การออกเสียงลงคะแนนแบบ Block Vote กับอิสระในการทำประชามติ

การออกเสียงลงคะแนนแบบ Block Vote กับอิสระในการทำประชามติ

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” นี่คือคำถามที่จะถูกนำมาใช้ในการทำประชามติเพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชนว่า ต้องการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาบังคับใช้แทนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หรือไม่

คำถามดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ทำประชามติครั้งแรก จากทั้งหมดจำนวนสามครั้งบนเส้นทางของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามที่คณะรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน มีมติเรื่องนี้เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567

หนึ่งในอุปสรรคของเรื่องนี้อยู่ที่คำถามในการทำประชามติที่มีลักษณะเป็นการกำหนดประเด็นมากกว่าหนึ่งเรื่องให้รวมอยู่ในคำถามเดียวกันและให้ลงคะแนนเห็นชอบประเด็นเหล่านั้นแบบยกชุดไปในครั้งเดียว 

ภายหลังที่ Hugo Chávez เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเวเนซุเอลาโดยสมบูรณ์เมื่อต้นปี ค.ศ. 1999 Chávez ได้อาศัยมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1961 ที่กำหนดว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวเวเนซุเอลา”

เป็นฐานในการออกคำสั่งให้ประชาชนออกเสียงประชามติว่าจะเห็นชอบกับการจัดให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ตามที่ Chávez ได้หาเสียงไว้กับประชาชน

โดยคำถามที่ใช้ทำประชามตินั้นแม้จะประกอบด้วยสองคำถามรวมอยู่ในบัตรใบเดียวกัน แต่ก็ได้มีการกำหนดแยกออกเป็นสองคำถามย่อยออกจากกัน ได้แก่

“ข้อ 1. ควรจัดให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และข้อ 2. ควรให้ประธานาธิบดีมีอำนาจในการตัดสินใจที่จะกำหนดวิธีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่” 

คำสั่งให้ทำประชามติดังกล่าว ถูกยื่นต่อศาลให้พิจารณาถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งคดีนี้ศาลได้พิพากษาสรุปได้ว่า

คำถามข้อ 1. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว ส่วนคำถามข้อ 2. นั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เนื่องจากควรให้ประชาชนมีสิทธิที่จะตัดสินใจเห็นชอบกับกฎเกณฑ์ในการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย

จึงมีผลทำให้เพียงเฉพาะคำถามข้อ 2. เท่านั้นที่ตกเป็นโมฆะ ท้ายที่สุดเวเนซุเอลาได้จัดทำรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1999 ประกาศใช้แทนรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1961 ได้สำเร็จ 

สำหรับโคลัมเบียนั้น รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1991 มาตรา 378 ได้ประกันความเป็นอิสระของผู้มีสิทธิในการออกเสียงประชามติ ด้วยการกำหนดให้ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติต้องมีอิสระในการพิจารณาประเด็นอันเป็นคำถามในการทำประชามติและสามารถตัดสินใจได้อย่างเต็มที่ ว่าจะเลือกสนับสนุนหรือปฏิเสธไม่เห็นด้วยกับประเด็นนั้นหรือไม่

ในปี ค.ศ. 2002 ประธานาธิบดี Uribe ได้ยื่นข้อเสนอปฏิรูปรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาโดยเสนอให้ทำประชามติในประเด็นต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญหลายเรื่อง ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวประกอบด้วยคำถามในเรื่องต่าง ๆ รวม 18 เรื่อง 

ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในกรณีนี้สรุปได้ว่า ในการทำประชามติที่ยอมให้ประชาชนสามารถจะให้ความเห็นชอบในทุกประเด็นคำถามทั้งหมดไปพร้อมกันในคราวเดียว หรือที่เรียกว่าการออกเสียงเห็นชอบแบบยกชุด (Block Vote) นั้น สะท้อนถึงปัญหาเรื่องความสอดคล้องกันระหว่างเนื้อหาในการทำประชามติกับความเป็นอิสระของผู้มีสิทธิออกเสียง

ปัญหาเรื่องของการออกเสียงประชามติแบบ Block Vote นั้นคือ จะทำอย่างไรเพื่อจะปกป้องความเป็นอิสระของผู้มีสิทธิออกเสียง และป้องกันไม่ให้การทำประชามติต้องถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบิดเบือนในหลักการสำคัญ และถูกแปรเปลี่ยนเป็นการอาศัยเสียงประชามติ เพื่อสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนรัฐบาล

ขณะที่การออกเสียงประชามติต่อประเด็นคำถามเพียงเรื่องเดียวนั้น ย่อมเป็นการปกป้องความเป็นอิสระของผู้มีสิทธิออกเสียง

เนื่องจากหากประเด็นคำถามหลายข้อเกี่ยวข้องกับประเด็นที่เป็นสาระสำคัญเดียวกัน ก็มีเหตุผลให้สมมติฐานได้ว่าคำถามทั้งหลายนั้นอยู่ในประเด็นเดียวกันและมุ่งหมายไปที่จุดประสงค์เดียวกัน

ในทางตรงข้าม หากเป็นการทำประชามติที่มีหลายประเด็นคำถามให้ออกเสียงลงคะแนนและมีความแตกต่างกันมากในแต่ละคำถาม เห็นได้ชัดเจนว่าแต่ละคำถามนั้นมิได้มีจุดประสงค์ในเรื่องเดียวกันเนื่องจากเป็นเรื่องไม่เกี่ยวข้องกัน

แล้วทำไมจะต้องให้ประชาชนออกเสียงสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนไปในคราวเดียวกันทั้งหมดในประเด็นคำถามที่แตกต่างกัน ดังนั้น ศาลจึงเพิกถอนคำถามในส่วนให้ออกเสียงแบบยกชุด เนื่องจากไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 

ย้อนกลับมาพิจารณากรณีของไทยจึงเป็นที่น่าคิดว่า การกำหนดคำถามที่จะใช้ทำประชามติที่มีลักษณะเป็นการออกเสียงลงคะแนนแบบ Block Vote นั้น จะสะท้อนถึงเจตจำนงของประชาชนต่อความต้องการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้จริงหรือไม่

เพราะประชาชนผู้ออกเสียงไม่มีความเป็นอิสระในการออกเสียงลงคะแนนได้อย่างแท้จริง เนื่องจากประชาชนที่ลงคะแนนต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะต้องถูกผูกมัดให้ยอมรับเงื่อนไขที่ต้องไม่แก้ไขทั้งสองหมวดดังกล่าวด้วยโดยปริยาย

แต่กลับไม่มีช่องทางให้ประชาชนฝ่ายที่ต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และต้องการแก้ไขในสองหมวด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ต้องการแก้ไขเพื่อให้บทบัญญัติในสองหมวดนั้นเข้มงวดขึ้นหรือผ่อนคลายลงสามารถที่จะออกเสียงลงคะแนนอย่างอิสระได้เลย 

นอกจากนี้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าคำถามที่ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” และที่ว่า “โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” นั้น

ทั้งสองคำถามดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันแต่กลับถูกนำเอามารวมไว้ด้วยกัน กล่าวคือ

คำถามแรกมีจุดประสงค์ที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 หรือไม่ ส่วนคำถามที่ 2 มีจุดประสงค์ที่จะปกป้องทั้งสองหมวดของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ให้ยังมีผลบังคับใช้อยู่ต่อไป แล้วทำไมต้องบังคับประชาชนให้ต้องเห็นชอบทั้งสองเรื่องซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่ตรงข้ามกันด้วยการลงคะแนนแบบยกชุดเช่นนี้  

ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนในฐานะผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดและไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดใด ๆ มีอิสระที่จะใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนตรงกับเจตจำนงที่แท้จริงของตนได้

จึงไม่ควรใช้คำถามที่นำไปสู่การออกเสียงลงคะแนนแบบ Block Vote แต่ควรกำหนดคำถามสองข้อแยกออกจากกันเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิที่จะออกเสียงลงคะแนนเห็นชอบแต่ละข้อเป็นอิสระจากกัน.