แนวรบบ้านใหญ่ ‘ค่ายสีส้ม’ ยุทธศาสตร์ ปักหมุด 20 อบจ.
"...พรรคค่อนข้างมั่นใจในศึกการเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งถัดไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะใน 16-20 จังหวัด ที่คาดว่าจะได้รับชัยชนะ เนื่องจากได้เตรียมความพร้อม และอบรมบุคลากรไว้พร้อมสรรพแล้ว..."
KEY
POINTS
- เจาะยุทธศาสตร์ “พรรคประชาชน” สู้แนวรบ “บ้านใหญ่” ในการเลือกตั้งนายก อบจ.
- กรุยทางสู่ศึกเลือกตั้งใหญ่ 2570 โจทย์หิน “แลนด์สไลด์” ตั้งรัฐบาลพรรคเดียว
- แผนตั้ง “คณะกรรมการจังหวัด” เฟ้นหาตัวผู้สมัคร “ดีเอ็นเออนาคตใหม่”
- มั่นใจ “พิษณุโลกโมเดล” นำไปขยายต่อไม่ได้จริง
ยุทธศาสตร์ “พิษณุโลกโมเดล” กำลังถูก “เครือข่ายบ้านใหญ่” นำไปขยายผลอย่างมาก ในการเตรียมแผนรบเลือกตั้งปี 2570 รวมถึงการเลือกตั้ง “นายก อบจ.” จังหวัดต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังชิงลาออกก่อนครบวาระในช่วงปลายปี 2567 และเลือกตั้งล็อตใหญ่ในปี 2568
แม้การเลือกตั้ง สส.จะมีหลายปัจจัยเทียบไม่ได้กับเลือกตั้ง นายก อบจ.ก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “พิษณุโลกโมเดล” คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ “บ้านใหญ่” มองเกมออกว่าจะเจาะทะลุ “จุดอ่อน” ของ “พรรคส้ม” ได้อย่างไร
ทั้งกระแสที่เริ่มเปลี่ยนไป ความนิยมในตัวบุคคลลดลง จากเดิมมี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นจุดขาย แต่เมื่อเปลี่ยนหัวขบวนมาเป็น “เท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน อาจยังไม่ได้รับความนิยมเท่าเดิม เป็นต้น
นอกจากนี้ การทำพื้นที่ของ “พรรคส้ม” ยังอาจสู้ “บ้านใหญ่” ไม่ได้ ด้วยหลายปัจจัย โดยเฉพาะความไม่พร้อมในการสรรหาตัวบุคคลมาสมัครรับเลือกตั้ง เพราะ “บ้านใหญ่” ชิงลาออกก่อนครบวาระ คุมทรัพยากรเดิมไว้พร้อมสรรพ ทำให้ “ได้เปรียบ” ในหมากเกมนี้เป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ดี บรรดาแกนนำ “พรรคส้ม” เชื่อว่า “พิษณุโลกโมเดล” ไม่อาจขยายผลในการเลือกตั้ง สส.ปี 2570 ได้ เพราะบริบททางการเมืองต่างกัน
พวกเขาเชื่อว่าการเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 สาเหตุที่ทำให้ “พรรคประชาชน” พ่ายแพ้ เพราะทุกพรรคดีลกันไว้เปิดทางให้ “เพื่อไทย” ส่งผู้สมัครเพียงคนเดียว และคอยหนุน แต่ในการเลือกตั้งใหญ่ปี 2570 ทุกพรรคจะแย่งส่งตัวผู้สมัคร ทำให้ตัดคะแนนกันเอง
แต่ปัญหานี้ก็ไม่อาจถูกมองข้าม ทำให้หลังจากที่ “พรรคประชาชน” จัดประชุมใหญ่ 21-22 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่งตั้ง 7 รองหัวหน้าพรรค และ 12 ขุนพลรองเลขาธิการพรรค ได้จัดอบรมสัมมนา สส.-สมาชิก-เครือข่ายพรรคอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งทั้ง นายก อบจ. และเลือกตั้ง สส.
สำหรับ “ขุนพล” ในการคิดหมากวางแผนหลังฉากเกมเลือกตั้งของ “พรรคส้ม” แม้ยังไม่ถูกเปิดเผยออกมา แต่วงในสีส้มรับทราบกันเป็นอย่างดีว่า “ติ่ง” ศรายุทธ ใจหลัก เลขาธิการพรรคประชาชน เป็น “คีย์แมน” เรื่องการวางยุทธศาสตร์พรรค ปักธงความคิดในทุกพื้นที่ รวมถึงวางแผนสู้ในการเลือกตั้งทั้งท้องถิ่น และเลือกตั้งใหญ่
เมื่อ 1 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา แกนนำพรรคประชาชน เดินสายพบสื่อเครือ “เนชั่นกรุ๊ป” โดย “เลขาฯติ่ง” ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งถึงแผนการต่อสู้เลือกตั้งนายก อบจ.ที่ชิงลาออกก่อนครบวาระ ว่า ต้องดูเป็นจังหวัดไป สำหรับจังหวัดที่มีตัวนายกฯอยู่แล้ว มีกระบวนการอบรมเรียบร้อยหมดแล้ว จังหวัดเหล่านั้น เรามั่นใจว่ามีความพร้อม ขณะที่จังหวัดที่ไม่พร้อมคือจังหวัดที่ไม่มีผู้สมัคร หรือเพิ่งมีผู้สมัคร เราอาจแข่งขันในสภาพไม่พร้อมเต็มที่ แต่ถ้าจังหวัดไหนเรามีคนเรียบร้อยอยู่แล้ว เราถือว่าพร้อม
การเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งถัดไปที่จะเกิดขึ้นคือ “นายก อบจ.อุดรธานี” ที่ “วิเชียร ขาวขำ” บ้านใหญ่เมืองหลวงเสื้อแดง เพิ่งชิงลาออกก่อนครบวาระ และคาดว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 พ.ย.นี้ โดย “ศรายุทธ” เชื่อว่า พรรคประชาชนมีสิทธิ์พลิกโพลคว้าชัยออกมาได้ แม้ว่าจะเป็นรอง และในภาพรวม “เพื่อไทย” จะมีความเข้มแข็งในพื้นที่เป็นอย่างมากก็ตาม
“เราเป็นผู้ท้าชิง จะพยายามทำเต็มที่ แต่ผลออกมาไม่ว่าอย่างไร คงมีบทเรียนให้เราได้ เราได้มีการเตรียมการแล้ว” ศรายุทธ กล่าว
ส่วนความพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรี ที่แม้จะขนขุนพลไปช่วยหาเสียงเต็มรูปแบบนั้น ศรายุทธ ยอมรับว่า หลังการเลือกตั้งแล้วสามารถพูดได้คือ เราไม่ได้พร้อมขนาดนั้น เพราะได้ตัวผู้สมัครก่อนการเลือกตั้งแค่ไม่กี่วัน แตกต่างกับนายก อบจ.อุดรธานี ที่เราเปิดตัวผู้สมัครไปตั้งแต่ต้นปี 2567 เราเชื่อว่าสู้ได้ การแข่งขันน่าจะสนุก ส่วนสำเร็จหรือไม่ อยู่ที่การวางแผน และเตรียมการมาว่าพร้อมเอาชนะได้หรือไม่
โดยแผนการส่งผู้สมัครชิงนายก อบจ.ต่าง ๆ ศรายุทธ บอกว่า ตั้งแต่หลังการเลือกตั้งปี 2566 มา มีนโยบายที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่น (แทนคณะก้าวหน้า) เราก็มีการชี้แจงตลอดว่า การส่งท้องถิ่น ต้องส่งในจังหวัดที่มีความพร้อม คือหลายองค์ประกอบ ได้แก่ กลุ่มคน มีผู้สมัครนายกฯ ที่เป็นตัวแทนของเราได้ไหม และทีมงานจังหวัด เรามีเครือข่ายเพียงพอหรือไม่ และทีมงาน สจ. ที่เราจะพิจารณาด้วย รวมถึงกระแสของพรรคในจังหวัดด้วย
“เราไม่ได้ส่งทุกที่ เราเฉพาะเจาะจง เวลาเราพิจารณา เช่น ขอนแก่น หรือเพชรบุรี เราไม่มีตัว ไม่มีกระบวนการ ดังนั้นใน 16 จังหวัด เรามีคนแล้ว ผ่านกระบวนการคัดสรรแล้ว ผ่านการอบรมแล้ว จังหวัดเหล่านั้นเราส่งอยู่แล้ว แต่ถ้าจังหวัดไหน เราไม่มีคนเลย ไม่ผ่านการอบรม ก็ไม่ส่ง ก็ปล่อย เราไม่มีความพร้อมที่จะส่ง” ศรายุทธ กล่าว
แหล่งข่าวจากพรรคประชาชน แจ้งว่า พรรคค่อนข้างมั่นใจในศึกการเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งถัดไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะใน 16-20 จังหวัด ที่คาดว่าจะได้รับชัยชนะ เนื่องจากได้เตรียมความพร้อม และอบรมบุคลากรไว้พร้อมสรรพแล้ว เช่น นายก อบจ.อุดรธานี ค่อนข้างมีลุ้น ถึงขั้นโค่นแชมป์เก่าเลยทีเดียว
ส่วนการชิงชัยศึกเลือกตั้งใหญ่ 2570 หากต้องการจะได้คะแนนถึงระดับ “แลนด์สไลด์” จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวนั้น แม้เป็นโจทย์หินที่เป็นไปได้ยากก็ตาม แต่จุดเริ่มต้นของความสำเร็จ คือการตั้ง “คณะกรรมการจังหวัด” โดยคัดเลือกจากตัวแทนระดับอำเภอมารวมกัน เพื่อสรรหาตัวผู้สมัครมาตั้งแต่ต้น คลุกคลีตีโมงร่วมงานกันมาแต่แรก เพื่อให้ได้ “ดีเอ็นเออนาคตใหม่” แบบเต็มขั้น
ปัจจุบันพรรคประชาชน ยังอยู่ระหว่างอบรมสัมมนา สส.-สมาชิก-เครือข่าย แต่ละจังหวัดอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ เพื่อเตรียมตั้ง “คณะกรรมการจังหวัด” ที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการเฟ้นหาคนลงสมัคร สส.-ผู้บริหารท้องถิ่น และคาดว่าจะทำให้กวาดชัยชนะได้ อย่างน้อยก็ตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะบทเรียนจากการเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งที่ผ่านมาปี 2563 สมัย “คณะก้าวหน้า” ทำให้เรารู้ว่า ไม่สามารถหว่านแหส่งคนชิงทั่วประเทศได้ ต้องส่งคนเฉพาะในพื้นที่ที่เรามี “กระแส-ความพร้อม” เท่านั้น โดยผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ในช่วงปี 2567 และล็อตใหญ่ในปี 2568 จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่จะนำไปขยายผลในการเลือกตั้งปี 2570 ต่อไป
ดังนั้นหมากเกมนี้จะประสบผลสำเร็จตามที่ “กุนซือ” ผู้วางแผนหลังม่านคิดเอาไว้หรือไม่ คงต้องติดตามกัน เร็วที่สุดคือการเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ในเดือนหน้า