ยึด ‘มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ’ บีบ‘บิ๊กป้อม’ สะเทือน‘กองทัพ’

ยึด ‘มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ’   บีบ‘บิ๊กป้อม’ สะเทือน‘กองทัพ’

มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ ถูกมองแหล่งศูนย์รวมคนต่อต้าน" ทักษิณ-รัฐบาลแพทองธาร"กำลังถูกอำนาจฝ่ายการเมืองรุกเข้าทลาย

KEY

POINTS

  • มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ ถูกมองเป็นกองบัญชาการล้มรัฐบาลในอดีตและปัจจุบันเป็นแหล่งศูนย์รวมคนต่อต้านทักษิณ และ รัฐบาลแพทองธาร
  • ปี 2563 มีการย้ายมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯออกจากที่ตั้งเดิม ไปยังพื้นที่ใหม่ มีผลในทางนิตินัย 
  • พื้นที่ตั้งมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯเดิม ถูกเรียกบ้านพักส่วนตัว บิ๊กป้อม ตามระเบียบกองทัพบก

 

 

 

ก่อนที่ กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ หรือ ร.1 รอ. จะเปลี่ยนชื่อใหม่ เป็นกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1 ทม.รอ.) หรือมีชื่อเต็มว่า กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ 18 มกราคม 2562

ร.1 รอ. ถูกจัดระเบียบครั้งใหญ่ จากเดิมมีพื้นที่ประกอบด้วย ที่ตั้งหน่วย บ้านพักข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ กำลังพล และ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ก่อนจะถูกโอนย้ายเป็นหน่วยในพระองค์

โดยพื้นที่ที่เป็นบ้านพักขององคมนตรี ข้าราชการทหารชั้นผู้ใหญ่ กำลังพล ตั้งอยู่บนพื้นที่ราชพัสดุ ยังอยู่ในความรับผิดชอบของ กองทัพภาคที่ 1 หน่วยในสังกัดกองทัพบก

 ส่วนพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในขณะนั้นเป็น รองนายกฯ ควบ รมว.กลาโหม ยุครัฐบาล คสช. อาศัยจังหวะดังกล่าว หั่นพื้นที่ออกจากความรับผิดชอบ กองทัพภาคที่ 1 โดยไปทำสัญญาเช่าโดยตรงกับกรมธนารักษ์ ขึ้นตรงกับกระทรวงการคลัง

นับตั้งแต่ปี 2552 “มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ” ถูกตั้งคำถามถึงการใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์ โดยนำไปเคลื่อนไหวทางการเมือง หลังการขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนเกิดวาทกรรม “ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร”

เป็น “กองบัญชาการ” 3 ป.( พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา) ใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง เช่น การชุมนุมกลุ่ม นปช.หรือคนเสื้อแดง ขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ปี 2553 รัฐประหารปี 2557

อีกทั้ง มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ ยังถูกมองว่า ใช้เป็นโครงข่ายขยายอำนาจการเมืองของ “บิ๊กป้อม” มี ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ เข้านอก-ออกในเป็นประจำ โดยเฉพาะในวาระพิเศษต่างๆ เช่น วันเกิด พล.อ.ประวิตร

การอภิปรายไม่ไว้วางใจปี 2563 “รังสิมันต์ โรม” สส.ก้าวไกล ยกประเด็น มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ โจมตีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ดุเดือด พุ่งเป้าที่ “บิ๊กป้อม” นายทหารเกษียณฯ แต่ยังใช้มูลนิธิป่ารอยต่อฯ ในขณะนั้นยังเข้าใจว่าอยู่ในเขตทหาร เป็น “ฐานบัญชาการทางการเมือง”

เป็นที่มา “รังสิมันต์ โรม” ถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ใส่ความมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ และเรื่องยังคาราคาซังจนถึงทุกวันนี้

ผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนั้น กลายเป็นจุดเปลี่ยน มีการก่อตั้งมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ ใหม่ 1 แห่ง อยู่ในพื้นที่เดียวกัน กับบ้านพักกำลังพล ซึ่งอยู่ในความดูแลของกองทัพภาค 1 เพื่อให้มีผลในทางนิตินัยเท่านั้น 

ทว่าในทางพฤตินัย พื้นที่เดิม ยังถูกมองเป็นที่ตั้งมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ แม้บริวารใกล้ชิด “บิ๊กป้อม” จะการันตีว่า พื้นที่นี้กลายเป็นบ้านพักส่วนตัวของ พล.อ.ประวิตร ตามระเบียบของกองทัพบกที่ให้ทหารเกษียณราชการ ที่เคยทำคุณประโยชน์ประเทศ อดีต ผบ.ทบ. องคมนตรี รัฐมนตรี อาศัยอยู่ได้

ขณะที่ “บิ๊กป้อม” ไม่ยี่หระ ยังใช้พื้นที่ดังกล่าวนัดพบปะนักการเมืองในโอกาสต่างๆ เช่น การประชุมกลุ่มตัวแทนพรรคเล็ก 16 พรรค ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจในปี 2565 การแก้ปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ

หรือแม้แต่ภาพแกนนำ “ภูมิใจไทย” นำโดย อนุทิน ชาญวีรกูล ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ชาดา ไทยเศรษฐ์ ร่วมโต๊ะทานข้าวมื้อเที่ยงกับ บิ๊กป้อม ภายใต้กระแสข่าวของการจับขั้วการเมืองจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 2566 ว่อนโซเชียล

ปัจจุบัน บิ๊กป้อม หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ถูกตีตกจากพรรคร่วมรัฐบาล กลายเป็นพรรคฝ่ายค้าน ท่ามกลางการจับตา เป็นเพียงยกแรก เกมเอาคืนจากพรรคเพื่อไทย นับจากนี้ยังมีอีกยกสอง ยกสาม หวังน็อกคนบ้านป่าให้อยู่หมัด

มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ ฐานที่มั่นสำคัญของ“บิ๊กป้อม” แหล่งศูนย์รวมคนต่อต้านระบอบ ทักษิณ และรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร กำลังถูกทลายด้วยอำนาจฝ่ายการเมือง

เพราะปัจจุบัน มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ ได้ทำสัญญาเช่ากับ กรมธนารักษ์ 3 ปี/ครั้ง จ่ายค่าเช่าปีละ 120 บาท/ปี ขึ้นตรงกับกระทรวงการคลัง ไม่ต่างกับกรณี กองทัพแบ่งที่ดินในครอบครองให้ประชาชนทำกิน โดยไปทำสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์

ทั้ง มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ และประชาชน สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุได้ จนกว่ากองทัพจะขอคืนพื้นที่เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางหนึ่งทางใด

ดังนั้น พอทำนายได้ว่า กองทัพต้องรับแรงกระแทกทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะรัฐบาลเพื่อไทย คือผู้บังคับบัญชาโดยตรง ส่วน “บิ๊กป้อม” เป็นอดีตผู้บังคับบัญชา ที่ยังต้องให้ความเคารพ เกรงใจตามวัฒนธรรมทหาร

ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ เดิม ที่อ้างว่าปัจจุบันกลายเป็นบ้านพักส่วนตัว พล.อ.ประวิตร หรือที่ตั้งใหม่ ก็ล้วนเป็นที่ราชพัสดุ ที่อยู่ในความครอบครองของกองทัพ ที่สามารถขอคืนได้ทั้งสิ้น

ทว่าประการสำคัญ ต้องไม่ลืมว่า ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี นั่งเป็นประธานกิตติมศักดิ์ ดังนั้นเกมยึดคืน “มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ” อาจได้บทสรุปแบบ วิน-วิน โดย “บิ๊กป้อม” ต้องหยุดใช้บ้านป่าเคลื่อนไหวทางการเมือง

  สำหรับพื้นที่ตั้ง มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ เดิมที่เป็นบ้านพักทหารของ พล.อ.ประวิตร ตั้งแต่เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 จนถึงผู้บัญชาการทหารบก หลังได้รับพระราชเสาวนีย์ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้ดูแลรับผิดชอบพื้นที่รอยต่อ 5 จังหวัด

จึงได้ปรับปรุงขยายพื้นที่จัดตั้งเป็น มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ โดยให้กองทัพบกทำสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ ก่อนจะแยกมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ ไปตั้งสถานที่แห่งใหม่ ป้องกันฝ่ายการเมืองโจมตี