สภาองค์กรของผู้บริโภค-เครือข่าย ปชช.หอบ 493 ชื่อยื่น กสม.สอบ กทม.ทำผังเมือง
สภาองค์กรของผู้บริโภค-พร้อมเครือข่ายภาคประชาชน หอบ 493 ชื่อ ยื่น กสม.สอบ กทม. ปมทำผังเมืองรวม ส่อขัดกฎหมายหรือไม่
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2567 สภาองค์กรของผู้บริโภค และเครือข่ายผู้บริโภค รวบรวม 493 รายชื่อยื่นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตรวจสอบกรุงเทพมหานคร (กทม.) กรณีการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ส่อเข้าข่ายละเมิดสิทธิประชาชน และขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยขอให้ยุติการจัดทำร่างผังเมืองรวม
จากกรณีการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดรับฟังความคิดเห็นและอยู่ระหว่างการประกาศคัดค้าน แต่มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบยังขาดการรับรู้และมีส่วนร่วมในร่างผังเมืองฯ อย่างแท้จริง อีกทั้งการวางและจัดทำผังเมืองจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 72 (2) พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 มาตรา 9 และตามธรรมนูญว่าด้วยการผังเมือง พ.ศ. 2566 ซึ่งคำนึงถึงสิทธิของประชาชนและสิทธิของผู้บริโภคสากลที่องค์การสหประชาชาติให้การรับรอง ได้แก่ สิทธิในการมีส่วนร่วมและแสดงข้อคิดเห็นในความเดือดร้อนและความต้องการของตนเองในฐานะผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ สิทธิที่จะได้ดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี สิทธิที่จะได้รับบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต สิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อประกอบการเลือกและตัดสินใจ สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้บริการ รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาเมื่อถูกละเมิดสิทธิ
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2567 สภาผู้บริโภค ร่วมกับตัวแทนกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) กว่า 50 คนได้นำรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบ 493 รายชื่อเข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมีนางสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวกรุงเทพมหานครที่ได้รับผู้ได้รับผลกระทบจากการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร โดยได้รวบรวมรายชื่อกว่า 493 รายชื่อมายื่นต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อให้ตรวจสอบกระบวนการจัดทำเนื่องจากเราพบว่ากรุงเทพมหานครดำเนินการละเมิดสิทธิของชุมชน โดยขอให้ตรวจสอบการดำเนินการว่าละเมิดสิทธิของประชาชน พร้อมให้ทบทวนการจัดทำร่างผังเมืองดังกล่าวใหม่ โดยขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 26 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 ทำการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ทบทวนการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชน
"เราพบว่ากรุงเทพมหานครจัดทำผังเมืองรวมฯละเมิดสิทธิของชุมชนในหลายประเด็น อาทิ กฎหมายกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นก่อนที่จะมีการจัดทำร่างผังเมืองรวมฯ แต่ กทม.ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว จึงขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้รับฟังปัญหาก่อนว่าประชาชน มีปัญหาอะไรกับการใช้ผังเมือเดิมหรือไม่ ทั้งในเรื่องน้ำท่วม การก่อสร้างอาคารสูงหรือไม่ หรือสภาพเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 10 - 20 ปีที่ผ่าน เพื่อนำเอาความคิดเห็นและปัญหาความต้องการดังกล่าวมาออกแบบผังเมืองใหม่ให้ใช้ประโยชน์ร่วม แต่ กทม. ติดกระดุมผิดเม็ดทำผิดขั้นตอน โดยนำร่างผังเมืองใหม่ฯ มาอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ทำให้ประชาชนอยู่ในสภาพจำยอมไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ และ ไม่มีโอกาส หรือมีส่วนร่วมรับรู้ผลกระทบต่อชุมชน รวมถึงมาตรการอย่างไรในการเยียวยาแก้ไขอย่างไร จึงขอให้กรรมการสิทธิ์ตรวจสอบเพื่อให้ยุติการดำเนินการ”นายอิฐบูรณ์
นางสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กรรมการสิทธิฯ รับเรื่องร้องเรียนและจะนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบโดยส่งให้คณะกรรมการสิทธิฯ เพื่อพิจารณาว่าการร่างผังเมืองรวม กทม. ที่อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่ แต่จากการฟังปัญหาเบื้องต้นพบว่ามีหลายประเด็นที่เข้าข่ายโดยเฉพาะเรื่องของ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิการมีส่วนร่วม เพราะประชาชนที่มาส่วนใหญ่บอกว่าไม่รับรู้ถึงการดำเนินการ และเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเข้าองค์ประกอบการละเมิดสิทธิของประชาชนจริงเราจะเสนอไปยังกรุงเทพมหานครเพื่อให้พิจารณาต่อไป
นายทวีทอง ลาดทอง ผู้แทนประชาชนจากเขตคลองเตย และสภาชุมชนคลองเตย กล่าวว่า ชาวชุมชนคลองเตยทั้งหมด 26 ชุมชนมีประชากร 1 แสนคน ได้รับผลกระทบจากผังเมืองรวมเนื่องจาก เดิมพื้นที่ชุมชนคลองเตยเป็นสีน้ำตาลหมายถึงที่อยู่อาศัย แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน และสีแดง ซึ่งหมายถึงพื้นที่พาณิชย์ และพื้นที่ราชการ ทำให้ชาวคลองเตยกังวลว่าจะถูกขับไล่หรือไม่ จึงได้เรียกร้องขอพื้นที่ 20 %จากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยเพียงแค่ 515 ไร่จากจำนวน 2,455 ไร่ จึงขอให้กรรมการสิทธิมนุษย์ช่วยตรวจสอบและให้กรุงเทพมหานครช่วยทวบทวนการจัดทำผังเมืองรวมฯ
ทั้งนี้ที่ผ่านสภาผู้บริโภคได้ติดตามกระบวนการจัดทำร่างดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และพบว่ามีหลายกระบวนการที่อาจจะมีปัญหาละเมิดสิทธิของชุมชนและขัดต่อการดำเนินการตามกฎหมาย จึงจัดทำ “รายงานข้อเท็จจริงการจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4)” โดยพบปัญหาดังนี้
1.ปัญหากระบวนการรับฟังความเห็น ปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มีการประชาสัมพันธ์อย่างไม่ทั่วถึง กว้างขวาง เพียงพอ และไม่มีข้อมูลความละเอียด ว่า “ผลกระทบ”และแนวทางเยียวยาที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ที่เดือดร้อน เสียหายจากผังเมืองดังกล่าวซึ่งเป็นสาระเงื่อนไขสำคัญที่ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนใน มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ที่ต้องชี้แจงรายละเอียด ผลกระทบ และมาตรการเยียวยากับชุมชน
2. ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่เคยทราบเรื่องการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) มาก่อน และไม่สามารถเข้าใจในเนื้อหาได้เลย โดยเฉพาะเนื้อหาผลกระทบเรื่องการขยายถนน การตัดถนนใหม่ 148 เส้นและผังแสดงผังน้ำ ที่มีการขยายคลองระบายน้ำ การขุดคลองระบายน้ำ จำนวน 200 คลองรวมไปถึงการวางแนวอุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลถึงเรื่องการเวนคืนที่ดินจากประชาชน
3. การชี้แจงเนื้อหาการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ยังไม่มีการสะท้อนถึง “ผลกระทบ” ที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนในทุกมิติ กล่าวถึงเพียงการพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น การพัฒนาการคมนาคม การพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดิน แต่มุ่งให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ การลงทุนของกลุ่มคนบางกลุ่ม มากกว่าการคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของชุมชน
4. มาตรา 72 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่า รัฐต้องจัดให้มีการวางผังเมืองทุกระดับและบังคับการให้เป็นไปตามผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพรวมตลอดทั้งพัฒนาเมืองให้มีความเจริญโดยสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ แต่หน่วยงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ มิได้มีการลงพื้นที่เพื่อสำรวจปัญหา สอบถามความคิดเห็นของประชาชน ก่อนที่จะมีการจัดทำร่างผังเมืองรวมฯ ทำให้ประชาชนไม่สามารถรับรู้และเข้าใจถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้างระบบคมนาคม หรือระบบระบายน้ำ การเปลี่ยนสีของผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน
5. การดำเนินการวางเส้นการตัดถนน เพื่อการคมนาคมหรือขนส่ง อาจขัดต่อ มาตรา 37 วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่บัญญัติว่า กฎหมายเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ต้องระบุวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนและกำหนดระยะเวลาการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ให้ชัดแจ้ง แต่การทำผังเมืองรวมที่ระบุแนวการขยายถนน หรือการตัดถนนใหม่ กว่า 148 สาย ระยะทางรวมกว่า 600 กิโลเมตร ,แผนผังแสดงผังน้ำ ที่มีการวางแนวการขยายคลอง ตัดคลอง หรือทำอุโมงค์ระบายน้ำใหม่ กว่า 200 สาย ที่ส่งผลไปถึงเรื่องการเวนคืนที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่มีการระบุระยะเวลา และงบประมาณที่ชัดแจ้ง
6. ขัดต่อ มาตรา 41 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่บัญญัติว่า บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐตามที่ แต่พบว่ามีประชาชนเพียง 21,776 คน เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น จากประชากรในกรุงเทพมหานครทั้งหมด 5,471,588 คน หรือคิดเป็นเพียง ร้อยละ 0.4 ของประชากรในกรุงเทพมหานครทั้งหมด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) จาก22 ขั้นตอน แต่มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชนเหลือ 18 ขั้นตอนโดยประชาชนไม่ทราบมาก่อน