กสม.ชงแก้กฎ ก.ตร.ต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี จี้นายกฯลงนาม
กสม. ชงแก้กฎ ก.ตร. คุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ ต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ตามหลัก ไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ จี้นายกฯเร่งลงนามรับรองกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติ
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2567 นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีมติหยิบยกกรณี กฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากพบว่ากฎ ก.ตร. ดังกล่าวได้กำหนดคุณสมบัติบางประการตามบัญชีโรคหรืออาการที่ไม่ควรเป็นข้าราชการตำรวจ ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกาย หรือสุขภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 วรรคสาม
เมื่อปี พ.ศ. 2562 กสม. เคยมีรายงานผลการตรวจสอบที่ 413/2562 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2562 วินิจฉัยประเด็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีตามกฎ ก.ตร. ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และได้มีข้อเสนอแนะให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และโรงพยาบาลตำรวจ ปรับปรุงแก้ไขแนวทางการตีความคำว่า “โรคเอดส์” และการติดเชื้อเอชไอวีในกฎ ก.ตร. รวมถึงปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี และเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบัน
แต่ ตร. และ ครม. ไม่ได้ดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าเป็นการกำหนดคุณสมบัติที่เกี่ยวเนื่องกับสมรรถภาพในการปฏิบัติงาน ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 วรรคห้า ได้ให้อำนาจในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย หรือจริยธรรมของทหาร ตำรวจ ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐไว้ ต่อมา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ ยังได้ออกกฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2566 (กฎ ก.ตร. 2566) โดยยังคงกำหนดให้โรคเอดส์และ/หรือการติดเชื้อเอชไอวีเป็นโรคหรืออาการที่เป็นลักษณะต้องห้ามในการเข้าเป็นข้าราชการตำรวจ กสม. จึงมีมติหยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นพิจารณาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะ
จากการประชุมรับฟังความคิดเห็น พิจารณาข้อกฎหมาย แนวคิด ทฤษฎี พันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน เอกสาร งานวิจัย และแนวทางคำวินิจฉัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า กฎ ก.ตร. 2566 เป็นการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติตำรวจ พ.ศ. 2565 มาตรา 71 (5) โดยกำหนดคุณสมบัติที่แตกต่างจากการรับสมัครข้าราชการพลเรือนหรือข้าราชการอื่นโดยทั่วไป เนื่องจากมีการตั้งเงื่อนไขเกี่ยวกับอายุ สภาพร่างกาย เหตุแห่งสุขภาพ สมรรถนะทางร่างกาย ตลอดไปถึงบัญชีโรค อาการ ภาวะอื่นใด หรือมีลักษณะต้องห้าม ที่ไม่ควรเป็นข้าราชการตำรวจ และให้ดุลพินิจแก่คณะกรรมการแพทย์โรงพยาบาลตำรวจในการวินิจฉัยโรคหรืออาการอื่นใดที่เห็นว่าไม่ควรเป็นข้าราชการตำรวจได้
แม้ กสม. จะเคยออกรายงานผลการตรวจสอบ เมื่อเดือนธันวาคม 2562 วินิจฉัยว่ากฎ ก.ตร. 2547 ที่ใช้อยู่ ณ ขณะนั้นมีข้อกำหนดอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ ตร. และโรงพยาบาลตำรวจชี้แจงว่าไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอแนะท้ายรายงานผลการตรวจสอบฉบับดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นการกำหนดกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมตามความจำเป็นตามบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจภายใต้ขอบเขตของกฎหมายแล้ว มิใช่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในด้านสุขภาพหรือสมรรถภาพแต่อย่างใด เพราะจำเป็นต้องคัดเลือกบุคคลที่มีความพร้อมกว่าหรือดีที่สุด ทั้งทางด้านสุขภาพกายหรือจิตใจที่พร้อมปฏิบัติหน้าที่ได้โดยทันที และทนทานต่อทุกสถานการณ์ในการปฏิบัติภารกิจที่เร่งด่วน ยากลำบาก คับขัน และมีแรงบีบคั้นของสังคม เพื่อบรรลุต่อความคาดหวังของประชาชน
โดยในภายหลัง ศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำพิพากษาที่ อบ. 210/2565 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2565 วินิจฉัยประเด็นในคดีที่ผู้เสียหายในคำร้องดังกล่าวยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับพวก ว่า การกำหนดหลักเกณฑ์ในกฎ ก.ตร. ดังกล่าวนั้น เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมตามความจำเป็นกับบทบาทอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของการเป็นข้าราชการตำรวจและอยู่ภายใต้ขอบเขตของอำนาจกฎหมายทุกประการ มิใช่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ให้โอกาสแก่ผู้เป็นโรคเอดส์หรืออ้างเหตุแห่งความเป็นโรคดังกล่าวมาจำกัดสิทธิในการเข้าทำงาน
อย่างไรก็ดี จากการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนการศึกษาวิธีปฏิบัติทางสากลของประเทศต่าง ๆ พบว่า ปัจจุบันหากผู้ติดเชื้อเอชไอวีกินยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างต่อเนื่อง จนสามารถควบคุมเชื้อไวรัสเอชไอวีให้มีค่า CD4 ในเกณฑ์ที่ได้มาตรฐาน กระทั่งกดเชื้อไวรัสเอชไอวีให้อยู่ในจุดที่ไม่สามารถตรวจจับหาเชื้อ หรือ “Undetectable” ได้ บุคคลผู้นั้นจะไม่แพร่เชื้อ (Untransmittable) และสามารถดำเนินชีวิตได้เหมือนกับคนที่ไม่ติดเชื้อ ทั้งการทำงาน การเรียน และมีอายุยืนยาว หรือเรียกว่า U=U (Undetectable = Untransmittable หรือไม่เจอ=ไม่แพร่)
อีกทั้งแนวปฏิบัติใหม่ขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับการยับยั้งการแพร่ไวรัสเอชไอวีในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของปัจเจกชนและลดการแพร่เชื้อ เมื่อปี 2566 ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์นิยามของคำว่า “Undetectable” ในทางการแพทย์ว่า หากผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในชุดทดสอบ จะมีความเสี่ยงเท่ากับร้อยละศูนย์ที่จะส่งต่อไวรัสเอชไอวีให้แก่คู่นอน รวมถึงมีความเสี่ยงต่ำมากที่จะส่งต่อไวรัสเอชไอวีให้แก่บุตรทางน้ำนม หรือแม้แต่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีเชื้อไวรัสอยู่ระดับที่ “Suppressed” (มีการตรวจพบไวรัสเอชไอวีในเลือด แต่อยู่ระดับที่เท่ากับหรือต่ำกว่า 1,000 ตัว/มิลลิลิตร) ยังมีความเสี่ยงต่ำมากที่จะถ่ายทอดไวรัสเอชไอวีให้แก่คู่นอนหรือบุตรทางน้ำนมเช่นเดียวกัน
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า หากผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้กินยาอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่อยู่ในภาวะ U=U แต่ก็มีความเสี่ยงต่ำที่จะแพร่เชื้อเอชไอวีให้แก่ผู้อื่น ซึ่งปัจจุบันในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐฝรั่งเศสได้เปลี่ยนกฎเกณฑ์ที่เป็นการตีตราผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยนำหลักการดังกล่าวมาพัฒนาเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือกฎการรับสมัครบุคลากรเข้าร่วมกองทัพหรือการเป็นตำรวจ
กสม. จึงเห็นว่า แม้การจำกัดสิทธิของบุคคลไม่ให้เข้ารับราชการตำรวจเพราะเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี อาจถูกยกเว้นได้ตามมาตรา 27 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ด้วยเหตุของสมรรถภาพการเป็นข้าราชการตำรวจ ตามนัยที่ปรากฏในแนวคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แต่เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ปฏิบัติต่อข้าราชการที่ติดเชื้อเอชไอวี จะเห็นได้ว่า ตร. ไม่ได้นำประเด็นสมรรถภาพมาใช้พิจารณาในการสลับสับเปลี่ยน โยกย้าย หรือพิจารณาให้ออกจากราชการแต่อย่างใด ย่อมแสดงให้เห็นว่าการเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้ส่งผลต่อสมรรถนะวินัยตามที่ได้กล่าวอ้าง ตลอดจนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติทางต่างประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงหลังก็แสดงให้เห็นว่าการเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ส่งผลต่อสมรรถภาพทางกาย หรือสุขภาพอย่างมีนัยยะสำคัญ
นอกจากนี้ กสม. เห็นว่า การจำกัดสิทธิเสรีภาพ ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรมและหลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ รวมทั้งต้องไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ การนำเหตุแห่งการจำกัดสิทธิมาใช้จึงต้องมีเหตุผลที่มากเพียงพอและหลีกเลี่ยงมิได้ แต่เมื่อมีข้อเท็จจริงอันอาจทำให้เปลี่ยนแปลงเหตุแห่งการจำกัดสิทธิและเสรีภาพนั้น ก็ต้องนำเหตุดังกล่าวมาพิจารณาใหม่ด้วย ดังนั้น การเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีในปัจจุบันจึงไม่อาจนำมากำหนดเป็นข้อยกเว้นของการเลือกปฏิบัติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 วรรคห้า นอกจากนี้ การที่หน่วยงานราชการนำเหตุแห่งสมรรถภาพมาใช้จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล อันก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลด้วยเหตุแห่งสุขภาพหรือสภาพร่างกาย และไม่นำปัจจัยอื่นมาพิจารณาประกอบกัน ทำให้เห็นว่าประเทศไทยยังขาดกฎหมายกลางในการคุ้มครองบุคคลจากการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุต่าง ๆ ด้วย
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 จึงเห็นควรให้มีข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ พิจารณายกเลิกคำว่าโรคเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวี ในบัญชีโรค อาการ ภาวะอื่นใด หรือมีลักษณะต้องห้าม ที่ไม่ควรเป็นข้าราชการตำรวจ ตามข้อ 2 (14) แนบท้ายกฎ ก.ตร.ฯ รวมทั้งห้ามมิให้มีการกำหนดนโยบายโยกย้ายข้าราชการตำรวจผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือมีการสั่งพักราชการ หรือให้ออกจากราชการ หรือไล่ออกจากราชการ ด้วยเหตุแห่งการเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาปรับปรุงกฎ ก.ตร. 2566 รวมไปถึงบัญชีโรค อาการ ภาวะอื่นใด หรือมีลักษณะต้องห้าม ที่ไม่ควรเป็นข้าราชการตำรวจ ตามข้อ 2 (14) แนบท้ายกฎ ก.ตร.ฯ ให้สอดคล้องกัน
ตลอดจนให้เร่งพิจารณาลงนามรับรองกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ฉบับของประชาชน เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และให้คณะรัฐมนตรีเร่งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. .... ที่จัดทำโดยกระทรวงยุติธรรม เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภา ทั้งนี้ ให้มีเนื้อหาครอบคลุมถึงประเด็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งสุขภาพและการเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีด้วย