51 ปี 14 ตุลาฯ 2516 ชิงการนำวนลูป อำนาจ ‘ทหาร’ ซ่อนรูป
ครบ 51 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ชิงการนำวนลูป อำนาจ ‘ทหาร’ ซ่อนรูป 'อนุรักษนิยม' ยึดเกมสภาสูง คอนโทรลองค์กรอิสระ คุมเกมสภาล่าง
KEY
POINTS
- ครบ 51 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่รัฐบาลทหารใช้กำลังปราบ "ประชาชน" เหตุการณ์ดังกล่าวถูกบันทึกเป็นหน้าประวัติศาสตร์ทางการเมือง
- การเผชิญหน้ากันระหว่าง "ทหาร" กับ "ประชาชน" ครั้งนั้น ถูกคาดหวังประเทศไทยจะมี "ประชาธิปไตยเต็มใบ"
- ทว่าระยะเวลาที่ผ่านมา "อนุรักษ์-ทหาร" ยังรักษาอำนาจนำเอาไว้ได้ ด้วยการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในอดีต ไม่จำเป็นต้องเข้ากุมอำนาจด้วยตัวเอง แต่มีตัวแทนเข้าไปขับเคลื่อนแทน
ครบ 51 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย เมื่อคนหนุ่มสาว-นิสิตนักศึกษา ร่วมกับประชาชนเรือนแสน เรียกร้องให้รัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ปล่อยตัวนิสิต นักศึกษา อาจารย์ และนักการเมือง 13 คนที่ถูกจับกุมฐานเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่กลับถูกตั้งข้อหากบฏ
โดย “รัฐบาลทหาร” เลือกใช้กำลังในการปราบปรามจนเกิดความรุนแรง ส่งผลให้เกิดการชุมนุมทั้งใน กทม.-ต่างจังหวัด จนทำให้ “ถนอม-ประพาส-ณรงค์” ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ
นับแต่นั้นเหตุการณ์ 14 ตุลา ถูกเล่าขานสืบต่อกันมา ถึงผลกระทบต่อการเมืองการปกครองของไทย เมื่อพลังของ “ประชาชน” สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ และเมื่อเกิดการชุมนุมต่อต้าน “รัฐบาล” ภาพจำของ 14 ตุลา จะถูกนำมาถอดเป็นบทเรียน
ในห้วง 51 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทย ยังต้องพบกับฝันร้ายทางประชาธิปไตยอยู่หลายครั้ง อาทิ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 เหตุการณ์ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ระหว่างปี 2548-2552 (นำมาสู่การรัฐประหารปี 2549) เหตุการณ์ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงปี 2553 มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตจำนวนมาก เหตุการณ์ชุมนุมกลุ่ม กปปส. ปี 2556-2557 (นำมาสู่การรัฐประหารปี 2557)
ในทุกเหตุการณ์ต่างมีการถอดบทเรียน แต่กงล้อทางประวัติศาสตร์มักจะหมุนกลับมาที่เดิม “ประเทศไทย” ไม่เคยพ้นจากบ่วงกรรม “ประชาธิปไตย” ที่นำไปสู่ความรุนแรง การชิงอำนาจ ก่อนจบลงด้วยความสูญเสีย
อย่างไรก็ตาม เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางมือทางการเมือง ภายหลังครองอำนาจตั้งแต่ปี 2557-2566 ใช้ระยะเวลากว่า 9 ปี บนเก้าอี้นายกฯ เป็นรัฐบาลทหารจำแลง ที่เรียนรู้จากความผิดพลาดของ “ทหารรุ่นพี่”
ต้องยอมรับว่า “ประยุทธ์” ใช้บริการกำลังทหาร ในการทำรัฐประหารเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นไม่ว่าจะเกิดการชุมนุมของ “กลุ่มราษฎร” หรือการชุมนุมทางการเมืองกลุ่มอื่น จะมีเพียง “ตำรวจ” ที่ออกมารักษาความสงบ แม้บางครั้งจะเพลี่ยงพล้ำ แต่สามารถรอจังหวะจนพลิกเกมโต้คืน จนกลุ่มผู้ชุมนุมอ่อนแรงไปเอง
เมื่อ “ทหาร-อนุรักษนิยม” เรียนรู้จากความผิดพลาด การครองอำนาจทางการเมือง ไม่จำเป็นต้องอยู่ในตำแหน่งด้วยตัวเอง แต่เป็นการผ่องถ่ายกำลังไปยังกลไกทางการเมือง โดยเฉพาะการกุมอำนาจด้วยการวางกลไกเอาไว้ใน“รัฐธรรมนูญ”ฉบับปี 2560
ย้อนไปในการเลือกตั้งปี 2562 เป็นการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว เลือกทั้งคน-เลือกทั้งพรรค จน “บิ๊กการเมือง” มองว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ถูกออกแบบมาเพื่อต่อยอดอำนาจทางการเมืองให้ “รัฐบาลทหาร” จนแห่กันเข้าสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งถูกมองว่าเป็นพรรคการเมืองของ “3 ป.” ป.ประยุทธ์ ป.ประวิตร ป.ป๊อก อนุพงษ์
แม้ “3 ป.-พลังประชารัฐ” จะไม่ชนะการเลือกตั้ง แต่สามารถรวบรวมเสียง สส. ผนึกกับเสียง 250 สว. โหวตให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เข้ามานั่งเก้าอี้นายกฯรอบสอง
ทว่า เกิดความขัดแย้งขึ้นใน “3 ป.” โดยเฉพาะ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ฝันอยากนั่งเก้าอี้นายกฯ ส่ง “ลูกน้อง” ปะฉะดะกับ “ประยุทธ์-อนุพงษ์” จนต้องแยกทางไปตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ
ท้ายสุด “3 ป.” พบกับความพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งปี 2566 จนต้องลงจากหลังเสือ แต่ด้วยกติกาในรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ใช้เสียง 250 สว. โหวตเลือกนายกฯ ทำให้ “อดีตพรรคก้าวไกล-เพื่อไทย” ที่ส่งชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” โหวตเลือกนายกฯ แต่ไม่สำเร็จ
ขณะเดียวกันธงของ “เพื่อไทย” คือปฏิบัติการเอา “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กลับบ้าน ทำให้ “ทักษิณ-เพื่อไทย” ต้องพลิกขั้วจับมือกับ “หัวขบวนอนุรักษนิยม” จัดตั้งรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ก่อนจะพ้นจากตำแหน่งมาเป็นรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
ว่ากันว่า การกลับมาของ “ทักษิณ” เขาได้รับการการันตีจาก “หัวขบวนอนุรักษนิยม” ในเรื่องความปลอดภัย จึงมีกระแสข่าวออกมาตลอด ว่าเจ้าตัวไม่เคยย่างก้าวเข้าเรือนจำแม้แต่วันเดียว ที่สำคัญการเข้ารักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ยังเป็นปริศนาว่า “ทักษิณ” ป่วยจริงหรือไม่
การเปลี่ยนฉาก ผ่องถ่ายอำนาจจาก“ประยุทธ์”สู่“ทักษิณ”แทบจะไร้รอยต่อ เมื่อมีมือประสาน-ตัวเชื่อม คอยเปิดทาง-เปิดดีล จนรัฐบาลเศรษฐา-รัฐบาลแพทองธาร ถูกมองว่ามี“ขุนทหาร”คอยอำนวยความสะดวกในภารกิจสานต่ออำนาจให้ “หัวขบวนอนุรักษนิยม”
ขณะเดียวกันฐาน “สว.” ซึ่งถือเป็นสภาสูง มีอำนาจแต่งตั้ง “องค์กรอิสระ” ถูกรัฐธรรมนูญปี 2560 วางกลเกมซ่อนเงื่อน โดยให้ 20 กลุ่มอาชีพ เลือก 200 สว. จนมีกระบวนการจัดตั้งเสียงโหวต เพื่อล็อกโหวต จนมีเสียงวิจารณ์กันว่า 200 สว.ชุดปัจจุบัน มาจากสายสีน้ำเงินเกือบ 170 เสียง
มีกระแสข่าว “บิ๊กสีน้ำเงิน” มักปล่อยข่าวในที่ลับบอกว่า เกมเลือก สว. “เขาสั่งให้ทำ” โดย “เขา” ในนิยามของ “บิ๊กสีน้ำเงิน” พุ่งตรงไปที่ผู้คุมกลไกของรัฐธรรมนูญปี 2560
ผ่านมา 51 ปี จาก 14 ตุลา 2516 ถึง 14 ตุลา 2567 “ทหาร-อนุรักษนิยม” ยังครองอำนาจทางการเมือง แต่เปลี่ยนหน้าฉาก จากคุมเกมด้วยตัวเอง มาใช้ “นักการเมือง” เป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อรักษาอำนาจในภาพใหญ่เอาไว้แทน