'พริษฐ์' เชื่อ ครม.แหยง 'นิรโทษกรรม' สะท้อนความไม่แน่นอนในรัฐบาล

'พริษฐ์' เชื่อ ครม.แหยง 'นิรโทษกรรม' สะท้อนความไม่แน่นอนในรัฐบาล

'ไอติม พริษฐ์' เชื่อมีโอกาสสูง ครม.แหยงตราร่างกฎหมาย 'นิรโทษกรรม' หลัง สส.รัฐบาล-เพื่อไทยคว่ำข้อสังเกต กมธ. สะท้อนความไม่แน่นอนในรัฐบาล แนะจับตาความเป็นเอกภาพพรรคร่วมฯ

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2567 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี สส.รัฐบาล รวมถึง สส.พรรคเพื่อไทย (พท.) ส่วนใหญ่โหวตคว่ำข้อสังเกตรายงานของคณะ กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ว่า ทำให้เกิดสภาวะของความไม่แน่นอนสูง รัฐบาลจะแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตอย่างไร

นายพริษฐ์ กล่าวว่า เรื่องนี้แยกออกได้เป็น 2 ประเด็น คือ

1.ตอนนี้มีความเป็นไปได้สูงว่า อาจจะไม่เห็น ครม.เสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม มีแนวโน้มว่าจะเหลือแค่ร่างของแต่ละพรรค

2.มีความไม่แน่นอนว่า พรรคเพื่อไทยจะเสนอร่างนิรโทษกรรมของตัวเอง เข้าสภาฯหรือไม่ และหากเสนอจริง จะมีจุดยืนอย่างไร เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมเกี่ยวกับฐานความผิดกฎหมาย มาตรา 112 เพราะเห็นว่า นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย หรือ สส.พรรคเพื่อไทย ออกมาพูดในลักษณะว่า พรรคจะไม่เสนอกฎหมายที่มีการนิรโทษกรรม มาตรา 112 

นายพริษฐ์ กล่าวว่า แต่ถ้าไปดูรายละเอียดสำคัญ จะเห็น กมธ.วิสามัญสัดส่วนพรรคเพื่อไทย 4 คน จาก 8 คน ที่เห็นชอบด้วยกับการนิรโทษกรรม แบบที่มีเงื่อนไขใน 4 คน เป็น สส.เพื่อไทย 1 คน คือ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ ขณะที่มีแค่ 2 คน ที่ไม่นิรโทษกรรมคดี 112 หนึ่งในนั้นคือนายนพดล ปัทมะ ส่วนอีก 2 คน คือ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญฯ และ น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ไม่แสดงความเห็น  

"สรุปคือ การคว่ำข้อสังเกตรายงานของกมธ.ฯ มันไปตอกย้ำสภาวะ ความไม่แน่นอน กลับไปกลับมาของรัฐบาล เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง และก็เรื่องของนิรโทษกรรม" นายพริษฐ์ กล่าว

นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า เรายังเห็นความไม่เป็นเอกภาพ เรื่องจุดยืน และนโยบายพรรคร่วมรัฐบาล ที่ชัดเจนขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ คือ 1.เรื่องนิรโทษกรรม 2.เรื่องรัฐธรรมนูญ การลงมติในสภาฯเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่ สว.แก้ไข และส่งกลับมาสภาฯ รัฐบาลเกือบทุกพรรคลงมติไม่เห็นด้วย ยกเว้นพรรคภูมิใจไทย ที่งดออกเสียง และ 3.พ.ร.บ.ขนส่งทางราง มีการกลับไปกลับมาว่า รัฐบาลจะสนับสนุนร่างใดเป็นร่างหลัก มีอยู่ 3 ร่างที่กำลังดำเนินการ คือ ร่างพรรค ปชน. ร่างพรรคเพื่อไทย และร่างของ ครม. ความจริงแล้วเป็นร่างดั้งเดิม ที่ถูกจัดทำสมัยพรรคภูมิใจไทยคุมกระทรวงคมนาคม ต้องจับตาดูพรรคเพื่อไทยจะเสนอร่างใดเป็นร่างหลัก ยืนยันว่าเราเล็งเห็น ความเห็นแตกต่างเชิงจุดยืนและนโยบายระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ขาดความเป็นเอกภาพ