'ภราดร' เผย '2พรรคใหญ่' เปิดดีลแก้จริยธรรม เตือนซ้ำรอยเหตุนิรโทษกรรมสุดซอย
"รองปธ.สภาฯคนที่สอง" เผย "พท.-ปชน." ดีลแก้รธน.ปมจริยธรรม เตือนซ้ำรอยเหตุการณ์ปี56 นิรโทษกรรมสุดซอย ย้ำการแก้รธน.ไม่ใช่มองแค่เสียงข้างมาก ต้องดูอารมณ์ในสังคม
นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯ คนที่สอง ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นจริยธรรมว่า ก่อนที่ตนรับแต่งตั้งให้เป็นรองประธานสภาฯ คนที่สอง เคยมีการประชุมนอกรอบระหว่าง ตัวแทนคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นดังกล่าว ซึ่งเขาเห็นตรงกันว่าจะดำเนินการอะไรกับรัฐธรรมนูญประเด็นจริยธรรม
นายภราดร กล่าวต่อว่าตนได้ให้ข้อสังเกตกับที่ประชุมครั้งดังกล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวนั้นเป็นความอ่อนไหวกับสังคม ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวของนักการเมืองหนีไม่พ้นกับการเอื้อประโยชน์ให้ตนเอง เพราะได้รับประโยชน์จากการแก้ไข ทั้งนี้นักการเมืองถือเป็นผู้เล่นและมีส่วนได้เสียเต็มๆ ดังนั้นนักการเมืองควรเป็นผู้แก้ไขเองหรือไม่ หากแก้ไขเองสังคมอาจมองได้ว่า แก้เพื่อประโยชน์ของพวกเรานักการเมือง ซึ่งในที่ประชุมดังกล่าวเขารับฟัง แต่เขามีความพยายามและเชื่อว่าจะอธิบายกับสังคมได้
“ในอารมณ์ของสังคมนั้น ผมมองว่าลำบากใจที่ทำเรื่องแบบนี้ ส่วนตัวผมและเพื่อนผม ตอบสังคมยากมาก ร่างของพรรคเพื่อไทยและประชาชนไม่เหมือนกัน คือ พรรคประชาชนบอกว่าไม่ต้องมีประเด็นจริยธรม แต่พรรคเพื่อไทยมีปรับแก้เล็กน้อย ดังนั้นเรื่องนี้ ผมขอให้ย้อนไปปี 2556 ตอนทำกฎหมายนิรโทษกรรมม ที่เริ่มต้นเป็นลำไม้ไผ่ เหลาลงไปเป็นเรื่องอะไร และเรื่องแก้รัฐธรรมนูญนี้คลายยกัน เมื่อมี 2 ร่าง จะเอาแบบแก้นิดหน่อยหรือสุดซอย” นายภราดร กล่าว
นายภราดร กล่าวต่อว่าเหตุการณ์ปี 2556 ควรจะสอนนักการเมืองเรียนรู้ในอดีตให้มาก ตนเคยเสนอแนะว่าจะแก้รัฐธรรมนูญอย่าแก้มาตราเดียว แต่ควรตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เหมือนนโยบายรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ที่ระบุว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเว้นหมวดหนึ่งและหมวดสอง จากนั้นเมื่อทำประชามติผ่าน จึงให้ สสร. ดำเนินการแทนนักการเมือง ซึ่งพอจะตอบสังคมได้ เพราะในขั้นตอนของ สสร. ต้องไปรับฟังความเห็นประชาชนทั่วประเทศ หากให้คนที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียแก้ไข เรื่องจะได้จบ อย่างไรก็ดีตนมองว่ามีคนบางกลุ่มที่จ้องจะทำอะไรในสังคมอยู่ ดังนั้นผู้มีอำนาจอย่าทำอะไรสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เหตุการณ์นั้นขึ้นอีก
นายภราดร ย้ำด้วยว่า ที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองเจ็บมาเยอะ เพราะเผชิญใน 2 เหตุการณ์ คือปี 2549 และ ช่วงปี 2556-2557 ที่รัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งขณะนั้นมีเสียงเข้มแข็ง 300 เสียง ช่วงนั้นรัฐบาลล้มเพราะการดำเนินการของรัฐสภา จนทำให้มีม็อบ โดยเรื่องดังกล่าวถือเป็นบทเรียนของสังคม และนักการเมือง ดังนั้นการดำเนินการอะไร ไม่ใช่คำนึงเฉพาะเสียงข้างมาก หรือเสียงข้างน้อยเท่านั้น แต่ควรคำนึงถึงอารมณ์ของสังคมด้วยว่าเขาจะคล้อยตามนักการเมืองหรือไม่ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นอ่อนไหวในสังคม