ศาล รธน.มติ 6:3 ไม่รับคำร้อง ‘ไพบูลย์’ ปมข้อพิพาทไทย-กัมพูชา MOU 2544
มติศาล รธน.เสียงข้างมาก 6:3 ไม่รับคำร้อง ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ปมขอให้วินิจฉัยพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาตาม MOU 2544 แบ่งผลประโยชน์ทางทะเล ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ชี้ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีสำคัญและและเป็นที่สนใจ เรื่องพิจารณาที่ ต. 29/2567 กรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย (ผู้ถูกร้องที่ 1) และกระทรวงการต่างประเทศ (ผู้ถูกร้องที่ 2) นำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ไทย-กัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ค.ศ. 2001 (MOU 2544) ซึ่งทำขึ้นโดยไม่ได้รับจากรัฐสภาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาใช้ดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยและผลประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติทางพะเลของประเทศไทยด้านอาวไทย ละเมิดสิทธิของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 25 และมาตรา 43 วรรคหนึ่ง (2) และขอให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองยกเลิกการนำ MOU 2544 มาใช้
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามเอกสารหลักฐานของผู้ถูกร้องที่ 1ปรากฏว่า กรณีเป็นปัญหาเรื่องหน้าที่ของรัฐตามหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ ยังไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยตรงจากการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง ข้อกล่าวอ้างของผู้ร้องเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของผู้ร้องในฐานะประชาชนเกี่ยวกับปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ MOU 2544 เท่านั้น กรณีไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (6 ต่อ 3) มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อมีคำสั่ง ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย คำขออื่นย่อมเป็นอันตกไป
สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จำนวน 6 คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ และนายอุดม รัฐอมฤต
ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน 3 คน คือ นายจิรนิติ หะวานนท์ นายนภดล เทพพิทักษ์ และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ