'เรืองไกร'ท้านายกฯแพทองธาร โชว์ใบลาออกจาก กรรมการบริษัท 20 แห่ง

'เรืองไกร'ท้านายกฯแพทองธาร โชว์ใบลาออกจาก กรรมการบริษัท 20 แห่ง

'เรืองไกร'ท้านายกฯแพทองธาร โชว์ใบลาออกจาก กรรมการบริษัท 20 แห่ง เพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองว่าได้ลาออกจริงหรือไม่

วันที่ 30 ส.ค. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้แสดงหลักฐานต่อสาธารณะเกี่ยวกับการลาออกจากกรรมการบริษัทต่าง ๆ รวม 20 บริษัท ของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2567 ก่อนได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2567 ว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้ลงนามในหนังสือลาออกทั้ง 20 บริษัท จริงหรือไม่ มีสำเนาใบลาออกที่ลงรับโดยแต่ละบริษัท โดยถูกต้องตามวันและเวลา หรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวว่า การทำหนังสือวันนี้ มีเหตุมาจากที่นายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าว เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2567 ว่า“วันที่ 27 ส.ค. เวลา 10.25 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าอาคารชินวัตร 3 ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงกระแสข่าวที่ได้ลาออกจากกรรมการบริษัท ในเครือชินวัตร จำนวน 21 บริษัท นั้นจริงหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่แน่ใจว่าลาออกไปกี่บริษัท แต่ยืนยันว่า อะไรที่ทำแล้ว และขัดต่อกฎหมายก็ต้องดำเนินการให้หมด ซึ่งขณะนี้ทีมกฎหมายกำลังช่วยกันดำเนินการ แต่จะกี่บริษัทนั้น ไม่แน่ใจ ขอดูกฎหมายเป็นหลัก”
 

นายเรืองไกร กล่าวว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีไม่แน่ใจว่า ลาออกไปกี่บริษัท ตนจึงขอคัดเอกสารจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามาตรวจดู พบว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้ลาออกจากกรรมการบริษัทต่าง ๆ รวม 20 บริษัท โดยทั้ง 20 บริษัท ซึ่งทั้งหมดไปจดทะเบียนวันที่ 19 ส.ค. 2567 ระบุตรงกันว่า “ให้แก้ไขเพิ่มเติมจำนวนกรรมการของบริษัท เป็นดังนี้ กรรมการออกจากตำแหน่ง 1 คน คือ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร และในแบบคำรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัด ระบุว่า ได้มีหนังสือลาออกจากตำแหน่งกรรมการของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ลงวันที่ 15 ส.ค. 2567 โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. 2567 บริษัทได้รับเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2567”

นายเรืองไกร กล่าวว่า บริษัททั้ง 20 แห่ง มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่ต่างกัน คือ มี 14 บริษัท ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร , มี 2 บริษัท ตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี , มี 1 บริษัท ตั้งอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา และ มี 3 บริษัท ตั้งอยู่ในจังหวัดลำพูน

นายเรืองไกร กล่าวว่า การไปจดทะเบียนว่าบริษัททั้ง 20 แห่ง ได้รับหนังสือลาออกในวันเดียวกัน คือ วันที่ 15 ส.ค. นั้น จึงน่าสงสัยว่า หนังสือลาออกที่แต่ละบริษัทระบุว่าได้รับเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2567 จริงหรือไม่ เหตุใดจึงไปจดทะเบียนวันที่ 19 ส.ค. 2567 กรณี จึงควรมีการนำหลักฐานมาแสดงให้ดูว่า แต่ละบริษัทได้รับหนังสือลาออกอย่างไร มีการลงเลขที่รับ และวันเวลาไว้หรือไม่
 

นายเรืองไกร กล่าวว่า จากคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีที่ยืนยันว่า “อะไรที่ทำแล้ว และขัดต่อกฎหมายก็ต้องดำเนินการให้หมด ซึ่งขณะนี้ทีมกฎหมายกำลังช่วยกันดำเนินการ แต่จะกี่บริษัทนั้น ไม่แน่ใจ” นั้น เพื่อพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับการลาออกจากการเป็นกรรมการใน 20 บริษัทดังกล่าว จึงขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทีมกฎหมายนำเอกสารออกมาโชว์หรือแสดงต่อสาธารณะได้ทันที เพื่อให้แน่ใจว่า มีการลาออกจริงตามวันเวลาดังกล่าว และสามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันต่อ กกต. ตามที่ได้มีการยื่นตรวจสอบไปแล้วด้วย  

"หากการลาออกถูกต้องตามวันเวลาดังกล่าวจริง ก็ไม่มีปัญหาต่อการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่หากการลาออกมีการทำเอกสารย้อนหลัง หรือลาออกจริงหลังจากวันที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็อาจมีประเด็นให้ กกต. ตรวจสอบว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องสิ้นสุดลงเฉพาะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่"