมื่อถึงบริเวณระหว่างปากซอยสุขุมวิท 47 และปากซอยสุขุมวิท 49 ได้ชนท้ายรถจักรยานยนต์ตราโล่ ซึ่งมีดาบตำรวจ ว. เป็นผู้ขับขี่ เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์คันที่ ดาบตำรวจ ว. ขับขี่ล้มลงครูดไถลไปตามพื้นถนนหยุดอยู่บริเวณปากซอยสุขุมวิท 49 ห่างจากจุดชนประมาณ 164.45 เมตร เป็นเหตุให้รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหาย ดาบตำรวจ ว.ถึงแก่ความตาย

เปิดคำฟ้องละเอียด! ‘สมยศ-พวก’ ปมเปลี่ยนความเร็วรถ ‘คดีบอส’ ศาลนัดสอบ 10 ก.ย.67

ต่อมาพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานในคดีจราจร โดยมีพยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนรวบรวมได้เอง และรวบรวมพยานเอกสารประกอบสำนวนการสอบสวน โดยมีรายงานกองพิสูจน์หลักฐาน กลุ่มงานตรวจทางเคมีฟิสิกส์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ตรวจสอบรถยนต์คันที่นาย ว. ขับขี่จากภาพของกล้องวงจรปิด และจากการวัดระยะจริง ในสถานที่เดียวกับที่ปรากฏในภาพ คำนวณอัตราเร็วเฉลี่ยในช่วงที่รถยนต์ในภาพเคลื่อนที่เข้ามาทางของภาพด้านขวาจนถึงจุดที่เคลื่อนที่ออกจากภาพทางด้านซ้ายเมื่อคำนวณอัตราเร็วโดยเฉลี่ย มีค่าเท่ากับ 197 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยการคำนวณดังกล่าวอาจจะมีความคลาดเคลื่อนมากขึ้นหรือน้อยลงประมาณ 17 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และได้สรุปหลักฐานทางคดี และความเห็นของพนักงานสอบสวนส่งไปยังพนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ โดยมีความเห็นควรสั่งฟ้องนาย ว. ฐานขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคล และทรัพย์สิน ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือ และแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ เห็นควรสั่งไม่ฟ้องนาย ว. ฐานขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เห็นควรสั่งไม่ฟ้องดาบตำรวจ ว. ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถผู้อื่นเสียหาย เนื่องจากถึงแก่ความตาย

เปิดคำฟ้องละเอียด! ‘สมยศ-พวก’ ปมเปลี่ยนความเร็วรถ ‘คดีบอส’ ศาลนัดสอบ 10 ก.ย.67

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพได้ พิจารณาแล้ว มีคำสั่งฟ้องนาย ว. ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถของผู้อื่นเสียหาย และมีผู้ถึงแก่ความตาย ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล และทรัพย์สินของผู้อื่น ไม่หยุดรถ และให้ความช่วยเหลือตามสมควรฯ และมีคำสั่งไม่ฟ้องนาย ว. ในข้อหาขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ยุติการดำเนินคดีกับ ดาบตำรวจ ว. ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนรถของผู้อื่นเสียหาย

ต่อมา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้พิจารณาแล้วไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องนาย ว. ฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้อื่นถึงแก่ความตาย คำสั่งไม่ฟ้องจึงเด็ดขาดเป็นที่ยุติ ในระหว่างนั้นความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้รถของผู้อื่นเสียหาย ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินผู้อื่น ไม่หยุดรถ และให้ความช่วยเหลือตามสมควรฯ ได้ล่วงเลยพ้นกำหนดระยะเวลาอายุความตามกฎหมาย คงเหลือความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 

ต่อมาจำเลยที่ 8 ในฐานะพนักงานอัยการผู้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาสั่งคดี ที่มีการร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด ได้พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของนาย ว. และมีคำสั่งไม่ฟ้องนาย ว. ความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ได้รับมอบหมาย ไม่แย้งคำสั่งพนักงานอัยการ คำสั่งไม่ฟ้อง จึงเป็นอันเด็ดขาด 

ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลาง สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 3 ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ กองบังคับการตำรวจนครบาล 4 กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ในขณะเกิดเหตุมีได้มีสถานะหรือได้กระทำการในสถานะเป็นเจ้าพนักงาน แต่เป็นบุคคลผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานตามกฎหมาย หรือเจ้าพนักงานของรัฐในการกระทำผิด จำเลยที่ 8 ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอัยการศาลสูง รักษาการในตำแหน่งรองอัยการสูงสุด ได้รับมอบหมาย และมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสูงสุด

เมื่อระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2563 เวลากลางวัน จำเลยทั้งแปดได้กระทำความผิด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้อาศัยโอกาสที่ตนเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบร่วมกับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 สมคบกับกันกระทำผิดด้วยการวางแผนร่วมกันเปลี่ยนแปลงความเร็วของรถยนต์คันที่นาย ว. ขับขี่ในวันเกิดเหตเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์คันที่ ดาบตำรวจ ว. ขับขี่จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย และดาบตำรวจ ว. ถึงแก่ความตาย จากความเร็วของรถยนต์ตามรายงานการตรวจพิสูจน์ของกลุ่มงานตรวจทางเคมีฟิสิกส์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ลงวันที่ 26 กันยายน 2555 ซึ่งมีพันตำรวจเอก ธ. เป็นผู้จัดทำรายงานไว้ว่า รถยนต์คันที่นาย ว. ขับขี่มีความเร็วโดยเฉลี่ย 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีความคลาดเคลื่อนมากขึ้นหรือน้อยลงประมาณ 17 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ให้เป็นความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามที่ได้วางแผนกัน โดยให้จำเลยที่ 5 ดำเนินการยื่นคำร้องขอความเป็นธรรม ครั้งที่ 9 ต่อพนักงานอัยการในคดีที่นาย ว. เป็นผู้ต้องหา ขอให้สอบพยาน พันตำรวจเอก ธ. ในประเด็นเกี่ยวกับการคำนวณความเร็วของรถยนต์คันที่นาย ว. ขับขี่ 

เปิดคำฟ้องละเอียด! ‘สมยศ-พวก’ ปมเปลี่ยนความเร็วรถ ‘คดีบอส’ ศาลนัดสอบ 10 ก.ย.67

เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม พันตำรวจเอก ธ.ตามที่ร้องขอ จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 ได้ทำหน้าหน้าที่ติดต่อประสานงานกับจำเลยที่ 7 ซึ่งเป็นอาจารย์ ประจำมหาวิทยาลัย ให้ดำเนินการคิดวิธีคำนวณความความเร็วของรถยนต์คันที่นาย ว. ขับขี่ให้มีความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจำเลยที่ 7 ได้คิดค้นหาวิธีคำนวณโดยใช้วิธีนำความยาวของรถยนต์คันที่นาย ว. ขับขี่แล่นผ่านจุดใดจุดหนึ่งตามภาพที่ได้จากคลิปไฟล์ภาพ ที่ไม่ใช่ไฟล์ภาพต้นฉบับมาใช้คำนวณ จนทำให้คำนวณความเร็วรถยนต์ได้ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อันเป็นการคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอย่างมาก 

จากนั้นจำเลยที่ 3 อาศัยโอกาสที่ตนเป็นพนักงานสอบสวนมีหน้าที่สอบสวนเพิ่มเติม พันตำรวจเอก ธ. ตามคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมของพนักงานอัยการ โดยนัดแนะ และให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 4 จำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 7 เข้าร่วมการสอบปากคำดังกล่าวด้วย จากนั้นในขณะการสอบปากคำเพิ่มเติมจำเลยที่ 3 ได้ปล่อยให้จำเลยที่ 7 ได้แสดงวิธีคิดคำนวณความเร็วรถยนต์ตามที่ได้นัดแนะกับจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 6 ให้ พันตำรวจเอก ธ. ดูเพื่อโน้มน้าว พันตำรวจเอก ธ. ให้เชื่อคล้อยตามวิธีคิดคำนวณของจำเลยที่ 7 ที่ตระเตรียมมา โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งร่วมกับจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้บังคับบัญชาของ พันตำรวจเอก ธ. อาศัยโอกาสที่มีอำนาจหน้าที่ร่วมกับจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 5 ทำการใช้อิทธิพลบังคับกดดัน และโน้มน้าว พันตำรวจเอก ธ. ให้ยึดถือวิธีการคิดคำนวณตามที่จำเลยที่ 7นำเสนอ 

โดยจำเลยที่ 1 ได้ทำการพูดในขณะร่วมสนทนา และสอบปากคำว่า "สิ่งหนึ่งที่ผมพูดคุยน้องมันไว้ ก็คือ น้องเนี่ยคำนวณจากระยะ แล้วก็ออกมาเป็นความเร็ว ความเร็วที่คิดมันคิดจากทฤษฎีที่เป็นทฤษฎีที่คิดในห้องทดลอง ห้องทดลองก็จะอากาศเบาบางคือ มันพยายามให้คิดความเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เพื่อการทำมาร์เก็ตติ้งความเร็วเท่าไร เร่งเท่าไร แต่ว่าในความจริง ในทัศนวิสัยเช่นว่า ยามเช้าอากาศหนักอะไรอย่างเนี่ย ความเร็วไม่เป็นไปตามทฤษฎี นี่คือ สิ่งที่ผมคิดนะ อย่างที่สองคือ ระยะทางที่ใช้คำนวณหน้ากล้องหลังกล้อง ความเร็วอาจจะเปลี่ยน อาจจะเร็วขึ้นก็ได้ อาจจะลดลงก็ได้ ลดลงเพราะว่าทัศนวิสัยการจราจรอะไรก็แล้วแต่ที่มันอยู่ข้างหน้า ซึ่งในกล้องมันไม่ปรากฏ นี้ผมคิดในมุมมองผมแบบนี้" 

กับให้ พลตำรวจโท ม. ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจพิสูจน์หลักฐาน ในฐานะผู้บังคับบัญชาของ พันตำรวจเอก ธ. พูดกับ พันตำรวจเอก ธ. ว่า "ทางพี่ อ. (ซึ่งหมายถึงชื่อเล่นของจำเลยที่ 1) เค้าอยากให้จบในชั้นอัยการ เค้าจะได้จบเลยจะได้ไม่ต้องสืบ"

ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้บริหารมีหน้าที่ต้องตรวจสอบถึงความบกพร่องของรายงานตรวจพิสูจน์หากเกิดความผิดพลาดขึ้นจริงรวมถึงตรวจสอบการคิดคำนวณตามวิธีของจำเลยที่ 7 ซึ่งใช้ไฟล์ที่มีใช่ต้นฉบับ อันเป็นข้อสงสัยถึงวิธีการคิดคำนวณว่ามิได้อยู่บนรากฐานของความถูกต้อง แต่จำเลยที่ 2 กลับไม่ดำเนินการตรวจสอบและได้พูดว่า "เราคำนวณตามอาจารย์ (ซึ่งหมายถึงจำเลยที่ 7) ได้มั้ย อาจารย์คิดได้ 79.22 เราไปลองดูซิว่าคิดตามแบบเค้าได้ไหม" สอดคล้องกับจำเลยที่ 4 ที่พูดว่า "อยากขอให้เป็น 74.22 ตามที่ อาจารย์ ส. คำนวณ" 

ซึ่งพฤติการณ์ทั้งมวลนี้แสดงถึงเจตนาประสงค์จะหักล้างหลักฐานตามที่ พันตำรวจเอก ธ. ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับความเร็วรถยนต์ไว้ โดยใช้อิทธิพลบังคับกดดันให้ พันตำรวจเอก ธ. เชื่อ และยอมที่จะให้การเปลี่ยนแปลงความเร็วรถยนต์คันที่นาย ว. ขับขี่ เป็นเหตุให้ พันตำรวจเอก ธ. ต้องจำยอม และให้การต่อจำเลยที่ 3 เปลี่ยนแปลงวิธีคิดคำนวณความเร็วรถยนต์จากเดิมที่คิดคำนวณไว้ความเร็วที่ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความคลาดเคลื่อนมากขึ้นหรือน้อยลง 17 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มาเป็นให้การว่าการคำนวณดังกล่าวนั้นคลาดเคลื่อน และทำการคำนวณความเร็วใหม่ได้ความเร็วรถยนต์ 79.22 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ดังที่จำเลยที่ 7 นำเสนอ 

จากนั้นจำเลยที่ 3 โดยคำแนะนำของจำเลยที่ 4 ได้จัดทำคำให้การพร้อมกับทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขวันที่ให้การ โดยคำให้การฉบับแรกจากวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 และคําให้การ ฉบับที่สองจากวันที่ 6 มีนาคม 2559 มาเป็นวันที่ 1 มีนาคม 2559 ให้ พันตำรวจเอก ธ. ลงลายมือชื่อ เป็นหลักฐานเพื่อนำส่งให้แก่พนักงานอัยการพิจารณาต่อไป

เปิดคำฟ้องละเอียด! ‘สมยศ-พวก’ ปมเปลี่ยนความเร็วรถ ‘คดีบอส’ ศาลนัดสอบ 10 ก.ย.67

ต่อมาจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีหน้าที่พิจารณารายงานผลการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียน นาย ว. ขอความเป็นธรรมกรณีการใช้ดุลยพินิจของพนักงานอัยการ ต่อคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ได้รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา จำเลยที่ 1 ควรใช้อำนาจรวบรวมข้อเท็จจริงพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องร้องเรียนโดยไม่มีการชี้ขาดหรือเลือกปฏิบัติ แต่จำเลยที่ 1 กลับอ้างข้อมูลในเหตุการณ์สอบปากคำเพิ่มเติม พันตำรวจเอก ธ. มิชอบดังกล่าวที่ตนมีส่วนร่วมอยู่ด้วย เพื่อสนับสนุนการร้องขอความเป็นธรรมให้กับนาย ว. การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 จึงเป็นการร่วมกันกระทำผิดโดยมีเจตนามุ่งเพื่อจะช่วยเหลือนาย ว. ผู้ต้องหา ซึ่งถูกกล่าวหากระทำผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายมิให้ต้องรับโทษหรือให้รับโทษน้อยลง อันเป็นการมิชอบต่อกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย และเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พันตำรวจเอก ธ. ญาติของ ดาบตำรวจ ว. ผู้ตาย และบุคคลหรือประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

จำเลยที่ 8 ขณะนั้นเป็นพนักงานอัยการ รักษาการตำแหน่งรองอัยการสูงสุดได้อาศัยโอกาสที่ตนได้รับมอบหมาย และมอบอำนาจ ให้ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุดในงานด้านคดีร้องขอความเป็นธรรมตามคำสั่งอัยการสูงสุดที่ 1515/2562 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2562 มีอำนาจพิจารณาสำนวนคดีอาญาที่มีการร้องขอความเป็นธรรม ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ พิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรม ที่ยื่นต่อพนักงานอัยการเป็นครั้งที่ 14 ในคดีที่นาย ว. ผู้ต้องหาในข้อหาความผิดขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้มีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติม พลอากาศโท จ. และนาย จ. เมื่อได้รับผลการสอบสวนเพิ่มเติมจำเลยที่ 8 ได้ใช้อำนาจวินิจฉัยสั่งไม่ฟ้องนาย ว. ผู้ต้องหาคดีดังกล่าว 

ทั้งที่ผลการตรวจสอบสถานที่ ผลการตรวจสถานที่เกิดเหตุ รายงานการตรวจสภาพรถคันเกิดเหตุ รายงานการเก็บวัตถุพยาน ภาพถ่ายประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์ ภาพถ่ายรถยนต์คันเกิดเหตุ และภาพถ่ายรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุ พยานใกล้ชิดเหตุการณ์ ปากนาย จ. ซึ่งความเห็นอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ และอดีตอัยการสูงสุด หรืออดีตรองอัยการสูงสุด ได้วินิจฉัยพยานไว้ก่อนโดยละเอียดแล้วว่ามีน้ำหนักน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะผลการตรวจสถานที่เกิดเหตุซึ่งปรากฏการพิสูจน์ความเร็วของนาย ว. ขับขี่ ความเร็ว 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีเหตุอันสมควรเพียงพอที่จะนำนาย ว.ผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา 

แต่จำเลยที่ 8 กลับพิจารณาอาศัยพยานปาก พลอากาศโท จ.ซึ่งให้การหลังเกิดเหตุนานกว่า 2 ปีเศษ และพยานผู้เชี่ยวชาญอื่น อันเป็นการเลือกหยิบยกพยานหลักฐานดังกล่าวมาพิจารณา ทั้งที่อดีตอัยการสูงสุด และอดีตรองอัยการสูงสุดได้วินิจฉัยไว้ก่อนแล้วว่าไม่ควรนำมารับฟังเนื่องจากไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ 

โดยจำเลยที่ 8 มิได้ให้เหตุผลหักล้างหรือแสดงผลเป็นอย่างอื่น และไม่รับฟังพยานหลักฐานอื่นในสำนวนที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ อันเป็นการวินิจฉัยมูลความผิด โดยใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจด่วนวินิจฉัยคดีเสียเอง มิได้ใช้เกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดอย่างที่พนักงานอัยการพึงใช้ อันผิดปกติวิสัยของพนักงานอัยการโดยทั่วไป เป็นการกระทำการมิชอบโดยมีเจตนาเพื่อจะช่วยนาย ว. ผู้ต้องหามิให้ต้องโทษหรือรับโทษน้อยลงอันเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย และเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานอัยการสูงสุด ญาติของดาบตำรวจ ว. ผู้ตาย และผู้อื่นหรือประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

เหตุตามฟ้องเกิดที่ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ถนนอังรีดูนังต์ แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร, อาคารรัฐสภา (หลังเก่า) ถนนอู่ทองใน แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร, สำนักงานอัยการสูงสุด (อาคารถนนแจ้งวัฒนะ) ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

ในชั้นไต่สวน จำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ต่อมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาแล้วมีมติว่าการกระทำของจำเลยทั้งแปดมีมูลความผิดทางอาญาตามข้อกล่าวหา และได้ส่งรายงาน เอกสาร พร้อมความเห็นมายังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดี โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งแปดเป็นคดีนี้ ในการฟ้องคดีนี้ อัยการสูงสุด มีคำสั่งมอบหมายให้ พนักงานอัยการสำนักงานอัยการคดีปราบปรามการทุจริต เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดีจนคดีถึงที่สุด

ศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลางรับคดีไว้พิจารณา เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท. 131/2567 ให้จำเลยทั้งแปดแต่งตั้งทนายความ และให้นัดสอบคำให้การจำเลย ในวันที่ 10 กันยายน 2567 เวลา 09.30 นาฬิกา โดยศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งแปด และมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งแปดออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

เปิดคำฟ้องละเอียด! ‘สมยศ-พวก’ ปมเปลี่ยนความเร็วรถ ‘คดีบอส’ ศาลนัดสอบ 10 ก.ย.67

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์