ฉันทามติรัฐสวัสดิการ | มุมมองบ้านสามย่าน

ฉันทามติรัฐสวัสดิการ | มุมมองบ้านสามย่าน

“ผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดี และรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันโรคแก่ผมฟรี กับบริการการแพทย์ รักษาพยาบาลอย่างถูกอย่างดี เจ็บปวดเมื่อใดหาหมอหาพยาบาลได้สะดวก” ป๋วย อึ้งภากรณ์

สวัสดิการเป็นคุณค่าสากล

มนุษย์ไม่สามารถอยู่ตัวคนเดียวได้ และไม่สามารถสังเคราะห์แสงผลิตอาหารเองได้ ดังนั้น มนุษย์จึงต้องการวัตถุภายนอกเพื่อตอบสนองความต้องการหลากหลายต่างๆ เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่มรวมถึงสวัสดิการ

ได้แก่ สิ่งของที่จับต้องได้ เช่น น้ำ อากาศ บริสุทธิ์ และสิ่งของที่จับต้องไม่ได้ เช่น สุขภาพ ความรัก เสรีภาพ ที่ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้นทั้งทางร่างกาย จิตใจและสังคม

ดังนั้น สวัสดิการจึงเป็นค่านิยมสากลที่มนุษย์ไม่ว่าเชื้อชาติ ความเชื่อศาสนา ต่างวัฒนธรรม ต่างภาษา ล้วนต้องการเพื่อมนุษย์สามารถมีชีวิตดำรงอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรี

การที่แต่ละคนได้สวัสดิการมาก็มีทั้งหมด 4 ช่องทาง ได้แก่ ความพยายามจากปัจเจกบุคคลและครอบครัว ความช่วยเหลือเกื้อกูลในชุมชนและสังคม การแลกเปลี่ยนตามกลไกตลาด และรัฐจัดหามาให้

แต่รัฐสวัสดิการมิใช่คุณค่าสากล 

รัฐ คือ สถาบันที่สมาชิกเพื่อนร่วมชาติทุกคนอาศัยอยู่ด้วยกัน รัฐมีหน้าที่พื้นฐานในการรักษากรรมสิทธิ์ ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตของพลเมือง และรักษาระเบียบสังคม

ส่วนรัฐสวัสดิการจะมีหน้าที่เพิ่มเติมคือ แทรกแซงสังคมและกลไกตลาด จัดหาสวัสดิการสังคมให้แก่ประชาชน เพื่อความยุติธรรมสังคม ความสมานฉันท์และจุดประสงค์อื่นๆ

รัฐสวัสดิการจึงเปรียบเสมือนบ้านที่ภายในมีผู้อาศัยจำนวนมาก อยู่ในชุมชนจินตกรรมที่หล่อหลอมให้คนรู้สึกว่าเป็นเพื่อนร่วมชาติ อย่างไรก็ตาม การอยู่รวมกันไม่ได้

หมายความว่า ทุกคนต้องมีความเห็นเหมือนกัน เมื่อมีคนจำนวนมากหลากหลายความคิดและผลประโยชน์ย่อมเกิดปัญหาความขัดแย้งตามมา ซึ่งรวมถึงความคิดเรื่องจะสร้างบ้าน (รัฐสวัสดิการ) ก็ย่อมมีความคิดแตกต่างกันไป

รัฐสวัสดิการจึงมิใช่คุณค่าสากล ทุกคนสามารถมีความเห็นแตกต่างกันได้ว่า อยากให้รัฐทำหน้าที่อะไรบ้าง ขอบเขตของรัฐควรอยู่ที่ไหน ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน หรือความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนด้วยกันควรเป็นหน้าตาอย่างไร รัฐควรจัดสวัสดิการสังคมอย่างไร

อะไรคือฉันทามติรัฐสวัสดิการ

สวัสดิการเป็นค่านิยมสากล แต่ทว่าเมื่อลงรายละเอียดแล้วก็เกิดคำถามตามมามากมาย เช่น น้ำดื่มเป็นสิ่งจำเป็นของมนุษย์ แล้วถ้ามีคนอยากได้น้ำดื่มจากเทือกเขาแอลป์แล้วรัฐจำเป็นต้องหาให้เขาหรือไม่

แล้วใครจะเป็นคนรับภาระในการจัดหา การที่เขาได้รับน้ำดื่มจากเทือกเขาแอลป์แต่คนอื่นไม่อยากได้เป็นเรื่องยุติธรรมหรือไม่? คำถามดังกล่าวยิ่งยากมากขึ้น ถ้าทรัพยากรของเรามีจำกัดและต้องลำดับการจัดหาสวัสดิการก่อนหลัง

จึงเป็นเรื่องปกติที่เมื่อพูดถึงรัฐสวัสดิการแล้ว ย่อมเกิดคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยทักท้วงตามกันมา “การอภิปรายสาธารณะ” จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวดเพื่อเป็นกระบวนการหาทางออกฉันทามติรัฐสวัสดิการของคนทั้งชาติร่วมกัน

การที่ให้รัฐเข้ามาแทรกแซงเศรษฐกิจและสังคมนั้นไม่ใช่ฉันทามติรัฐสวัสดิการ เพราะในปัจจุบันไม่ว่าเป็นแนวความคิดเสรีนิยมหรือสังคมนิยมก็ล้วนให้เหตุผลความจำเป็นของรัฐ เพียงแต่ว่าทั้งสองแนวคิดมีรูปแบบในใจของรัฐสวัสดิการที่แตกต่างกัน

กระบวนการหาฉันทามติจึงต้องดึงคนมาเข้าร่วมอภิปรายให้ได้มากที่สุด มิใช่เป็นการรวมตัวกันเฉพาะคนที่มีความเห็นเหมือนกันแล้วได้ข้อสรุปที่พอใจแค่กลุ่มตนเอง

ตรงกันข้ามเราต้องการคนเห็นต่างไม่ว่าจะเป็นซ้ายหรือขวา คนจนคนรวยคนชั้นกลาง ทุกความคิดที่หลากหลาย เพื่อมาถกเถียงหาทางออกอย่างสันติในประเด็นเรื่อง 

1.จะจัดการหาข้อสรุปของความขัดแย้งเรื่องการแบ่งสวัสดิการให้แต่ละกลุ่ม

2.ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกที่เป็นอยู่ปัจจุบันควรจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

3.กำหนดขอบเขตหน้าที่รับผิดชอบของรัฐ สังคม ครอบครัว กลไกตลาด ในเรื่องสวัสดิการ

กระบวนการควรจะเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มเสนอความคิดตนเอง คนรวยหรือคนชั้นกลางไม่ควรคิดแทนคนจนว่า เขาต้องการได้อะไร ในขณะเดียวกันรัฐสวัสดิการเองก็มิใช่รัฐให้สวัสดิการคนจนเท่านั้น แต่อย่าลืมเรื่องการกระจายสิทธิประโยชน์และภาระรับผิดชอบอย่างเป็นธรรมให้กับทุกกลุ่ม ทำอย่างไรให้ทุกคนร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน

กระบวนการหาฉันทามติเป็นโอกาสที่แต่ละคนได้ทบทวนข้อเสนอของตนเองอีกครั้ง และเรียนรู้ข้อเสนอและข้อจำกัดของกลุ่มคนอื่นที่ไม่เห็นด้วย เพื่อให้ทุกคนเรียนรู้ร่วมกัน ต่อรองกันจนหาทางออกที่เป็นไปได้มากที่สุด เพื่อสร้างสังคมที่เราทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้

อีกทั้งต้องคิดเผื่อถึงสังคมในอนาคตหลังจากที่เราไม่อยู่แล้วว่าอยากส่งต่อสังคมดีๆ ให้กับลูกหลานรุ่นต่อไปอย่างไร

สังคมแตกแยกและรัฐอำนาจนิยม

สังคมที่แตกแยกความเชื่อใจในสังคมน้อย ความเชื่อใจของประชาชนต่อรัฐบาลน้อย ประกอบกับ “รัฐบาลอำนาจนิยม” ยิ่งทำให้กระบวนการหาฉันทามติรัฐสวัสดิการเป็นเรื่องยากลำบากยิ่งขึ้น

รัฐอำนาจนิยมก็เป็นรัฐที่จัดสวัสดิการให้ประชาชนเช่นกัน แต่จุดประสงค์หลักมิใช่สร้างให้ประชาชนสมานฉันท์อยู่ร่วมกัน เพราะมันต้องการสังคมที่แตกแยกเพื่อปกครองได้ง่ายดายมากขึ้น

“นโยบายสวัสดิการสังคม” เป็นอีกเครื่องมือที่รัฐอำนาจนิยมชอบใช้ ไม่ว่าจะเป็น การเลือกให้ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มที่เป็นฐานสนับสนุน เลือกกลวิธีใช้คำรุนแรงไฮปาร์กเพื่อกระตุ้นความรู้สึกมวลชนให้เกลียดชังกัน ให้สวัสดิการเพื่อสร้างภาวะให้ประชาชนต้องพึ่งพิงรัฐอำนาจนิยมตลอดเวลา แต่ไม่เปิดเสรีภาพให้ถกเถียงกันอย่างสันติ

รวมถึงไม่มีเป้าหมายระยะยาวส่งต่อสังคมดีๆ ให้คนรุ่นหลัง มีแต่เป้าหมายระยะสั้นในการรักษาฐานอำนาจของตนเอง.