‘แพทองธาร’ ถก พัฒนาองค์ความรู้ชั้นสูง มุ่งผลิตคนด้าน ‘เซมิคอนดักเตอร์’

‘แพทองธาร’ ถก พัฒนาองค์ความรู้ชั้นสูง มุ่งผลิตคนด้าน ‘เซมิคอนดักเตอร์’

“แพทองธาร” ถก สภานโยบายอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พัฒนาองค์ความรู้ชั้นสูง มุ่ง4อุตสาหกรรมเป้าหมายประเทศ ดึงลงทุน ผลิตบุคลากรมีความสามารถ เห็นชอบแผนผลิตกำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์ 8หมื่นคน ภายใน5ปี ตั้ง Training Center ทั่วประเทศ เพิ่มทักษะแรงงาน

ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2567 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พล.ต.อ.เพิ่มพูน  ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมการประชุม 

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2567 ว่า เป็นครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานการประชุมสภานโยบายฯ ซึ่งก่อนหน้านี้การประชุมสภานโยบายฯ มีการประชุมในประเด็นสำคัญหลายเรื่อง โดยเฉพาะแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือการพัฒนาองค์ความรู้ชั้นสูง และสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง ก่อให้เกิดรายได้และสร้างประโยชน์ที่แท้จริงให้กับประชาชน และประเทศชาติ

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า  การประชุมวันนี้มีสาระสำคัญที่มุ่งเน้นไปในการทำงานวิจัย โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นำมาต่อยอดอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ให้สามารถตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ดึงดูดนักลงทุน และสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอุตสาหกรรม 4 + 2 เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีขั้นสูง โดยทั้ง 4 อุตสาหกรรมดังกล่าว ประกอบด้วย (1) อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV)  (2) อุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ ( Artificial Intelligence: AI) (3) อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (Semiconductor & Advanced Electronics) 4. อุตสาหกรรมการแพทย์ขั้นสูง (Advanced Medical Industry) รวมไปถึงอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต คือ 1) เปลี่ยนผ่านพลังงาน ไปสู่พลังงานสะอาด (Energy Transition) และ 2) การสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

นายกรัฐมนตรี ยังย้ำถึงการพัฒนาบุคลากร ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญ คือ การผลิตบุคลากรให้สามารถตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมได้ รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเรียนรู้ตลอดชีวิต และการพัฒนาทักษะ Upskill และ Reskill ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อการเรียนรู้ให้กับประชาชน ผ่านการผลักดันระบบคลังหน่วยกิตกลาง (National Credit Bank :NCB) เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษา ให้ทุกช่วงวัย โดยหวังว่านโยบายของสภา อววน. จะช่วยผลักดันความรู้ด้านวิทยาศาสตร์  วิศวกรรมศาสตร์และสังคม แก้ปัญหาให้กับประเทศชาติ และนำผลงานวิจัยไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ สร้างรายได้ และมีส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนพัฒนาประเทศต่อไป

โดยที่ประชุมเห็นชอบ กรอบแนวทางการนำการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อววน. เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงตามความต้องการของประเทศ ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการขับเคลื่อนภารกิจด้าน อววน. ให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ โดยการผลิตและพัฒนากำลังคนทักษะสูงเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม มุ่งเน้นใน 4 อุตสาหกรรมเป้าหมายและ 2 วาระ สำคัญเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง 2) อุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) 3) อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และ 4) อุตสาหกรรมการแพทย์ขั้นสูง และวาระสำคัญ 2 วาระ ประกอบด้วย 1) การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด และ 2) การสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งในมิติของการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน การจัดการมลพิษ และการลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่อาจขึ้นได้อนาคต

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบ (ร่าง) ข้อเสนอโครงการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงของประเทศ ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ครอบคลุมทั้ง Ecosystem ของอุตสาหกรรมดังกล่าว ตั้งแต่การผลิตกำลังคน การยกระดับผู้ประกอบการ ไปจนถึงการพัฒนาศูนย์ทดสอบ โดยในระยะ 5 ปี รัฐบาลตั้งเป้าผลิตกำลังคนเฉพาะทางด้านเซมิคอนดักเตอร์ไม่ต่ำกว่า 80,000 คน เพื่อรองรับการลงทุนที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น รวมถึงเพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่ ๆ จากต่างประเทศ ผ่านหลักสูตรในรูปแบบใหม่ๆ ที่ได้ออกแบบร่วมกันกับภาคอุตสาหกรรม หรือหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ (Higher Education Sandbox) ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่สามารถผลิตกำลังคนที่มีทักษะและสมรรถนะตรงตามความต้องการได้ 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการจัดตั้ง Training Center 6 แห่งทั่วประเทศ เพื่อยกระดับและเพิ่มพูนทักษะใหม่ๆ ให้แก่กำลังแรงงานที่อยู่ในระบบ รวมถึงการวิจัยร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นการตอกย้ำว่ารัฐบาลมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรม สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเซมิคอนเตอร์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงชั้นนำของโลกได้ในอนาคต

เห็นชอบโครงการระบบคลังหน่วยกิตกลางหรือ National Credit Bank System ซึ่งในอนาคตผู้เรียนสามารถสะสมหน่วยกิต ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะการเรียนรู้ในห้องเรียน แต่ยังสามารถสะสมหรือเทียบโอนหน่วยกิตที่ได้จากการทำงานหรือประสบการณ์วิชาชีพต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำหน่วยกิตที่ได้ไปเทียบเป็นคุณวุฒิต่างๆ ได้ นอกจากนั้นยังมีลักษณะสำคัญ คือ การจับคู่ทักษะ ซึ่งผู้เรียนจะสามารถรู้ได้ว่าตนเองยังขาดทักษะหรือความรู้ในด้านใด และจำเป็นต้องเรียนรู้และฝึกประสบการณ์ด้านใดเพิ่มเติม เพื่อนำตนเองไปสู่เป้าหมายอาชีพที่ต้องการทำในอนาคตได้ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ที่สามารถมอบรูปแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น และสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้กับประชากรทุกกลุ่ม โดยไม่มีข้อจำกัดด้านอายุและวุฒิการศึกษา

นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา และกรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 วงเงินรวมทั้งสิ้น 160,136 ล้านบาท โดยงบประมาณด้านการอุดมศึกษาประมาณ 115,000 ล้านบาท จะถูกนำไปใช้ในการผลิตและพัฒนากำลังคนทั้งในระบบปริญญา (Degree Program) และหลักสูตรระยะสั้น (Non-degree Program) โดยตั้งเป้าผลิตนักศึกษาในหลักสูตรที่สอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศกว่า 670,000 คน และกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์กว่า 133,000 คน โดยงบประมาณดังกล่าว จะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ เช่น การสร้างกำลังคนทักษะสูงในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ ๆ อาทิ เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ปัญญาประดิษฐ์ และยานยนต์ไฟฟ้า ไม่น้อยกว่า 20,000 คน การสร้างบัณฑิตที่ตอบโจทย์การพัฒนาเชิงพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 1,000 คน การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้มีทักษะสมัยใหม่ ไม่น้อยกว่า 1,000 วิสาหกิจ เป็นต้น ในส่วนของงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  จะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และการแก้ไขประเด็นวิกฤตและเร่งด่วนของประเทศ โดยอาศัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม