ตำนาน ‘สินบนโรลซ์-รอยซ์’ 2 หน่วยงานรัฐในมือศาล ‘บิ๊กนักการเมือง’ รอด?

ตำนาน ‘สินบนโรลซ์-รอยซ์’ 2 หน่วยงานรัฐในมือศาล ‘บิ๊กนักการเมือง’ รอด?

ทั้งหมดคือที่มามหากาพย์ “สินบนข้ามชาติ” ของ “โรลส์-รอยซ์” กับ 2 หน่วยงานรัฐไทยอย่าง “การบินไทย-ปตท.” ที่ลากยาวมากว่า 3 ทศวรรษ จนเพิ่งรูดม่านปิดฉากในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช. แต่กำลังเริ่มนับหนึ่งในชั้นศาล

KEY

POINTS

  • พลิกตำนาน “สินบนข้ามชาติ” ระหว่าง “โรลส์-รอยซ์” กับ 2 หน่วยงานรัฐไทย ลากยาว 3 ทศวรรษ
  • ปม “การบินไทย” ป.ป.ช.ฟันแค่ยอดครั้งที่ 3 วงเงิน 254 ล้าน ช่วง “รัฐบาลทักษิณ” เหตุ 2 ครั้งแรกขาดอายุความ
  • แต่ “สุริยะ-วิเชษฐ์” 2 รมต.คมนาคม รอดหมด พยานหลักฐานไม่เพียงพอเอาผิด โดนแค่ “ทนง-กวีพันธ์”
  • ส่วน “ปตท.” ป.ป.ช.ชี้มูลแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งโครงการเดียว เจอเงิน 10 ล้านบาท เหลืออีก 5 โครงการยังเงียบ

เริ่มนับหนึ่งมหากาพย์ตำนาน “สินบนข้ามชาติ” ของ “โรลส์-รอยซ์” ที่ถูกขุดคุ้ยเผยแพร่จากกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา และข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตของสหราชอาณาจักร (SFO) ได้สืบสวนสอบสวนกรณีการจ่ายเงินสินบนของบริษัท โรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce plc) และบริษัทในเครือ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงการจำหน่ายเครื่องยนต์ให้แก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวมถึง บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ด้วย

ปัจจุบันทั้ง 2 สำนวน มี 1 สำนวนถึงมือศาลไปแล้ว นั่นคือ กรณี “สินบนการบินไทย” ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีสั่งประทับรับฟ้อง โดยมี 2 อดีตเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำเลย ได้แก่ “ทนง พิทยะ” อดีตประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และที่ปรึกษาอนุกรรมการพิจารณาแผนการลงทุนระยะยาวของบริษัทฯ เป็นจำเลยที่ 1 และ “กวีพันธ์ เรืองผกา” เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการเงินและการบัญชี ฝ่ายบริหารงานนโยบายบริษัทฯ เป็นจำเลยที่ 2 โดยศาลฯนัดสอบคำให้การจำเลยในวันที่ 7 ต.ค. 2567

ส่วนกรณี “สินบน ปตท.” ป.ป.ช.เพิ่งมีมติชี้มูลความผิดเมื่อ เม.ย. 2567 ที่ผ่านมา แต่ทว่ามีการเอาผิดแค่โครงการเดียว วงเงินราว 10 กว่าล้านบาท จากทั้งหมดที่ถูกกล่าวหา 6 โครงการ 385 ล้านบาท โดยมี “จิตรพงษ์ กว้างสุขสถิต” กรรมการบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ "ปตท.สผ." ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ กับพวก เป็นผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งรวมถึง “จุลสิงห์ วสันตสิงห์” อดีตอัยการสูงสุด (อสส.) ด้วย แต่เนื่องจากถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ ปัจจุบันสำนวนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ อสส.คนปัจจุบันว่าจะส่งฟ้องหรือไม่

ที่น่าสนใจ เส้นทางของการจ่ายเงินสินบนข้ามชาติระหว่าง “โรลส์-รอยซ์” กับ 2 หน่วยงานรัฐข้างต้น เกิดขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 2530 ลากยาวมาถึงทศวรรษ 2550 เลยทีเดียว (การบินไทย ระหว่างปี 2534-2548 และ ปตท. ระหว่างปี 2543-2555) คาบเกี่ยวหลายรัฐบาลด้วยกัน อย่างไรก็ดีในช่วงทศวรรษปี 2530 ทาง ป.ป.ช.อ้างว่า คดีหมดอายุความไปแล้ว จึงไม่สามารถย้อนไปสอบสวนดำเนินคดีเอาผิดใครได้

เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจมากขึ้น กรุงเทพธุรกิจ สรุปข้อมูล “สินบนข้ามชาติ” ของทั้ง 2 หน่วยงานรัฐข้างต้นกับ “โรลส์-รอยซ์” ให้ทราบ ดังนี้

  • กรณีการบินไทย 

จากการสืบสวนของ SFO ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเกิดขึ้นทั้งหมด 3 ยุค รวมวงเงิน 1.2 พันล้านบาท ได้แก่ 

  1. ยุคแรก ระหว่างปี 2534-2535 วงเงิน 18.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยในช่วงเวลาดังกล่าวราว 663 ล้านบาท
  2. ยุคสอง ระหว่างปี 2535-2540 วงเงิน 10.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 336 ล้านบาท
  3. ยุคสาม ระหว่างปี 2547-2548 วงเงิน 7.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นไทย 254 ล้านบาท

โดยยุคแรก และยุคที่สอง คดีขาดอายุความไปหมดแล้ว ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงดำเนินการไต่สวนได้แค่ยุคที่ 3 โดยคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล “ทนง พิทยะ” กับพวกนั้น คือ กรณีที่เกิดขึ้นในยุคที่ 3 โดยรายละเอียดพฤติการณ์ทั้งหมด กรุงเทพธุรกิจเคยนำเสนอไปแล้ว

โฟกัสเฉพาะประเด็น ผู้บริหารการบินไทยบางราย ได้ติดต่อเจรจาต่อรองเพื่อจัดหาเครื่องยนต์สำรองสำหรับเครื่องบิน A340-500/600 และเครื่องบิน B777-200ER กับโรลส์-รอยซ์อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ปรากฏว่ามีการแต่งตั้งคณะกรรมการเปิดซองพิจารณาคัดเลือกตัดสินเพื่อดำเนินการจัดหาตามระเบียบการบินไทยว่าด้วยการพัสดุฯ

อ่านข่าว: 

เปลือยพฤติการณ์! ศาลรับฟ้องคดีโรลส์-รอยซ์การบินไทย ‘ทนง’ จำเลย นัดอีก 7 ต.ค.

พลิกมหากาพย์ “สินบนโรลส์-รอยซ์” 3 ยุค เปิดสำนวนไต่สวน ป.ป.ช.ก่อนฟัน “ทนง”

เบื้องต้นมีกระแสข่าวว่า ปรากฏชื่อของ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีต รมว.คมนาคม “รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 2” และ “วิเชษฐ์ เกษมทองศรี” รมช.คมนาคม ขณะนั้น เป็นผู้ถูกกล่าวหาในสำนวนอย่างเป็นทางการของ ป.ป.ช. ด้วย อย่างไรก็ดีในชั้นการไต่สวนขององค์คณะไต่สวน (กรรมการ ป.ป.ช. 9 รายเป็นองค์คณะ) มิได้มีการแจ้งข้อหากับ 2 อดีตรัฐมนตรีข้างต้น หลังจากนั้นเมื่อ 23 ส.ค. 2565 ได้มีมติชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาแค่ 2 รายคือ “ทนง-กวีพันธ์”

ส่วน “สุริยะ-วิเชษฐ์” กับพวก คณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอที่จะฟังได้ว่า ได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

นั่นจึงเป็นคำตอบว่า ทำไมในการยื่นฟ้องศาลของ ป.ป.ช.จึงปรากฎจำเลยเหลือแค่ 2 รายคือ “ทนง” กับ “กวีพันธ์” เท่านั้น

  • กรณี ปตท.

เมื่อ 24 เม.ย. 2567 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด “จิตรพงษ์ กว้างสุขสถิต” กรรมการบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ "ปตท.สผ." ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ กับพวก เอื้ออำนวยให้บริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ได้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในการจัดซื้ออุปกรณ์ Feed Gas Turbine Compressor สำหรับแท่นผลิตกลางโครงการอาทิตย์ (Project PTT Arthit)

โดยพยานหลักฐานชิ้นสำคัญตามสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. พบว่า ระหว่างการดำเนินการจัดหา เผ่าเผด็จ วรบุตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการใหญ่สายงานพื้นที่นอกชายฝั่ง (TOA) ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัท โรลส์-รอยซ์ เอ็นเนอร์จี ซิสเต็ม ซึ่งจ่ายเงินค่าคอมมิชชั่นเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของบริษัทแควนตั้มเม็ค (ประเทศไทย) จำกัด ในประเทศสิงคโปร์ และโอนต่อไปยังบุคคลใกล้ชิดของเผ่าเผด็จ วรบุตร จำนวนรวม 300,543 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10,000,000 บาท) เพื่อแลกกับให้ “โรลส์-รอยซ์” เข้าไปทำสัญญาจัดหา Feed Gas Turbine Compressor จำนวน 2 เครื่อง มูลค่าการจัดหารวม 24,663,303 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 900,000,000 บาท) ในโครงการอาทิตย์ดังกล่าว

อย่างไรก็ดี กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกาได้สืบสวนสอบสวนกรณีการจ่ายเงินสินบนของบริษัท โรลส์-รอยซ์ (สหราชอาณาจักร) (Rolls-Royce plc) และบริษัทในเครือ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในหลายประเทศ และในการทำข้อตกลงชะลอการฟ้อง (Deferred Prosecution Agreement) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับบริษัท โรลส์-รอยซ์ (สหราชอาณาจักร) นั้น

ระหว่างปี 2543-2555 พบบุคคลในบริษัทลูกของโรลส์-รอยซ์ มีส่วนรู้เห็นในการจ่ายค่ารักษาความสัมพันธ์ทางธุรกิจ หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการจ่ายสินบนกว่า 11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 385 ล้านบาท เพื่อให้ บริษัท "RRESI" ได้สัมปทานการทำธุรกิจจาก “เครือ ปตท.”

“RRESI” ได้จ่ายเงินสินบนราว 11 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับ “นายหน้า” เป็นค่าที่ปรึกษาทางการค้า เพื่อช่วยเหลือในการดำเนินธุรกิจในโครงการที่ทางบริษัท PRESI ชนะการประมูล แบ่งเป็น 6 โครงการ

  1. โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 5 (GSP-5) ระหว่างวันที่ 24 ก.ค. 46 - 16 พ.ย. 47 จำนวนเงิน 2,494,728 เหรียญสหรัฐ หรือ 87.32 ล้านบาท
  2. หน่วยเพิ่มความดันก๊าซของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 3 (OCS-3) ระหว่างวันที่ 19 ม.ค. 49 – 24 ม.ค. 51 จำนวนเงิน1,386,389 เหรียญสหรัฐ หรือ 48.52 ล้านบาท
  3. แท่นเจาะก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ (Arthit) ระหว่างวันที่ 19 ม.ค. 49 – 18 ม.ค. 51 จำนวนเงิน 1,096,006 เหรียญสหรัฐ หรือ 38.36 ล้านบาท
  4. โครงการ PCS ระหว่างวันที่ 29 ก.ย. 49 – 11 ก.ย. 51 จำนวนเงิน 2,073,010 เหรียญสหรัฐ หรือ 72.56 ล้านบาท
  5. โรงก๊าซอีแทน (ESP-PTT) ระหว่างวันที่ 24 พ.ค. 50 – 18 ก.พ. 56 จำนวนเงิน 1,934,031 เหรียญสหรัฐ
  6. โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 GSP-6 ระหว่างวันที่ 28 มี.ค. 51 – 13 พ.ย. 52 จำนวนเงิน 2,287,200 เหรียญสหรัฐ หรือ 80.05 ล้านบาท

ขณะเดียวกันในฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระหว่างปี 2553-2555 พบว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ทำสัญญาจัดซื้อเครื่องยนต์และอะไหล่ โรลส์รอยซ์ 7 สัญญา วงเงิน 254,553,893 บาท แบ่งเป็น ROLLS-ROYCE SINGAPORE PTE LTD ซึ่งมีสำนักงานในสิงคโปร์ 1 สัญญา วงเงิน 1.87 ล้านบาท และเป็นการจัดซื้อจาก Rolls Wood Group ในสหรัฐอเมริกา 6 สัญญา วงเงิน 252.68 ล้านบาทอีกด้วย

ทว่าระหว่าง 7 ปีแห่งการไต่สวนข้อเท็จจริงคดีนี้ เกิดอุปสรรคปัญหาจำนวนมาก โดยเฉพาะข้อมูลจาก SFO และกระทรวงการยุติธรรมแห่งสหรัฐฯ มิได้ส่งข้อมูลทั้งหมดมาให้หน่วยงานตรวจสอบของไทย โดยอ้างถึงโทษคดีทุจริตในไทย ยังมีการประหารชีวิตอยู่ ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักสากล 

นอกจากนี้เส้นทางการเงินคดีดังกล่าวค่อนข้างซับซ้อนเป็นอย่างมาก ในการประสานงานขอข้อมูลของ ป.ป.ช. ว่ากันว่าช่วงเวลาดังกล่าวมีกรรมการ ป.ป.ช.บางคนถึงกับบินไปสิงคโปร์ และประเทศอื่น ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องของเส้นทางการเงิน แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ ทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก

สุดท้ายคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลผิดแค่ “โครงการอาทิตย์” เพียงโครงการเดียว โดยพบข้อมูลการจ่ายสินบนแค่ 3 แสนเหรียญสหรัฐฯ จากยอดทั้งหมดราว 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนี้อีก 6 โครงการที่เหลือ ก็ไม่ปรากฏข้อมูลในเอกสารการแถลงข่าวของ ป.ป.ช.แต่อย่างใด

ทั้งหมดคือที่มามหากาพย์ “สินบนข้ามชาติ” ของ “โรลส์-รอยซ์” กับ 2 หน่วยงานรัฐไทยอย่าง “การบินไทย-ปตท.” ที่ลากยาวมากว่า 3 ทศวรรษ จนเพิ่งรูดม่านปิดฉากในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช. แต่กำลังเริ่มนับหนึ่งในชั้นศาล อย่างไรก็ดีคดีนี้ยังไม่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุด ผู้ถูกกล่าวหาทุกรายจึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่