'นิกร' แนะ เดินร่างกม.ประชามติ ตามเส้นทาง ห่วงมีปัญหา ส่อขยายแก้รธน.อีก1ปี

'นิกร' แนะ เดินร่างกม.ประชามติ ตามเส้นทาง ห่วงมีปัญหา ส่อขยายแก้รธน.อีก1ปี

"นิกร" ชี้ ร่างกม.ประชามติ ไม่ใช่กม.เกี่ยวกับการเงินแนะให้เดินหน้าตามเส้นทาง ห่วงมีปัญหา ส่อยืดเวลาแก้รธน. อีก1 ปี

ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง ฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) ให้สัมภาษณ์ย้ำถึงการตีความร่างพ.ร.บ.ประชามติ ว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินหรือไม่ว่า ตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาในประเด็นตีความก่อนการเสนอต่อสภาฯ ซึ่งขณะนี้เลยกระบวนการดังกล่าวแล้ว ดังนั้นในระหว่างที่พิจารณาเนื้อหาอาจปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แต่ไม่สามารถทำให้ร่างกฎหมายกลายเป็น พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงินได้ 

“ไม่เป็นพ.ร.บ.การเงิน และตอนที่เราทำกฎหมายนี้ รู้อยู่แล้วว่ามันต้องใช้เงิน จำนวน 3 พันกว่าล้านบาท ถือว่ารู้อยู่ก่อนแล้ว แล้วมาแก้ว่าจะเอาสัดส่วนเกณฑ์ออกเสียงประชามติ 2 ชั้นหรือ 1 ชั้น เท่านั้นเอง และถ้าเป็นพ.ร.บ.การเงิน ก็เป็นตั้งแต่ปี 64 แล้ว ไม่ใช่มาเป็นพ.ร.บ.การเงินตอนนี้ เพราะเราแก้เพียงบางมาตรา และเมื่อเสร็จสิ้นชั้นสภาฯไปแล้ว”นายนิกร กล่าว 

นายนิกร กล่าวด้วยว่า ตนต้องการให้ ร่าง พ.ร.บ.ประชามติผ่านโดยเร็ว แต่ครพิจารณาตามเส้นทาง เพราะกังวลว่าหากปัญหา สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายจะไม่ใช่บวกเวลาเพิ่มแค่ 180 วันเท่านั้น โดยตามขั้นตอนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องใช้เวลาประมาณ​ 100 วันเพื่อทำกฎหมายลูก ในการทำประชามติครั้งแรก ตนจึงประเมินว่าน่าจะทำประชามติต้นเดือนม.ค. ปี 69 เท่ากับหายไป 1 ปี 

"ผมเชื่อว่าการทำประชามติครั้งแรกอย่างไรก็ผ่านเพราะใช้รูปแบบอย่างง่ายของสส. จะไปลงประชามติต้นปี 69 มากกว่า ไม่มีทางหลีกเลี่ยง เพราะเมื่อพักร่างไว้ 180 วัน บวกกับทำประชามติอีก 3 เดือน รวมเป็น 9 เดือน ฉะนั้น รวมช่วงรอยต่อและการเสนอทูลเกล้าฯก็ใช้เวลาพอสมควร ก็เชื่อว่าใช้เวลา 1 ปี พอดี" นายนิกร กล่าว