ถอน 'ร่างกม.ห้ามตีเด็ก' สส.รุมท้วง ไม่สมดุล ระหว่างสิทธิเด็ก-ผู้ปกครอง

ถอน 'ร่างกม.ห้ามตีเด็ก' สส.รุมท้วง ไม่สมดุล ระหว่างสิทธิเด็ก-ผู้ปกครอง

สส. รุมท้วง ร่างกม.ห้ามตีเด็ก หลังกมธ.แก้ไขหั่น ปมทารุณกรรมออก จนเนื้อหาไม่สมดุลระหว่างสิทธิเด็ก-สิทธิผู้ปกครอง ก่อนกมธ.ขอถอนเนื้อหาไปทบทวนใหม่

ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ... หรือ กฎหมายห้ามตีเด็ก  ซึ่งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้วเสร็จ ทั้งนี้พบว่าในการปรับแก้ไขของกมธ. ที่เป็นหัวใจของร่างกฎหมาย  ซึ่งระบุ ให้ยกเลิก(2)ของมาตรา1567 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน “ทำโทษบุตรเพื่อสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรมโดยต้องไม่กระทำด้วยความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือการกระทำโดยมิชอบ อันเป็นการลดทอนคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุตร”  ถูกทักท้วงจาก สส.ฝ่ายรัฐบาลอย่างหนัก เพราะมองว่าเป็นการใช้ถ้อยคำกำกวมจะยากต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ แต่ที่สำคัญเห็นว่าพ่อแม่ผู้ปกครองครูอาจารย์รักลูกและลูกศิษย์ของตนเอง ไม่มีใครต้องการทำโทษรุนแรง การห้ามไม่ให้ตีเด็กถือเป็นการลิดลอนสิทธิ์ในการดูแลบุตรหลาน อีกทั้งมองว่าการเฆี่ยนตีด้วยความรัก ต่างจากการทำทารุณกรรมซึ่งความของร่างกฎหมายใช้คำกำกวม

โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทางกมธ.แก้ไขข้อความที่สภาฯรับหลักการมา โดยตัดคำว่าทารุณกรรมออกไป เหลือเพียงคำว่า ไม่เป็นการเฆี่ยนตี สภาฯแห่งนี้จึงยอมไม่ได้ เพราะต้องการปกป้องสิทธิผู้ปกครอง แนวโน้มร่างกฎหมายฉบับนี้จึงจะถูกคว่ำ จึงอยากให้หาวิธีการดู สำหรับตนขอเสนอให้กมธ.ถอนแล้วไปปรับปรุงตัวบทใหม่ เพื่อความสมดุลระหว่างสิทธิเด็กและสิทธิผู้ปกครอง คำกำกวมอย่างคำว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สมาชิกหลายคนถามว่าเอาอะไรมาวัด และสิ่งนี้จะทำให้ลงโทษผู้ปกครองได้ ฉะนั้นขอให้ไปปรับมาใหม่

ทำให้ แพทย์หญิง จิราภรณ์ อรุณากูร ฐานะกมธ.ฯชี้แจงว่า ฐานะนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ขอชี้แจงด้านองค์ความรู้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ พบงานวิจัยที่เกี่ยวกับการทำงานของสมองมนุษย์พบว่าเด็กที่เติบโตมากับการเลี้ยงดูด้วยความรุนแรงส่งผลกระทบเชิงลบกับตัวเด็ก จะมีปัญหาทำให้เด็กปิดกั้นสมองส่วนการเรียนรู้แต่ไปเชื่อมโยงกับสมองส่วนการเอาตัวรอดซึ่งจะทำให้เด็กแก้ปัญหาด้วยการเอาตัวรอดคืออาจจะใช้ความรุนแรงตอบโต้

"การเลี้ยงดูเชิงบวกโดยไม่ใช้วิธีความรุนแรง โดยใช้วิธีช่วยคิดช่วยสอนและช่วยแก้ปัญหาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เวลาที่เราบอกว่า รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี พ่อแม่ก็จะคิดถึงการแก้ปัญหาว่าเวลาลูกทำผิดก็จบลงด้วยการทำโทษ โดยการลงโทษอาจจะนำมาซึ่งความหวาดกลัว แต่ไม่ใช่การสร้างการเรียนรู้”แพทย์หญิง จิราภรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ที่ประชุมไม่สามารถตกลงกันได้ แม้นายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯ คนที่สอง จะให้พักการประชุมเพื่อหารือทางออก แต่เมื่อกลับมาประชุมแล้ว กมธ.ฯ จึงขอถอนร่างออกไป พิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. ... ถือเป็นฉบับที่ 2 ที่กมธ.ถอนเนื้อหาไปปรับแก้ในระหว่างการพิจารณาในวาระสอง โดยฉบับแรกนั้นเป็น ร่าง พ.ร.บ. ระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งสภาฯ ได้พิจารณาเมื่อ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา.