'พิธา' ปัดวิเคราะห์การทำงาน 'นายกฯอิ๊งค์' บอกให้ดูแผนก่อน ระวังเมาหมัด

'พิธา' ปัดวิเคราะห์การทำงาน 'นายกฯอิ๊งค์' บอกให้ดูแผนก่อน ระวังเมาหมัด

'พิธา' โชว์ตัวในรอบเดือน ขายหนังสือบันทึกภาพการเดินทางปี 61-67 แฟนคลับแห่ซื้อ-ต่อคิวขอลายเซ็นแน่น ปัดวิเคราะห์การทำงาน 'นายกฯอิ๊งค์' บอกให้ดูแผนงาน ไม่อย่างนั้นจะเมาหมัด มองดราม่าอ่านไอแพด-พูดเส้นทางน้ำผิดเรื่องธรรมดา ลั่นปลุกเรตติ้งพรรคประชาชนต้องใช้เวลา

เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2567 ที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล เข้าร่วมกิจกรรมแจกลายเซ็นหนังสือ 'เอาความกลัวไว้ข้างหลัง เอาความหวังไว้ข้างหน้า การบันทึกภาพการเดินทางทางการเมือง 2561-2567' โดยเป็นหนังสือที่บันทึกภาพชีวิตบนเส้นทางการเมืองของนายพิธา ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา จากหนึ่งในผู้นำเสนอนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ สู่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ซึ่งถือว่าเป็นการปรากฎตัวในไทยครั้งแรกในรอบเดือน โดยมาด้วยสีหน้าชื่นมื่น ทักทายสื่อมวลชน และมีแฟนคลับมารอต้อนรับอย่างคึกคัก พร้อมเข้าคิวซื้อหนังสือ ขอลายเซ็น และถ่ายรูปร่วมกัน

นายพิธา ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงนี้ยังเดินทางตลอด ไม่ต่างประเทศก็ต่างจังหวัด พยายามเดินทางเพื่อพบปะประชาชนในพื้นที่ให้มากขึ้น และพยายามวางแผนการลงพื้นที่ให้ทุกสัปดาห์ ยังอยากลงพื้นที่น้ำท่วมอยู่ เมื่อเวลาเหมาะสม เพื่อไปทำตัวให้เป็นประโยชน์ ไม่ได้ไปเกะกะใคร

เมื่อถามว่า มองอย่างไรกับการทำงานของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายพิธา กล่าวว่า คงต้องเปรียบเทียบกับแผนงานว่ามีความตั้งใจอย่างไร ตนไม่ทราบว่ามีเป้าหมายจะทำอะไร เลยไม่รู้ว่าจะต้องวิเคราะห์อย่างไร แต่คนเป็นผู้นำ ควรมีวาระ 100 วันแรก ว่าตั้งใจจะทำอะไร เพราะหากไม่มีแผน เวลาเจอปัญหาเข้ามา ก็จะเมาหมัด ไม่รู้ต้องทำอะไรก่อนหรือหลัง จึงอยากให้รัฐบาลมีวาระ และความเข้าใจในการทำงาน เนื่องจากตอนนี้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ทั้งปัญหาภัยพิบัติ และปัญหาเศรษฐกิจ

ส่วนมองภาวะผู้นำของ น.ส.แพทองธารอย่างไรบ้าง เนื่องจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่เรื่องถือไอแพด จนกระทั่งการตอบคำถามเรื่องทางเดินน้ำผิด นายพิธา กล่าวว่า เป็นเรื่องเล็กน้อย เรื่องเนื้อหาเป็นเรื่องสำคัญกว่า ใครก็พูดผิดกันได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ต้องดูกันที่มีวิสัยทัศน์หรือไม่ มีกลยุทธ์ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ดีกว่า การอ่านไอแพดเป็นเรื่องธรรมดามาก ไม่ได้เป็นสาระอะไรเลย

เมื่อถามถึงความนิยมของพรรรคประชาชนที่ลดลงตามหลังพรรคเพื่อไทย นายพิธา กล่าวว่า พูดตั้งแต่สมัยพรรคก้าวไกลแล้วว่า "แพ้เป็นถ่าน ผ่านเป็นเพชร" จะเป็นเพชรได้ ต้องใช้ทั้งความอดทน ความกดดัน ความร้อน และเวลา เชื่อว่านายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน และเพื่อน สส.ของพรรค คงจะจำบรรยากาศจากอนาคตใหม่มาเป็นก้าวไกลได้ ตนได้ใช้คำนี้ในที่ประชุมว่า หากเราผ่านกระบวนการนี้ไปได้ ทุกอย่างจะเป็นไปได้ด้วยดี และขอส่งกำลังใจให้ เพราะเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องใช้เวลา

ส่วนกรณีที่ทุกการเคลื่อนไหวของนายณัฐพงษ์ถูกนำมาเปรียบเทียบกับตัวเองนั้น นายพิธา กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละคนที่จะวิจารณ์ ยืนยันมั่นใจในตัวนายณัฐพงษ์มาก ตอนที่พยายามจัดตั้งรัฐบาล นายณัฐพงษ์ก็อยู่ข้างตัวอยู่พักนึง ตอนนั้นก็มีคนอยากให้นายณัฐพงษ์เป็น รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงมั่นใจว่าผ่านไปได้แน่นอน และที่กระแสหายไปนั้น ก็ไม่เกี่ยวกับตน เป็นเรื่องของกระบวนการ

เมื่อถามว่า มองอย่างไรในกรณีที่พรรคประชาชนโดนบิดไป จนมีการตั้งชื่อพรรคใหม่ให้ว่าพรรคประชาชนพม่า จากการอภิปรายของ สส.ของพรรค นายพิธา กล่าวว่า เราเป็นนักการเมือง ต้องรับฟังความคิดเห็น คำติชม ของประชาชนที่เลือกเรามาเป็นธรรมดา ขณะเดียวกันก็ต้องยืนยันในข้อเท็จจริง ว่าเราเป็นนักการเมืองไทย ต้องเลือกเอาผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นหลัก แต่เราก็เป็นส่วนหนึ่งในประชาคมโลก จึงต้องหาจุดสมดุลให้เจอ หากเรามีความจริงใจ และสามารถอธิบายได้ ก็คงเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ต้องฟังประชาชน เพื่อเอามาปรับปรุง และแยกแยะให้ได้ว่า อันไหนเป็นเรื่องจริง

ส่วนกรณีนายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ด เข้าไปรับประทานอาหารที่บ้านจันทร์ส่องหล้านั้น นายพิธา กล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องส่วนตัว ว่าคุยอะไรกัน การเมืองภาพใหญ่ประชาชนควรเป็นส่วนสำคัญในการที่จะคิดอะไร มีคนมาเล่าให้ฟังอยู่เรื่อย ๆ แต่ก็ไม่ใช่จุดสำคัญที่จะต้องมาคอยโฟกัส เราควรโฟกัสในสิ่งที่เราควบคุมได้จะดีกว่า แต่หากอยากจะฝากบอกอะไรพรรคประชาชน ตนจะบอกว่าให้เน้นที่ประชาชนเยอะ ๆ

ส่วนกรณีที่พรรคภูมิใจไทยงดออกในการลงมติร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่….) พ.ศ. ... ซึ่งวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น จะสามารถสะท้อนได้หรือไม่ พรรคภูมิใจไทยเป็นแกนนำรัฐบาล นายพิธา กล่าวว่า เรื่องนี้ก็งง เพราะวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมาโหวตผ่าน แต่คราวนี้งดออกเสียง ก็ต้องกลับไปถามพรรคภูมิใจไทยว่า ต้องการที่จะส่งสัญญาณอะไรกับสังคม ไม่ว่าจะเป็นการทำประชามติ ว่ามีเหตุผลอะไร ที่ทำให้ภายในระยะเวลาเดือนกว่า ๆ มีความคิดที่แตกต่างออกไป คงต้องฝากไปถามพรรคภูมิใจไทย