'ประธานสภาฯ' แจงยังไม่มีหนังสือของตัว 'พิศาล' ขึ้นศาล คดีตากใบ

'ประธานสภาฯ' แจงยังไม่มีหนังสือของตัว 'พิศาล' ขึ้นศาล คดีตากใบ

"วันนอร์" บอกศาลไม่มีหนังสือขอตัว "พิศาล" ดำเนินกระบวนการคดีตากใบ ด้าน "อดิศร" ลุกปกป้องทันควัน แม้มีเรื่องต้องไม่ให้ แม้อีก44 วันคดีหมดอายุความ

ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาฯ โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม โดยในช่วงให้ สส. หารือ พบว่า นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน หารือต่อขั้นตอนของสภาฯ เพื่อส่งตัว พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คิรี  สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตแม่ทัพภาค4 ฐานะจำเลยที่หนึ่งในคดีตากใบ ขึ้นศาล เนื่องจากวันที่ 12 ก.ย. จะมีการเบิกคำให้การจำเลยครั้งแรก โดยตัวแทนญาติของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิตขอให้ประธานสภาฯ ให้ความสำคัญอำนวยความยุติธรรมและให้ศาลได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งญาติผู้เสียหายได้ทำหนังสือถึงนายวันมูหะมัดนอร์ ผ่านนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ฐานะประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย  การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน  สภาฯ เพื่ออนุญาติให้ พล.อ.พิศาลเดินทางไปศาลในวันดังกล่าวและวันที่มีการนัดต่อๆ ไป เนื่องจากคดีดังกล่าวจะหมดอายุความอีก 44 วัน

โดยนายวันมูหะมัดนอร์ ชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่มีหนังสือที่ศาลยังไม่มีหนังสือส่งมาขอตัว พล.อ.พิศาลไปดำเนินคดี และผู้ที่ถูกกล่าวหา ที่เป็น สส. ไม่มีหนังสือขอไปดำเนินคดี หากเขาขอต้องขออนุญาตที่สภา ขณะนี้ไม่มีการขออนุญาตเข้ามา

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวด้วยว่า ในการปฏิบัติของสภาฯ ไม่ใช่ว่าไม่เห็นใจเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินคดี แต่สภาเห็นว่าเพื่อพิทักษ์เอกสิทธิของสมาชิก โดยในอดีตเกรงว่า สส.ฝ่ายค้านหรือไม่ได้อยู่กับฝ่ายยรัฐบาล สมัยประชุมกลั่นแกล้งฟ้องคดีอาญาให้ตำรวจเรียกสอบสวนไม่ปฏิบัติหน้าที่สภาฯได้ โดยเฉพาะดาวสภา แต่ไม่เคยเกิดขึ้นเพาะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมาเพื่อปกป้องและกลั่นแกล้ง เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลมีอำนาจเรียกไปไต่สวนและคุมขัง ตอนนี้ยุ่งยุ่งหากคุมขังจะพ้นสมาชิกสภาพ

"มองในแง่ดี แง่นี้ มีข้อดีข้อเสีย หลายคดีที่มีสมาชิก มาขอไปดำเนินคดี สภา ไม่ให้ เพราะหากให้กรณีนี้แล้วกรณีอื่นต้องให้ โดยที่จำได้ 40 ปีของสภา เป็นแบบนี้ ทั้งนี้มาตรา 125 ให้ความคุ้มครองกับสมาชิก แต่หากตำรวจและศาลขอไปดำเนินคดีระหว่างประชุม เพราะคดีจะหมดอายุความ ผมจะพิจารณา แต่ประธานสภาไม่มีสิทธิ เว้นแต่สภาจะอนุญาต" นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

ทั้ง นายอดิศร เพียงเกษ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายด้วยว่า วันนี้ (11 ก.ย.) ศาลอาญาได้พิจารณาในคดีที่ตนเป็นจำเลยข้อหาาบงการเหตุการณ์ที่พัทยา เป็นการสืบพยานโจทก์ แต่ตนได้มอบหมายทนายไปดำเนินการ เนื่องจากสามารถพิจารณาลับหลังได้ ทั้งนี้เอกสิทธิของสส.ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา  125 ที่กำหนดให้ศาลพิจารณาคดีสมัยประชุมก็ได้  แต่หากศาลขอมา เรามีประเพณีว่าไม่ให้เด็ดขาด ทั้งนี้ไม่จำเป็นไม่ควรไปศาลเด็ดขาด หากมีธุระควรไปกินกาแฟที่อื่นดังนั้นเราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องไม่ให้เด็ดขาด

\'ประธานสภาฯ\' แจงยังไม่มีหนังสือของตัว \'พิศาล\' ขึ้นศาล คดีตากใบ

ขณะที่นายกมลศักดิ์ ชี้แจงด้วยว่ามาตรา 125 วรรคท้ายทุกคนเป็นห่วง ว่าคดีจะขาดอายุความ พรุ่งนี้ (12 ก.ย.) หลังศาลรับฟ้องแล้ว นัดสอบคำให้การวันแรก จะครบกำหนดอายุความ 20 ปี ในวันที่ 25 ต.ค. นี้ ประเด็นคือการนับอายุความต้องนับ 20 ปี เมื่อจำเลยหรือผู้ต้องหาไปศาล หากผู้ที่เป็นสส. ใช้เอกสิทธิไม่ไปศาล เป็นเรื่องของสภาฯ ที่คุ้มครอง สส. โดยประธานสภา ไม่มีอำนาจ

“เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับสามัญสำนึกที่ศาลรับฟ้องคดีตากใบว่าหากพิสูจน์ความบริสุทธิ์ เดินทางไปศาลได้ เพราะมาตรา 125 ระบุว่าไม่ขัดขวางการประชุม เพราะมีการประชุม พุธ พฤหัสบดี แต่วันอื่นไม่มีประชุม สามารถไปได้ ดังนั้นหากเรื่องนี้เข้าสู่สภา คดีนี้ต่างจากคดีอื่นๆ เนืองจากใกล้หมดอายุความ และเรื่องนี้เป็นเรื่องทั้งสภา ไม่ใช่ประธานสภา” นายกมลศักดิ์ กล่าว

นายวันมูหะมัดนอร์  ชี้แจงต่อว่า ข้อบังคับของสภาฯ ข้อ 187  กรณีที่สภาจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตจับกุม หรือหมายเรียก สมาชิกฐานะผู้ต้องหาในระหว่างสมัยประชุม ให้ประธานสภา บรรจุระเบียบวาระ แต่ขณะนี้ไม่มีเรื่องที่มาถึงตนเพื่อบรรจุวาระ ดังนั้นต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ ทั้งนี้ตนขอขอบคุณที่ทุกฝ่ายที่ห่วงใยความเดือดร้อนของประชาชน.