ทางการ! กกต.รับสอบอยู่คดี ‘ยุบเพื่อไทย-พรรคร่วมฯ’ ปม ‘ทักษิณ’ ครอบงำ
สำนักงาน กกต.แจงปมร้อน ยอมรับเลขา กกต.สั่งรวบรวมข้อเท็จจริง-พยานหลักฐาน ก่อนชงที่ประชุม กกต.พิจารณา ปม ‘ยุบเพื่อไทย-พรรคร่วมรัฐบาล’ กล่าวหา ‘ทักษิณ’ ครอบงำ
เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่เอกสารข่าวชี้แจง กรณีตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่ามีผู้ร้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคการเมืองรวม 6 พรรค กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 นั้น
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอเรียนว่า การดำเนินการตามคำร้องดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน เพื่อเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงประชาสัมพันธ์เพื่อทราบทั่วกัน
สำหรับกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2567 มีรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้พิจารณา 6 คำร้องที่มีผู้ร้องขอให้ กกต.พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม กรณีกล่าวหาว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรค กระทำการครอบงำ ชี้นำ และ 6 พรรคการเมืองยินยอมให้นายทักษิณ ครอบงำ ชี้นำ
โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง เห็นว่า คำร้องดังกล่าวมีมูล และให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวน และมีความเห็นเสนอ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่สามารถขอขยายได้อีกครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าจะแล้วเสร็จ
กรณีนี้มีกลุ่มผู้ร้องรวม 4 ราย ได้แก่ บุคคลนิรนาม นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และนายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบชาว 2006 เป็นผู้ยื่นคำร้องอ้างถึงพฤติการณ์ของนายทักษิณ ทั้งการที่แกนนำ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมไปร่วมประชุมกับนายทักษิณ ที่ บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง
นอกจากนี้ยังอ้างถึงการให้สัมภาษณ์ของนายทักษิณ หลายครั้ง เกี่ยวกับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีระหว่างการจัดตั้งรัฐบาล การชี้นำพรรคเพื่อไทยในการเลือกพรรคร่วมรัฐบาล การนำวิสัยทัศน์ที่นายทักษิณที่แสดงไว้เมื่อวันที่ 22 ส.ค.มาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล โดยผู้ร้องเห็นว่าเข้าข่ายขัดมาตรา 29 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการใดอันเป็นการควบคุมครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม
การที่พรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิมยินยอมให้บุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการอันเป็นการควบคุมครอบงำ ชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมืองไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เข้าข่ายขัดมาตรา 28 หากการสอบสวน พบว่าเป็นความผิด จะเป็นเหตุให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอต่อ กกต.ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคตามมาตรา 92 (3) ของกฎหมายเดียวกันได้