สส.ปชน.จ่อใช้ช่องทางศาลอาญาระหว่างประเทศ เอาผิดจำเลยคดีตากใบ

สส.ปชน.จ่อใช้ช่องทางศาลอาญาระหว่างประเทศ เอาผิดจำเลยคดีตากใบ

'รอมฎอน' ร่วมสังเกตการณ์คดีตากใบ ผิดหวังไร้จำเลยปรากฏตัวต่อศาล ลั่นถ้าความยุติธรรมในประเทศไม่ทำงาน เตรียมเดินหน้าใช้ศาลอาญาระหว่างประเทศแทน ชี้ 'พล.อ.พิศาล' ลาออก สส.เพื่อไทย ถือเป็นผลดีกับรัฐบาล จะได้จัดการให้เด็ดขาด 

เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2567 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เข้าร่วมสังเกตการณ์การพิจารณา "คดีตากใบ" ในการนัดเบิกคำให้การครั้งที่สอง หลังจากที่นัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมาจำเลยทั้ง 7 คนไม่มาศาล และวันนี้จำเลยก็ไม่ได้เดินทางมาที่ศาลเช่นเดียวกัน ซึ่งผู้พิพากษาได้มีคำสั่งให้นัดพร้อมประชุมคดีอีกครั้งในวันที่ 28 ต.ค. 2567 

นายรอมฎอน กล่าวหลังร่วมนัดสังเกตการณ์คดีว่า สิ่งที่น่ากังวล คือ ในวันนัดพร้อมนั้น จะเป็นวันเลยกำหนดอายุความที่จะสิ้นสุดในเวลา 00.00 น. ของวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ไปแล้ว ทั้งนี้ ในอายุความที่เหลืออยู่อีก 10 วัน จำเลยยังมีโอกาสที่จะแสดงตัวต่อศาล หรือมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้คดีมีการพิจารณาต่อไปได้ อย่างไรก็ดี ศาลได้เปิดโอกาสให้คู่ความแถลงต่อศาล รวมทั้งให้ตนในฐานะผู้สังเกตการณ์จากอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติได้แถลงให้ความเห็นต่อศาลด้วย โดยในส่วนของญาติผู้เสียหายซึ่งเป็นญาติของโจทก์ที่ 3 ได้สะท้อนความรู้สึกที่อึดอัดคับข้องใจเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในการนำตัวจำเลยที่ถูกออกหมายจับมาดำเนินคดีว่า มีการเลือกปฏิบัติและใช้สองมาตรฐานหรือไม่ เพราะในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ที่ตกเป็นจำเลยหรือผู้ต้องหาจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติแบบหนึ่ง แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงถูกออกหมายจับกลับไม่มีความจริงจังมากนัก ทำให้รู้สึกหมดศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมในการฟื้นความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ตากใบ

นายรอมฎอน กล่าวอีกว่า ในฐานะ สส. ได้แถลงต่อศาล โดยระบุว่า ยังคงมีความหวังว่า ภายในกรอบระยะเวลาเท่าที่มีอยู่ จำเลยจะสามารถให้ความร่วมมือต่อศาลได้และเจ้าหน้าที่จะสามารถนำตัวจำเลยมาศาลได้ทัน ถือเป็นความหวังที่จำเป็นต้องมี เพราะผลกระทบของคดีนี้จะกว้างไกลมาก หากไม่สามารถนำตัวจำเลยมาทำให้คดีเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับปัญหาความมั่นคงของชาติ สถานการณ์ความรุนแรง และความคืบหน้าของกระบวนการสันติภาพ ถ้ากระบวนการยุติธรรมไม่สามารถเดินต่อไปได้ ความเชื่อมั่นต่อสถาบันที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายทั้งหมดก็จะเสื่อมถอยลง สิ่งที่ต้องการมากที่สุดในการแก้ปัญหาในกรณีความขัดแย้งชายแดนใต้ คือ ความเชื่อมั่นไว้วางใจของประชาชนต่อสถาบันของรัฐ หากปราศจากความเชื่อมั่นไว้วางใจแล้วก็ย่อมเป็นการยากที่จะหาข้อตกลงที่จะอยู่ร่วมกันในอนาคตได้ รวมถึงข้อตกลงสันติภาพด้วย

นายรอมฎอน กล่าวต่อไปว่า ตนยังได้แถลงต่อศาลอีกว่า ถ้ากระบวนการยุติธรรมภายในประเทศไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ควรจะเป็น และความปรารถนาที่จะได้ความจริงและความยุติธรรมของประชาชนยังดำรงอยู่ ทางเลือกหนึ่งที่ประชาชนอาจจำเป็นต้องใช้ คือ การใช้กลไกกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศหรือศาลอาญาระหว่างประเทศ แม้ประเทศไทยจะไม่ได้ให้สัตยาบรรณต่อธรรมนูญกรุงโรม แต่ก็มีบางช่องทางที่สามารถหยิบยกมาเรียกร้องให้มีการไต่สวนด้วยกลไกศาลอาญาระหว่างประเทศได้ แม้จะเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก แต่หนทางและความปรารถนาของประชาชนที่จะได้รับความยุติธรรมก็ยังคงมีอยู่ ถ้ากลไกภายในประเทศไม่สามารถทำงานได้

สส.ปชน.จ่อใช้ช่องทางศาลอาญาระหว่างประเทศ เอาผิดจำเลยคดีตากใบ

นายรอมฎอน กล่าวด้วยว่า ตระหนักดีว่า ฝ่ายความมั่นคงมีความกังวลต่อกรณีนี้ แต่ถ้าประเทศไทยไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนได้ การใช้กลไกดังกล่าวมาช่วยอำนวยความยุติธรรมก็เป็นเรื่องที่ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ตนต้องขอขอบคุณญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บที่ร่วมกันฟ้องคดีในครั้งนี้ ถือเป็นความกล้าหาญที่ควรต้องได้รับความชื่นชม โดยเฉพาะในความพยายามเพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้เกิดขึ้นในประเทศนี้ว่า จะต้องไม่มีใครใช้อำนาจรัฐในการฆ่าประชาชนได้อีกต่อไป

สำหรับกรณีที่ พล.อ.พิศาล รัตนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 จำเลยที่ 1 ได้มีการลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งทำให้ขาดสถานะจากความเป็น สส. นั้น นายรอมฎอน กล่าวว่า แม้จะมีการลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทยแล้ว แต่รัฐบาลและหัวหน้าพรรคเพื่อไทยก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบในฐานะเป็นผู้ใช้อำนาจฝ่ายบริหารในเวลานี้ได้ ทั้งหมดนี้ยังขึ้นอยู่กับการบังคับใช้กฎหมายและการพยายามทำหน้าที่อย่างถึงที่สุดของฝ่ายบริหารในการนำตัวจำเลยทั้ง 7 ในคดีที่ราษฎรฟ้องเอง และผู้ต้องหาอีก 8 คนในคดีที่อัยการสั่งฟ้อง รวมทั้งสองสำนวน 14 คนมาสู่กระบวนการยุติธรรมให้ได้

ทั้งนี้ ในกรณีใบลาออกของ พล.อ.พิศาล เข้าใจว่า รองนายกรัฐมนตรี ภูมิธรรม เวชยชัย ได้รายงานต่อหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ทั้งรองนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีก็ยังคงมีภาระหน้าที่ที่ต้องสืบเสาะหาต้นสายปลายเหตุว่า ตอนนี้ พล.อ.พิศาล อยู่ที่ไหน จดหมายฉบับนี้ถูกเขียนที่ไ่หน และใช้กลไกในทางการทูตของฝ่ายบริหารทุกหนทางในการนำตัว พล.อ.พิศาล มาขึ้นศาลให้ได้ภายในกรอบระยะเวลาที่มีอยู่ ซึ่งตนเข้าใจว่า คนที่รับหนังสือนี้ไม่ว่า ติดต่อผ่านช่องทางไหน จะเป็นช่องทางสำคัญในการสืบเสาะและด้วยขีดความสามารถของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ก็ย่อมสามารถเสาะหาตัวได้แน่ ๆ 

“ทั้งหมดนี้เป็นภาระความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะต้องแสดงให้เห็นว่าได้มีความพยายามอย่างจริงจังในการกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการนำตัวจำเลยและผู้ต้องหาเหล่านั้นมาขึ้นศาลให้ทันก่อนอายุความจะหมดลง แม้สมาชิกภาพของ พล.อ.พิศาล จะสะดุดหยุดลง แต่ก็เป็นโอกาสดีที่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และการกำชับของฝั่งรัฐบาลจะทำงานได้อย่างเต็มที่โดยปราศจากอคติและการเลือกปฏิบัติ และคาดหวังว่า อีก 10 วันที่เหลือจะได้เห็นการปฏิบัติการที่เข้มแข็ง รัดกุม และทันท่วงทีมากขึ้นจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นหน่อยว่า รัฐบาลได้ทำงานอย่างเต็มที่แล้ว” นายรอมฎอน กล่าว

นายรอมฎอน กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรีมีมติขยายการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงออกเป็นครั้งที่ 78 ว่า การขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินโดยไม่ได้มีการลดพื้นที่ของการประกาศลงครั้งนี้ ถือเป็นการขยายเวลาครั้งแรกในรัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงว่า รัฐบาลไม่ได้มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายพิเศษใด ๆ ทั้งสิ้น จึงถือได้ว่า เป็นความคืบหน้าที่ไม่คืบหน้า

ทั้งกรณีตากใบและการขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้นำมาสู่คำถามว่า ตกลงยุทธศาสตร์ใหญ่และแนวทางนโยบายของพรรครัฐบาลจะทำอย่างไรต่อกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีความชัดเจนโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังอายุความของคดีตากใบสิ้นสุดลง และในฐานะหัวหน้ารัฐบาล นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ก็จะต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้