ข้อคิดมาตรฐานจริยธรรมกับการเมืองไทย | บัณฑิต นิจถาวร
สัปดาห์ที่แล้ว ผมให้สัมภาษณ์รายการ CEO Vision Plus FM96.5 เรื่องมาตรฐานจริยธรรม โจทย์สําคัญรัฐบาลใหม่รวมถึงมาตรการเศรษฐกิจที่รัฐบาลใหม่ควรทำ
วันนี้จึงขอแชร์ความเห็นผมที่ให้ไปเรื่องมาตรฐานจริยธรรมกับการเมืองไทยให้แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ
จริยธรรมนักการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ และที่กลายมาเป็นประเด็นพูดกันมากระยะนี้ ถ้าจะวิเคราะห์จริงๆ ต้นเหตุก็มาจากความล้มเหลวของผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่า นักการเมือง ข้าราชการ กระบวนการยุติธรรม และองค์กรอิสระในการทําหน้าที่ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศเรา
ส่งผลให้ปัญหาคอร์รัปชันยิ่งเติบโตรุนแรงจนผู้ทำผิดไม่เกรงกลัวกฎหมายและไม่ละอายที่จะทุจริตคอร์รัปชัน
ที่สําคัญ เมื่อไม่มีการปราบปรามคอร์รัปชันด้วยการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง ผู้ทุจริตก็ลอยนวล ยังมีหน้ามีตาและมีบทบาทสูงในสังคมและการเมืองของประเทศ จนต้องเอา “มาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง” มาเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาอย่างที่เห็น
แต่จริยธรรมเป็นคําสูงและละเอียดอ่อนเพราะเกี่ยวกับความเห็นที่อาจมีต่างกันระหว่างคนในสังคมว่าอะไรควรไม่ควร
ดังนั้น เมื่อนําจริยธรรมมาใช้เป็นเกณฑ์ตัดสิน ความคลุมเครือจึงมากและมักมีคําถามเสมอว่าอะไรคือมาตรฐานจริยธรรมที่นํามาใช้ ผู้ตัดสินเรื่องนี้มีความรู้และเข้าใจเรื่องจริยธรรมดีหรือไม่ รวมถึงผู้ตัดสินเรื่องนี้มีจริยธรรมเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ก่อนที่จะมาตัดสินคนอื่นเรื่องจริยธรรม นี่คือปัญหาที่มีตามมา
ถ้าจะเข้าใจจริยธรรม อยากเริ่มว่า จริยธรรมอยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งในรายการ ผมอธิบายว่า ถ้าเราลากเส้นเเนวนอนในอากาศข้างหน้าเรา แล้วนึกว่าอะไรที่อยู่ใต้เส้นคือสิ่งผิดกฎหมายเราไม่ทํา อะไรที่อยู่เหนือเส้นคือสิ่งถูกกฎหมายที่เราทํา
แต่ส่วนที่อยู่เหนือเส้นยังแบ่งได้อีกเป็นสองกลุ่ม คือ ถูกกฎหมายและทําได้ กับ ถูกกฎหมายแต่ไม่ควรทํา
เส้นแบ่งนี้ก็คือจริยธรรมที่เตือนเราว่าอะไรควรทําไม่ควรทําแม้จะไม่ผิดกฎหมาย นี่คือทําไมจริยธรรมอยู่เหนือกฎหมาย เพราะเป็นพฤติกรรมที่ถูกกฎหมาย ทําได้ แต่ไม่ควรทํา เหมือนทำได้ ไม่บาป แต่ไม่ควรทํา
ในการนำแนวคิดจริยธรรมข้างต้นไปใช้ปฏิบัติ องค์กรทั่วไปจะมีมาตรฐานจริยธรรมขององค์กรเพื่อเป็นแนวทางให้คนในองค์กรถือปฏิบัติเพื่อให้เกิดแต่พฤติกรรมที่พึงประสงค์และหลีกเลียงสิ่งที่ไม่ควรทํา เช่น ในองค์กรแพทย์ ตุลาการ สื่อมวลชน สถาบันการเงิน ข้าราชการ และบริษัทธุรกิจ
และเมื่อมีการปฏิบัติของคนในองค์กรไม่ตรงกับมาตรฐานจริยธรรมที่กำหนดก็จะมีกระบวนการสอบสวนตักเตือนลงโทษเพื่อรักษาไว้ซึ่งมาตรฐานและชื่อเสียงขององค์กร
กระบวนการดังกล่าวมักจะมีขั้นตอนอุทธรณ์รวมอยู่ด้วย และจะระบุโทษเป็นสัดส่วนกับความผิดที่ทําไปเพื่อความเป็นธรรม เห็นได้ว่าทั้งหมดเป็นเรื่องภายในองค์กร ทั้งการกําหนดมาตรฐานจริยธรรม การสอบสวน และการลงโทษ
กรณีนักการเมืองก็ต้องมีมาตรฐานจริยธรรมเพื่อควบคุมพฤติกรรมที่ทําได้ตามกฎหมาย แต่ไม่ควรทําเพื่อลดทอนการใช้อํานาจที่ไม่ควร
ซึ่งกรณีบ้านเรามาตรฐานและกระบวนการดังกล่าวนักการเมืองไม่ได้ทําเอง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 219 ระบุให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระกำหนดมาตรฐานจริยธรรม ที่จะบังคับใช้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ
และเมื่อประกาศใช้ให้นํามาตรฐานจริยธรรมดังกล่าวมาบังคับใช้กับ ส.ส. ส.ว. และคณะรัฐมนตรี ซึ่งทั้งหมดก็คือนักการเมือง และกําหนดให้กระบวนการไต่สวนลงโทษอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ศาลฎีกา หรือ ศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณีและความร้ายแรง
จะเห็นได้ว่า กรณีของบ้านเรา การพิจารณาประเด็นจริยธรรมนักการเมืองจ ะมีบริบทเฉพาะและมีกระบวนเฉพาะในการไต่สวนเอาผิดลงโทษ ทำโดยบุคคลที่ไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นศาลและองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ระบุในกฏหมาย ต่างกับการนําจริยธรรมไปปฏิบัติโดยองค์กรทั่วไปที่เน้นบทบาทของคนในองค์กรทั้งในการกําหนดมาตรฐานจริยธรรม การสอบสวน และลงโทษ
ความแตกต่างนี้มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือมีคนจากภายนอกหรือบุคคลที่สาม คือศาลและองค์กรอิสระ เข้ามาร่วมตรวจสอบเพราะนักการเมืองเป็นบุคคลสาธารณะที่การทําหน้าที่สามารถสร้างทั้งประโยชน์และความเสียหายให้กับชาติบ้านเมืองได้
ข้อเสียคือ กระบวนการตรวจสอบโดยบุคคลภายนอกอาจถูก abuse คือถูกใช้เป็นเครื่องมือในเรื่องอื่นในทางที่ผิด เช่น ควบคุมนักการเมืองด้วยเหตุผลทางการเมือง หรือห้ำหั่นนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามโดยผู้ดำรงตําแหน่งในองค์กรอิสระที่เข้ามาทําหน้าที่แต่ไม่อิสระจริง ทำให้เครื่องมือดังกล่าวไม่สามารถสร้างมาตรฐานจริยธรรมได้อย่างที่ควรจะเป็น
ในรายการ ผมให้ความเห็นว่า เราควรห่วงมากๆ เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันเพราะเป็นปัญหาใหญ่และเป็นปัญหาที่กดทับความเจริญก้าวหน้าของประเทศ และต้องทำทุกอย่างเพื่อลดโอกาสและป้องกันนักการเมืองและข้าราชการประจําไม่ให้ใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่หาประโยชน์ด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน
ซึ่งวิธีดีสุดและมีประสิทธิผลสุดคือปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข้งจริงจัง ให้สามารถเอานักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชันดําเนินคดีเข้าคุกและออกจากระบบการเมืองของประเทศได้ ไม่ใช่มายืนยิ้มอยู่หน้าจอทีวี
นี่คือสิ่งที่เป็นความอับอายและเป็นจุดอ่อนสุดๆ ของการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศเรา ถ้าทำได้ ระบบการเมืองประเทศเราก็จะมีแต่นักการเมืองที่ไม่ทุจริต และเราจะไม่ต้องใช้ “มาตรฐานจริยธรรม“ มาเป็นเครื่องมือคัดกรองหรือ “ตามจับ” คนที่ทุจริตหรือทำผิดให้ออกจากการทำหน้าที่ทางการเมือง
เพราะการทําดังกล่าวมีความเสี่ยงที่มาตรฐานจริยธรรมจะถูกบิดเบือน คือถูกนําไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง เกิดเป็นความผิดพลาดและความไม่เป็นธรรมอย่างที่หลายคนห่วงขณะนี้
ดังนั้นที่อยากเห็นคือ เราจริงจังกับการแก้การทุจริตคอร์รัปชันตั้งแต่ต้นมือ เพื่อลดภาระไม่ต้องใช้จริยธรรมมาเป็นเครื่องมือคัดกรองหรือสกัดนักการเมืองในภายหลัง ทำให้เราจะมีมาตรฐานจริยธรรมนักการเมืองที่มุ่งสร้างบรรทัดฐานในการใช้อำนาจที่มากับตำแหน่งของนักการเมือง ให้เป็นการใช้อํานาจเพื่อประโยชน์ต่อชาติและส่วนรวมไม่ใช่เพื่อส่วนตน
แม้การใช้อำนาจนั้นจะทำได้ตามสิทธิหรือโดยไม่ผิดกฎหมาย นี่คือบริบทของจริยธรรมที่ควรจะเป็น คือทําได้แต่ไม่ควรทํา.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล